วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม-ราชินีนาถ จัดให้เป็นวันแม่แห่งชาติ โดยริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2519 โดยคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน
สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย
สำหรับ Anchorความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติในประเทศไทยนั้น งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
จนกระทั่งต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และเนื่องในวันแม่แห่งชาติ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสำคัญของวันนี้ ได้แก่ พสกนิกรในหน่วยงานทุกภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ พร้อมใจกับบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ทั้งในศาสนา หรือสาธารณกุศล เป็นต้น รวมไปถึงร่วมจุดเทียนชัย ถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ การตกแต่งประดับไฟเฉลิมพระเกียรติและประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน การจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น จัดนิทรรศการ เพื่อระลึกถึงพระคุณแม่ หาโอกาสไปกราบขอพรจากคุณแม่ที่ท่านยังมีชีวิต หรือทำบุญอุทิศไปให้เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว
ในพระพุทธศาสนานั้นคุณธรรมของแม่มีหลายประการ เช่น เป็นผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาพร้อม จึงเรียกแม่ว่าเป็น ‘พรหม’ ของบุตรธิดา ชื่อว่าเป็นพรหมก็เพราะมีคุณธรรมของพรหมประจำใจ อีกประการหนึ่ง แม่คือเทวดาและร่มโพธิ์ร่มไทรของลูก เพราะให้ความคุ้มครองให้ความรักษา ท่านกล่าวว่าบ้านเรือนใดมีการเคารพมารดา บิดา บูชามารดาบิดา บ้านเรือนนั้นมีเทวดาคุ้มครองรักษา เทวดาก็คือความงามความดีนั่นเอง เทวดาก็คือคุณธรรม ความรักพ่อรักแม่นั่นแหละคือสิ่งคุ้มครองครอบครัว เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้บุตรธิดาในครอบครัวนั้นอยู่เย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นผู้เคารพมารดา บิดา จึงชื่อว่ามีโพธิ์ไทรใบดกคุ้มครองรักษา ไม่ถูกฝน ไม่ถูกแดด ไม่ถูกความทุกข์ความเดือดร้อนครอบงำจิตใจ มีความเป็นอยู่อย่างปลอดภัย น้ำใจของแม่ก็เหมือนกับแม่น้ำ เหมือนกับแผ่นดิน เหมือนกับแผ่นฟ้า เหมือนกับสิ่งที่ให้แต่ความสุขความสำเร็จในชีวิตแก่เรา
ความเคารพมารดาบิดานั้นเป็นรากฐานของชีวิต ของศีลธรรม ความก้าวหน้าความมั่นคงในครอบครัว ซึ่งก็อยู่ที่สมาชิกของครอบครัวเหล่านั้น เป็นผู้เคารพมารดาบิดา บูชามารดาบิดา พ่อ-แม่ เป็นพระในบ้าน ลูก ๆ จึงรักเคารพบูชาท่าน สำหรับบิดามารดานั้นประดุจเป็นพระอรหันต์ของลูก ที่ควรแก่การเคารพบูชา ต้องมีความรักและความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน เหล่านี้จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญในชีวิตของลูกทุก ๆ คน
อ้างอิง...วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี