สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระประสูติกาล ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน ดำรงพระอิสริยยศเป็นหม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล พระนามพระราชทานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์ มหิดล)
สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา โดยคณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงกรมเป็น กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ทรงกรมเป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียวในรัชกาล และเป็นพระราชวงศ์ทรงกรมพระองค์เดียวในปัจจุบัน เมื่อพระชนมายุครบ 72 พรรษา เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมาย พระราชทานความช่วยเหลือให้แก่ประเทศชาติ แบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในหลายวาระ อีกทั้งมีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการแพทย์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ นอกจากนี้ยังทรงพระอัจฉริยภาพ ความสนพระหฤทัย มีมากมายหลายด้าน ทั้งด้านการอ่าน-เขียน การถ่ายภาพ โดยที่ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้ การใช้กล้องบันทึกภาพจึงมิใช่เพียงเพื่อเก็บภาพไว้ดูเล่นเท่านั้น แต่จะบันทึกภาพอย่างมีจุดหมายทั้งในแง่ศิลปะและวิชาการ ทรงพระอัจฉริยภาพด้านพระนิพนธ์ ทั้งเกี่ยวกับหนังสือ บทความต่าง ๆ และทรงขับเฮลิคอปเตอร์ได้อีกด้วย ทรงโปรดสัตว์ทุกประเภท
ความสนพระหฤทัยและพระปรีชาสามารถด้านการศึกษา มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงอุดมศึกษาเท่านั้น ทรงตระหนักดีว่าการศึกษาระดับต้นมีความสำคัญยิ่ง ต่อการพัฒนาคุณภาพของประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะในการสร้างโรงเรียนและการให้ทุนการศึกษานั้น ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนนี ในท้องถิ่นทุรกันดารและชายแดน เพื่อทรงเยี่ยมและพระราชทานสิ่งของแก่นักเรียนและราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเงินทุนสำหรับสร้างโรงเรียนหลายแห่งและทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ การสอนภาษาฝรั่งเศส การแพทย์และการสาธารณสุข ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์กองทุนหลายโครงการ การสังคมสงเคราะห์ ทั้งในเมืองและถิ่นทุรกันดาร ได้เสด็จทรงประพาสทั้งในและต่างประเทศ เพื่อบำเพ็ญพระกรณียกิจ เช่นโครงการแพทย์ พอสว. (สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
ได้เสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ตามคำกราบทูลเชิญเสด็จอย่างเป็นทางการ และเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์เมื่อทรงมีความสนพระหฤทัย นอกจากเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกับเจ้าของประเทศแล้ว ก็ยังเป็นโอกาสที่ทรงแนะนำให้ชาวไทยรู้จักประเทศในแง่มุมต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ด้วย ความสนพระหฤทัยในด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ ศิลปะ จากการเสด็จทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดี และศิลปะที่สำคัญในประเทศอยู่เป็นนิจ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระศรัทธาปสาทะ ในพระบวรพุทธศาสนา ทรงพระกรุณาเสด็จไปในการพระราชกุศลตามคำกราบทูลเชิญอยู่มิได้ขาด โดยมิได้ทรงเลือกว่าเป็นวัดที่ใหญ่โต มีชื่อเสียงแต่ประการใด หากแม้วัดในถิ่นทุรกันดารก็ทรงเจริญพระศรัทธาเช่นกัน ทั้งยังทรงพระกรุณาส่งเสริมกิจกรรม อันจะยังความเจริญไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา ด้วยพระหฤทัยศรัทธา เป็นเหตุให้เพิ่มพระภิญโญภาพ ในพระองค์ให้ยิ่งขึ้น ทั้งบังเกิดมหามงคลและความร่มเย็นเป็นสุขทั่วทิศานุทิศ
การพิมพ์พระไตรปิฏกเป็นอักษรโรมัน กองทุนสนทนาธรรมนำสุขฯ ในพระสังฆราชูถัมภ์ฯ ได้รับการบอกบุญจากต่างประเทศให้พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นอักษรโรมัน ที่สำคัญเป็นการพิมพ์จากต้นฉบับพระไตรปิฎกบาลีที่สังคายนาระดับนานาชาติ โดยคณะสงฆ์เถรวาทจากทั่วโลก 2,500 รูป ได้มาร่วมประชุม พระไตรปิฎกอักษรโรมันฉบับนี้ ได้มีการตรวจสอบและจัดเตรียมต้นฉบับเป็นเวลา กว่า 6 ปี เมื่อความทราบถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นประธานกิตติมศักดิ์การประดิษฐานพระไตรปิฎกอักษรโรมันฉบับนี้ ในนานาประเทศทั่วโลก ในฐานะที่ทรงเป็นพระกุลเชษฐ์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และเป็นการเจริญตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์ครั้งแรกของโลก เมื่อ พ.ศ.2436 และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 ทรงรับเชิญจากประธานาธิบดีแห่งประเทศ ศรีลังกา เสด็จจาริกเพื่อพระราชทานพระไตรปิฎกอักษรโรมัน ณ กรุงโคลัมโบ เป็นการพระราชทานเป็นปฐมฤกษ์ ก่อนที่จะมีการพระราชทานแก่สถาบันสำคัญในโลกต่อไป
ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาเป็นระยะเวลานานกว่า 72 ปี
"ความเรียบง่าย" พระจริยวัตรอันงดงาม ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของพสกนิกร ปฏิบัติพระองค์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วยพระอัธยาศัยกัลยาณวัตรอันงดงาม ตามโบราณราชประเพณี และทรงถึงพร้อมในที่ขัตติยะราชนารี ทรงมีพระวาจาสุภาพนุ่มนวล ทรงวางพระองค์เหมาะสม มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วย พระเมตตา ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมหาศาลอย่างไม่รู้จักทรงเหนื่อยยากเพื่อความสุขของประชาชน ยังประโยชน์ให้ชาวไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยน้ำพระหฤทัยเปี่ยมยิ่งมากล้น ทรงดำรงพระองค์ควรค่าแก่การนับถือและปฏิบัติตาม ทรงพระคุณต่อวงการการศึกษา การสาธารณสุข การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และ การสังคมสงเคราะห์ ทรงสถิตเป็นหลักชัยมั่น ทรงมีพระหฤทัยแน่วแน่ และมุ่งมั่น ทำให้พระกรณียกิจน้อยใหญ่ที่ทรงบำเพ็ญ บรรลุศุภผลยังประโยชน์ และความผาสุกร่มเย็นมั่นคงให้เกิดแก่อาณาประชาราษฎร์และประเทศไทยอย่างกว้างใหญ่ไพศาล จึงทรงสถิตตรึงดวงใจทุก ๆ ดวงแห่งประชาราษฎร์มิเสื่อมคลาย.
ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยอาลัยรักเหนือเกล้าฯการจะควรประการใด สุดแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม(อ้างอิง..โครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์)
โดย..โชติกา