ธุรกิจกับธุรจิต

วันที่ 02 พค. พ.ศ.2546

ธุรกิจกับธุรจิต

.....หลายครั้งหลายหนที่มีใครเอ่ยปากทักทายสอบถามขณะที่เราจะไปไหนหรือไปทำอะไรสักอย่าง แล้วเราก็ไม่อยากอธิบายให้มันยืดยาว หรือไม่อยากให้ใครรู้เกี่ยวกับงานที่เราทำนั้นด้วย เรามักจะตอบแบบเลี่ยงๆ ไปว่าไปธุระเพื่อตัดบทไม่ให้คู่สนทนาถามต่อ ตามความหมายเชิงลึกแล้วคำว่าไปธุระสั้นๆไม่บอกสถานที่และไม่บอกที่มาที่ไป คงไม่มีใครถามต่อหรอกครับว่า ธุระที่ว่านั่นไปทำอะไร ที่ไหนกับใคร นอกเสียจากบุคคลที่ถามนั้นจะเป็นบุคคลพิเศษ เช่น พ่อแม่ สามีภรรยา

 

.....เพราะบุคคลที่จะซักไซ้ไล่เรียงอย่างละเอียดละออได้ต้องเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อจิตใจเราพอสมควรแต่สำหรับบุคคลที่รู้จักทั่วๆไป จะเข้าข่ายบุคคลพิเศษทำนองนี้ได้ก็ต่อเมื่อเขาคนนั้นเป็นคนที่ชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องของชาวบ้านเท่านั้น
ธุระถ้าตามความหมายของศัพท์แล้ว แปลว่า หน้าที่การงานที่พึงกระทำ อย่างเช่น กิจในพระพุทธศาสนาของเรา เรารู้กันดีว่ามีสองอย่างคือ คันถธุระ หรือการเล่าเรียน และวิปัสนาธุระ ที่แปลว่าการปฏิบัติทางใจนั่นแหละครับชาวพุทธที่ดีก็จะมีกจที่พึงกระทำสองอย่างคือศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอน รวมทั้งต้องปฏิบัติธรรมภาวนาเพื่อแสวงหาความรู้ที่บริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไป

 

.....ส่วนธุรกิจที่เราทำกันอญยู่ทุกวันนั้นเป็นงานประจำที่เนื่องด้วยอาชีพครับ เรียกง่ายๆ ว่า เป็นอาชีพการงานที่ทำเพื่อหาทรัพย์มาใช้จ่ายเลี้ยงสังขารร่างกาย สำหรับธุรจิตนั้นก็คือการงานที่เกี่ยวเนื่องด้วยจิต เป็นการงานที่จะส่งเสริมให้จิตใจสงบ สบาย และมีความสุข

 

.....ธุรกิจการงานจะไปได้ราบรื่นนั้นเราต้องขยันหมั่นเพียรครับ และทำให้สม่ำเสมอต่อเนื่อง กิจการที่ปล่อยไว้โดยไม่ต้องบริหารและไม่ทำอย่างต่อเนื่องอย่างขันแข็งนั้นจะรุ่งเรืองเป็นไปได้ยากครับ ยิ่งเป็นธุรจิตด้วยแล้วถ้าเราไม่ขยันหมั่นเพียรบริหารจิตด้วยการทำภาวนาบ่อยๆและสม่ำเสมอ ก็นับว่าความสุขอันจะเกิดจากความสงบความสบายก็จะเป็นไปได้ยากด้วยเช่นกัน

 

....ร่างกายยังต้องการอาหารไปหล่อเลี้ยง คนทั่วไปจึงมักพูดจนติดปากว่าทำมาหากินคือทำกิจการงานทุกอย่างก็เพื่อหาทรัพย์มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพื่อให้ร่างกายได้นำสารอาหารไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สำหรับจิตใจแล้วก็ต้องการอาหารทางใจด้วยเหมือนกันเพียงแต่อาหารใจไม่ต้องเคี้ยวไม่ต้องกลืนและไม่ต้องย่อยให้เป็นสารอาหารเพียงการทำใจให้สงบ สบาย ว่างเปล่าปิติใจได้มากเท่าไร อาหารใจก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นวิธีการที่จะได้รับอาหารทางใจได้เราต้องรู้จักทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ครับเพื่อให้ใจได้รับปิติสุขจากบุญกุศลที่ได้ตั้งใจทำ บางรายอิ่มใจจนบางครั้งลืมรับประทานอาหารเพื่อร่างกายก็เคยมีมาแล้วเหมือนกันหรืออย่างที่เขาเรียกว่าอิ่มบุญนั่นแหละครับไม่ผิดหรอก!!
 

นายตั้ม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.02742033402125 Mins