พระธรรมเทศนา "ธัมมัสสวนกถา" ตอนจบ

วันที่ 08 มีค. พ.ศ.2546

 

 

.....พระธรรมเทศนาแสดงโดย พระธรรมราชานุวัตร สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระรัตนเวที วัดพระเชตุพน แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๑ เวลา ๑๘.๐๐ น.

 

.....ธรรมสวนะเป็นหน้าที่ของมนุษย์อันแท้จริง ตั้งแต่แรกประถมวัยถือได้คำสอนจากบุพการี ที่สุดถึงปัจฉิมวัยก็ยังต้องอาศัยการสดับธรรมอยู่ทุกเมื่อ เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกนั้นยิ่งพยายาม ค้นหาด้วยหมั่นสดับก็ย่อมเพิ่มความรู้ความฉลาดยิ่งขึ้น การสดับจากสำนักผู้อื่นชื่อว่าถ่ายความรู้จากผู้นั้นมาจดจำเข้าไว้ เก็บมารวมไว้ได้มากเท่าใด ชื่อว่าเป็นมูลแห่งสัมมาปฏิบัติเท่านั้น เหตุนี้จึงแสดงอานิสังสคุณธรรมสวนะไว้ในพระบาลีว่า

 

....."ปัญจิเม ภิกขเว อานิสังสา ธัมมัสสวเน" เป็นอาทิ ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสังสคุณในการสดับธรรมเหล่านี้มี ๕ ประการคือ ผู้ฟังได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ชำระสิ่งที่ฟังแล้วอันคลาดเคลื่อนให้ถูกต้อง ๑ กำจัดความสงสัยเสียได้ ๑ ทำความเห็นที่คดให้ตรง ๑ ผู้ฟังนั้นมีจิตเลื่อมใส ๑ ห้าประการเหล่านี้แหละภิกษุทั้งหลาย เป็นอานิสงส์ในการฟังธรรม ดังนี้ฯ

 

.....ธรรมสวนะมีคุณานุภาพให้เกิดวิจารณปัญญาโดยปริยายแลนิปปริยายฉะนี้ ย่อมเป็นบุญกิริยาวัตถุที่สาธุชนควรประพฤติเป็นอาจิณวัตรเพราะ เป็นเครื่องประหารอันธการความมืดให้สิ้นไป ทั้งให้เกิดอาโลกแสงสว่างในธรรม ให้เกิดเวสารัชชความกล้า ประหารเสียได้ซึ่งนิวรณธรรมคืออุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านแลบรรเทาวิตก เป็นต้น มีจิตมั่นคงในพระธรรมชื่อว่าสุตบุคคล เป็นเหตุให้ละความชั่วประพฤติความดี สมด้วยพระบาลีใน นคโรปมสูตร ซึ่งได้ยกเป็นนิกเขปบท


.....ว่า " สุตวา จ โข ภิกขเว อริยสาวโก" เป็นอาทิ ความว่า ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้สดับ แลละอกุศล อบรมกุศล ละกรรมมีโทษ อบรมกรรมอันหาโทษมิได้ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ฉะนี้ฯ

 

.....อกุศลเป็นบาปธรรมมีวิบากอันเผ็ดร้อน ไม่ทำให้เกิดอัสสาทะในเวลากระทำแล้ว ผู้ดับรู้สึกกลัวโทษเช่นนั้นแล มาอบรมกุศล ชำระส่วนมีโทษประกอบสิ่งปราศจากโทษ บริหารตนให้ห่างไกลจากอกุศลแลสาวัชชกรรม เป็นผู้มีไตรทวารอันบริสุทธิ์โดยปริยายแลนิปปริยาย ทั้งนี้ก็ด้วยอำนาจสุตะการสดับ เมื่อตั้งใจสดับ ปัญญาย่อมเจริญในลำดับ ปัญญานั้นแลประหารกรรมฝ่ายกาฬปักษ์ให้ถึงความบริสุทธิ์ สมด้วยพุทธภาษิตว่า "ปัญญาย ปริสุชัฌติ" บุคคลย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา นี้ใช่แต่เท่านั้น ธรรมสวนะยังนับว่าเป็นอนุตตริยะ ชื่อว่าสวนานุตตริย การสดับอย่างสูง เป็นปทัฏฐานแห่งคุณประการอื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วใน อนุตตริยสูตรว่า

 

....."โย จ โข ภิกขเว ตถาคตัสส วา ฯลฯ อิทัง วุจจติ ภิกขเว สวนานุตริยัง" ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลใดแลมีความเชื่อมั่นแล้ว มีความรักตั้งมั่นแล้ว ดำเนินไปส่วนเดียว เป็นผู้เลื่อมใสยิ่งแล้ว ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ของสาวกของพระพุทธเจ้า บรรดาการฟัง การฟังนี้เป็นการฟังเยี่ยมยอด ภิกษุทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศก แลความร่ำไร เพื่อดับความทุกข์ แลความโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ฯลฯ นี้เราเรียกว่าสวนานุตตริยะ ดังนี้

 

.....ธรรมสวนะเป็นอนุตตริยะ ในพระสูตรนี้ ก็โดยเป็นมรรคาให้ถึงความบริสุทธิ์แลเกิดความปีติไม่เป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน แลวิตกในกามในการเบียดเบียน เป็นต้น ดีกว่าการฟังสัททารมณ์อย่างอื่น ซึ่งให้เกิดอุทธัจจะแลวิตกในอารมณ์นั้น ๆ มีแต่จะให้เกิดความรื่นเริงอาจหาญในธรรมขึ้นทุกเมื่อ สัปปุริสชน ย่อมสรรเสริญว่าเป็นพหุสูต ผู้ทรงธรรมมีปัญญามาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วใน อัปปสุตสูตรว่า

 

....."พหุสสุต ธัมมธรัง สัปปัญญัง พุทธสาวกัง ฯลฯ พรหมุนาปิ ปสังสิโต"

 

....."ท่านผู้พหุสุตทรงธรรม มีปัญญาเป็นพุทธสาวก ใครเล่าจะควรนินทา เหมือนทองชมพูชุบทั้งแท่ง แม้เทพเจ้าย่อมสรรเสริญท่าน แม้ท่านนอนพรหมก็สรรเสริญแล้ว ดังนี้ ฯ

 

.....ในมงคลสูตรยกย่องการสดับธรรมว่าเป็นมงคลอันอุดม แก่ผู้สดับในกาลที่ฟังแล้วว่า "กาเลน ธัมมัสสวนัง เอตัมมังคลมุตตมัง"

 

.....การฟังธรรมโดยการนั้นเป็นมงคลอันสูงสุด แลเป็นธรรมรสของผู้สดับดีกว่ารสทั้งหลายบรรดามีในโลก เพราะให้เกิดความชุ่มชื่นในภายในทุกกาลทุกสมัย รสสามัญว่าให้ซาบซ่าเลี้ยงอวัยวะ แลรู้ได้ด้วยชิวหาประสาท ส่วนธรรมรสนั้นเป็นปัจจัยให้มีสติปัญญาแลอัตตสัมมาปณิธิ มีพุทธภาษิตยกย่องว่า "สัพพระสัง ธัมมรโส ชินาติ" ธรรมรสทั้งปวงฉะนี้ฯ

 

.....เพราะฉะนั้น การสดับธรรมอันเป็นที่ตั้งของการบำเพ็ญบุญชนิด ๑ นี้ เป็นบุญกิริยาวัตถุอันควรแก่สาธุชนทั้งหลาย เพราะให้เกิดอานิสังสคุณเป็นอเนกประการเป็นมรรคา ให้บรรลุอิฏฐวิบากมนุผล ทุกสมัย ฉะนี้ฯ
จบ.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020713098843892 Mins