.....ความปรารถนาของมวลมนุษยชาติ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ล้วนปรารถนาให้โลกมีสันติสุขอันแท้จริง แต่ไม่มีใครรู้ว่า สันติสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร และจะเข้าถึงได้อย่างไร
จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบหนทางสายกลาง และพบว่าโลกจะมีสันติสุขที่แท้จริง ก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรม จนเข้าถึงสันติสุขภายใน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขที่แท้จริง และสันติสุขภายในจะเป็น จุดเริ่มต้นของสันติสุขภายนอกนั่นเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน กัลยาณมิตตสูตร ว่า
“เอกธมฺโม ภิกฺขเว พหูปกาโร อริยสฺส อฏฺงฺคิกสฺส มคฺคสฺส อุปฺปาทาย ฯ กตโม เอกธมฺโม ฯ ยทิทํ กลฺยาณมิตฺตตา ฯ กลฺยาณมิตฺตสฺเสตํ ภิกฺขเว ภิกฺขุโน ปาฏิกงฺขํ อริยํ อฏฺงฺคิกํ มคฺคํ ภาเวสฺสติ อริยํ อฏฺงฺคิกํ มคฺคํ พหุลีกริสฺสติ
.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งที่มีอุปการะมาก เป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ธรรมอันหนึ่งเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังได้ว่าจักเจริญในอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘”
.....กัลยาณมิตร เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอริยมรรค คำว่ากัลยาณมิตร มิได้หมายถึงเพื่อนที่ดีทั่วไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ที่จะชี้แนะหนทางสว่าง ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องให้กับผู้อื่น เหมือนดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายที่ได้ทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตร เมื่อท่านได้พบหนทางอันประเสริฐ จึงได้อุทิศชีวิตทั้งหมด แนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ข้ามวัฏสงสาร ไปถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน บุคคลใดมีกัลยาณมิตร ชื่อว่าเป็นผู้ที่สั่งสมบุญไว้ดีแล้ว
.....การที่จะได้พบกับกัลยาณมิตรสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้มีความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตน ยอมที่จะให้ผู้อื่นตักเตือน ชี้แนะข้อบกพร่อง ต้องลดทิฏฐิมานะ พร้อมที่จะรับฟังความเห็นของบุคคลทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เหนือกว่าเรา เสมอกับเรา หรือต่ำกว่าเรา เพราะกัลยาณมิตรนั้นอาจเป็น คนธรรมดา เป็นนักปราชญ์ หรือเป็นบัณฑิตก็ได้ หากรู้ว่าเขาเป็นคนดีมีคุณธรรม แนะนำแต่เรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศล สามารถชี้หนทางสวรรค์ ปิดนรก และยกใจขึ้นสู่พระนิพพานได้ เราควรคบบุคคลเช่นนั้น เพราะเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก พระพุทธองค์ จึงทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
.....*สมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราสมัยที่ยังอยู่ในระหว่างการสร้างบารมี ท่านได้เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อ “โชติปาละ” ท่านมีเพื่อนเป็นช่างปั้นหม้อ ชื่อว่า “ฆฏิการะ” แม้จะเกิดมามีฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองก็เป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ฆฏิการะได้ไปฟังธรรมจากพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใส จึงได้อุทิศตนเป็นอุบาสก ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เมื่อตัวเองได้พบเส้นทางสว่าง พบบุคคลผู้ประเสริฐอย่างพระบรมศาสดา ก็คิดอยากจะชวนโชติปาละเพื่อนรัก ให้มาฟังธรรมจากพระพุทธองค์ด้วย
(*มก. ฆฏิการสูตร เล่ม ๒๑ หน้า ๑)
.....ฆฏิการะพยายามเกลี้ยกล่อม ชักชวนให้เพื่อนไปเฝ้า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อนก็ไม่ยอม ไปฆฏิการะจึงบอกกับเพื่อนว่า
“เพื่อนเอ๋ย การได้พบกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง เราไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์กันเถอะ”
.....เนื่องจากโชติปาละเกิดในตระกูลพราหมณ์ ไม่ได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงตอบว่า “การไปเฝ้าพระสมณะโล้น จะมีประโยชน์อะไร ท่านไปคนเดียวเถอะ”
.....แม้ฆฏิการะจะชวนกี่ครั้งกี่หนว่า การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งประเสริฐ การฟังธรรมจากพระพุทธองค์เป็นมงคล แต่ดูเหมือนว่าการชักชวนนั้นไม่ได้ผลเลย วันหนึ่งจึงหากุศโลบาย ชวนเพื่อนไปอาบน้ำที่แม่น้ำใกล้กับที่ประทับของพระบรมศาสดา หลังจากอาบน้ำแล้ว ฆฏิการะจึงชวนอีกครั้งว่า
“วิหารที่ประทับของพระพุทธองค์อยู่ใกล้ ๆ นี่เอง เราไปเดินเล่นในวิหารกันเถอะ” โชติปาละไม่ยอมไป จะขอกลับบ้านท่าเดียว แม้จะถูกชักชวนอย่างไรก็ไม่คล้อยตาม
.....สุดท้ายฆฏิการะเห็นว่าชวนอย่างไรก็ไม่ไป ด้วยความจริงใจต่อเพื่อน จึงฉุดมวยผมของโชติปาละ เพื่อที่จะให้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ให้ได้ โชติปาละเป็นผู้สั่งสมบุญมาดี เมื่อโดนเพื่อนดึงมวยผม จึงคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริงหนอ ฆฏิการะผู้เป็นเพียงช่างปั้นหม้อ กล้ามาดึงมวยผมเราผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพระพรหม ตามปกติเพื่อนของเราไม่เคยทำอย่างนี้ มีแต่ความปรารถนาดีต่อเรามาตลอด ไม่เคยชักชวนไปในทางที่ผิดเลย การไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คงจะเป็นการดีเป็นแน่”
.....เมื่อคิดได้เช่นนี้ แทนที่จะโกรธมีทิฏฐิมานะ กลับตกลงใจ จะไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เมื่อได้สนทนาธรรมและฟังธรรมจากพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า โชติปาละเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง จึงชวนฆฏิการะออกบวช แต่เนื่องจากฆฏิการะต้องเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด จึงไม่อาจที่จะบวชได้ โชติปาละจึงตัดสินใจออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และได้ตั้งใจประพฤติธรรมจนตลอดอายุขัย
.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “เธออย่า คิดว่าฆฏิการะช่างปั้นหม้อเป็นเราตถาคต โชติปาลพราหมณ์ ต่างหากที่เป็นเราตถาคตในชาตินั้น”
.....พระพุทธองค์ได้กัลยาณมิตร คือเพื่อนที่ประเสริฐอย่างฆฏิการะ ทำให้เปลี่ยนจากผู้มีความเห็นผิด มาเป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง ได้มีโอกาสสร้างบารมี เพื่อการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระองค์เองจะได้รับการพยากรณ์จาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้านับพระองค์ไม่ถ้วน ได้ชื่อว่าเป็นนิยตโพธิสัตว์ คือ เป็นบุคคลผู้เที่ยงแท้ต่อการบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่ก็ยังต้องอาศัยกัลยาณมิตรคอยประคับประคอง เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางอันสูงสุดของชีวิต เพราะกัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ นั่นคือ การที่คนเราจะทำความดีให้ได้ตลอด หรือดำรงตนอยู่ในเพศพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้นั้น ต้องอาศัยกัลยาณมิตรคอยชี้แนะ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
.....“เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เหมือนความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรเลย” จะเห็นได้ว่าการได้คบกับกัลยาณมิตร จะทำให้มรรคมีองค์ ๘ บริบูรณ์ มรรคมีองค์ ๘ มีดังนี้
๑.สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง คือเห็นว่าการให้ทานดีจริง บิดามารดามีพระคุณจริง การบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง นรกสวรรค์มีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง
๒.สัมมาสังกัปปะ คือความดำริชอบ คิดออกจากกาม คิดออกจากความพยาบาท คิดออกจากการเบียดเบียน
๓.สัมมาวาจา คือมีวาจาชอบ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดแต่สิ่งที่เป็นกุศล ชักชวนให้คนทำความดี
๔.สัมมากัมมันตะ คือการกระทำที่ถูกต้อง ทำแต่ในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
๕.สัมมาอาชีวะ คือประกอบอาชีพสุจริต เว้นจากอาชีพที่พระพุทธองค์ทรงห้าม คือ ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้ายาพิษ ค้ายาเสพติด ค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า เพราะอาชีพเหล่านี้เป็นทางมาแห่งบาปอกุศล
๖.สัมมาวายามะ คือมีความเพียรชอบ เพียรที่จะสั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพียรฝึกใจให้หยุดนิ่ง ไม่ประมาท
๗.สัมมาสติ คือมีสติชอบ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ใจไม่ หลุดจากศูนย์กลางกาย
๘.สัมมาสมาธิ คือมีสมาธิชอบ ใจปักดิ่งไปที่ศูนย์กลางกาย มีใจตั้งมั่น อารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์
.....เมื่อมรรคมีองค์ ๘ ครบถ้วนบริบูรณ์ ใจหยุดถูกส่วนเข้า ใจจะตกวูบลงไปที่ศูนย์กลางกาย ดวงปฐมมรรคก็จะบังเกิดขึ้น เห็นเป็นดวงกลมใสแจ่มอยู่ภายใน ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นหนทางเบื้องต้นที่จะดำเนินจิตเข้าไปในหนทางสายกลาง มุ่งตรงสู่อายตนนิพพานอันเป็นจุดหมายปลายทางของทุกชีวิต เพราะฉะนั้นปฐมมรรคจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย
.....เมื่อเอาใจหยุดต่อไปในกลางดวงปฐมมรรค เราก็จะพบดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ซ้อนกันเข้าไปเรื่อยๆ ตามลำดับจนเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด หยุดนิ่งในกลางกายมนุษย์ละเอียด ก็จะเห็นดวงธรรม ๖ ดวงซ้อนกันอยู่ สุดกลางดวงที่ ๖ จะเข้าถึงกายทิพย์ที่ละเอียดกว่า ประณีตกว่า วางใจหยุดนิ่งกลางของกลางต่อไป ก็จะเข้าถึง ดวงธรรมอีก ๖ ดวง จะเข้าไปพบกายรูปพรหม กายอรูปพรหม และกายธรรมไปตามลำดับ กายธรรมมีลักษณะที่สวยงาม เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ งามไม่มี ที่ติ งามกว่าทุกกายที่ผ่านมา
.....กายธรรมหรือธรรมกายนี่แหละ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง เมื่อเราเข้าถึงแล้ว พึ่งท่านได้ เวลามีทุกข์ก็ช่วยให้เราพ้นทุกข์ เวลามีความสุข ก็เพิ่มเติมความสุขได้ จะรู้สึกอบอุ่นใจและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยในอบายภูมิ หรือภัยในสังสารวัฏ เราจะปลอดภัยจากภัยพิบัติทั้งหมด เข้าถึงธรรมกายแล้วปิดประตูอบายภูมิได้ ก่อนหลับตาลาโลก ถ้าเห็นธรรมกายใสแจ่ม สว่างไสวอยู่ภายใน สุคติภูมิย่อมเป็นที่ไป อยากไปเกิดในภพภูมิไหน สวรรค์ชั้นไหน เลือกได้ดังใจปรารถนา
.....เพราะฉะนั้น ให้ตั้งใจฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ อย่าเอาภารกิจประจำวันมาเป็นข้ออ้าง ที่จะทำให้เราเกียจคร้าน หรือทอดธุระในการปฏิบัติธรรม เพราะชีวิตของเราที่อยู่ในโลกนี้มีเวลาอยู่จำกัด อย่ามัวประมาท สนุกสนาน เพลิดเพลินไปวันๆ ควรทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทุกๆ วัน เราก็จะสมปรารถนา