เวลาของซินเดอเรลา
.....นิทานเรื่องที่ผมจำได้มาก และถือว่าเป็นนิทานยอดฮิตของผมก็คือ ซินเดอเรลา ไม่ใช่เพราะว่าผมหลงความงามของเธอจนต้องเก็บเอามาฝัน แต่เป็นนิทานที่ผมได้ฟังมามากถ้านับตั้งแต่เด็กจนโต ก็ราวๆ ร้อยรอบเห็นจะได้ และผมยังเชื่อว่าถ้าผมยังมีแรงและยังไม่มีเรื่องใหม่มาทดแทนผมคงจะได้ยินเรื่องนี้ไปจนครบพัน
.....ความจริงผมไม่ได้ติดใจนิทานเรื่องนี้สักเท่าไร แต่บังเอิญวันหนึ่งผมเชิญคุณช่อผกา วิริยานนท์ในฐานะคนดังและเป็นเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน ให้มาบรรยายเรื่องเทคนิคการเป็นพิธีกร ตอนนั้นเธอเพิ่งได้รับรางวัลผู้ประกาศข่าวยอดเยี่ยมจากค่ายโทรทัศน์ทองคำมาหมาดๆ เธอทิ้งวิธีการฝึกผู้ที่จะทำหน้าที่พิธีกรอย่างมีประสิทธิภาพไว้อย่างหนึ่งนั่นคือการรู้จักย่อความ เธอบอกปกติคนเราพูดได้แต่ถ้าจะพูดให้น้อยและได้ใจความนั้น พูดกันไม่เป็น มีแต่พูดแบบน้ำท่วมทุ่งหรือไม่ก็พูดจนหาลานบินไม่พบ นั่นเป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักฝึกการย่อความและคัดเลือกรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไป
.....แม้เค้าโครงเรื่องที่แสนจะธรรมดายังกับนิยายน้ำเน่าบ้านเรา แต่เสน่ห์ของนิทานเรื่องนี้มันมีข้อจำกัดเรื่องของเวลามาเกี่ยวข้องก็เลยสนุกกันละซิคราวนี้ ซินเดอเรลาอยู่ในสภาพเจ้าหญิงแสนสวยได้ถึงแค่เที่ยงคืน เพราะหลังจากนั้นเธอจะต้องกลับสภาพไปเหมือนเดิม วิธีการฝึกย่อความจากนิทานเรื่องนี้เริ่มขึ้นโดยให้อาสาสมัครสามคนเป็นตัวแทนการฝึก คนที่หนึ่งเล่านิทานเรื่องซินเดอเรลาให้จบภายในหนึ่งนาที คนที่สองครึ่งนาที และคนที่สามสิบห้าวินาที เหตุการณ์ของซินเดอเรลาในเมืองไทยนอกจากต้องลุ้นว่า จะหมดเวลาในเที่ยงคืนสำหรับเธอแล้ว ยังต้องลุ้นเวลาของผู้เล่าให้ได้เวลาตามที่เรากำหนดด้วย
.....ผมใช้นิทานเรื่องนี้ฝึกบุคลากรเรื่องการสื่อสาร มาหลายกลุ่มหลายพวกแล้ว และก็ได้ผลครับ โดยเฉพาะนำมาฝึกกลุ่มที่มีเรื่องราวของตัวเองมากๆ โดยที่เรื่องเหล่านั้นก็สำคัญเสียทุกเรื่อง แต่พอให้ฝึกย่อความและลองเอาเรื่องของตัวเองไปแทนเรื่องซินเดอเรลาบ้าง ทุกคนก็ทำได้และทำได้ดีเสียด้วยสิครับ
การที่เรารู้จักจัดระบบความคิด จัดระบบคำพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกๆ คนนั้น ก็จะทำให้เราสื่อสารกันเข้าใจมากขึ้น เวลาที่สูญเสียไปกับคำพูดและเรื่องราวที่ไม่สำคัญจะได้ลดน้อยลง เราสงวนเวลาที่มีค่าไปทำอย่างอื่นที่สำคัญๆ กว่า ดีไหมครับ!!
นายตั้ม