การอยู่จำพรรษา หมายถึง การที่พระภิกษุเริ่มพำนักอยู่ในอารามระหว่างฤดูฝน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น กำหนดตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ยกเว้นแต่เหตุจำเป็น เช่น ไปรักษาศรัทธาญาติโยม เป็นต้น ทรงอนุญาตให้ไปได้ภายใน ๗ วัน หรือที่เรียกว่า “ สัตตาหกรณียะ”
การเข้าพรรษา โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าจำกัดสำหรับพระเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องของพุทธบริษัททุกท่านที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะการปฏิบัติได้ถูกต้องของชาวพุทธทุกคน
ย่อมมีผลต่อความเจริญงอกงามของพระพุทธศาสนา
กิจวัตรของพระช่วงเข้าพรรษา
กิจวัตรหลักของพระภิกษุสงฆ์ท่านมุ่งจรรโลงพระพุทธศาสนา รักษาพระธรรมวินัย และบำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติธรรมฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อจะได้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศให้กับญาติโยมนั่นเอง
ในสมัยพุทธกาล ท่านมหาปาละพร้อมด้วยเพื่อนสหธรรมิก ๖๐ รูป ก่อนเข้าพรรษา ได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษาในเขตชนบทครั้นถึงวันเข้าพรรษา พระมหาปาละได้ให้โอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ว่า
“ ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย พวกเราเรียนกรรมฐานมาจากพระพุทธเจ้าแล้ว ควรเร่งประกอบความเพียร ในขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์อยู่ จึงได้ชื่อว่า เป็นพุทธบุตรอย่างแท้จริง ขึ้นชื่อว่าอบายทั้งสี่ เป็นเช่นกับเรือนของบุคคลผู้ที่ประมาทแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ส่วนตัวท่านเองนั้น ก็จะปรารถนาความเพียรด้วยอิริยาบถสามเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง แต่จะไม่นอนตลอดไตรมาส”
ภิกษุสงฆ์รับฟังโอวาทของท่านแล้ว จากนั้นก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมตามลำพัง ฝ่ายพระเถระได้เริ่มปรารภความเพียร โดยไม่ยอมนอนตามที่ตั้งใจไว้ ครั้นเวลาผ่านไป ๑ เดือน ท่านเกิดอาการเคืองตา น้ำตาได้ไหลออกจากเบ้าตาทั้ง ๒ ข้างตลอดเวลา แม้หมอจะขอร้องให้ท่านนอนหยอดตาท่านก็ไม่ยอม โดยสอนตนเองว่า “จักษุที่ถือว่าเป็นของเราจงเสื่อมไปเถิด หูและกายก็เช่นเดียวกัน แม้สรรพสิ่งอันอาศัยกายนี้ ก็จงเสื่อมไปเถิด แต่เราอย่าได้มัวประมาทอยู่เลย” ว่าแล้วก็ทำสมาธิเรื่อยไป
อีกประการหนึ่งท่านพิจารณาดูแล้วว่า นี่เป็นโรคที่เกิดจากกรรมเก่าในอดีตตามมาทัน เป็นกรรมที่เคยเป็นหมอตา แล้วหยอดตาให้คนไข้ตาบอด เพราะคนไข้ไม่ยอมให้ค่าจ้างตามที่ได้ตกลงกันไว้ ดังนั้นไม่ว่าจะนั่งหยอดหรือนอนหยอด ก็คงไม่หายอยู่ดี ทางที่ดีที่สุดควรรีบทำความเพียรก่อนที่โรคจะกำเริบไปกว่านี้ดีกว่า แล้วก็ตั้งใจทำความเพียรต่อไป พอใกล้ถึงวันออกพรรษาทั้งดวงตาและกิเลสก็ดับไปพร้อม ๆ กัน ไม่ก่อนไม่หลัง ท่านได้เป็นพระอรหันต์ ผู้แม้มังสจักขุอาจจะมืดบอด แต่ธัมมจักขุของท่านสว่างไสวอยู่ภายในตลอดเวลา
เข้าพรรษาของสาธุชน
ในสมัยพุทธกาลนั้นเมื่อถึงคราวอยู่จำพรรษาของพระสงฆ์ ฝ่ายสาธุชนก็ทำหน้าที่เป็นกองเสบียง ให้พระสงฆ์บำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างสะดวกสบาย ขณะเดียวกันก็จะสมาทานศีล ๕ บ้าง ศีล ๘ บ้าง มีการชักชวนกันไปรักษาอุโบสถศีลที่วัด ไปฟังธรรมและแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของตัวเอง อนาถบิณฑิกเศรษฐีและวิสาขามหาอุบาสิกา นับเป็นต้นบุญที่น่าอนุโมทนา เพราะท่านจะไปอุปัฏฐากพระวันละ ๒ ครั้ง เมื่อไปก็ไม่เคยไปมือเปล่า หากไปก่อนเวลาฉันอาหาร ท่านจะให้คนถือของขบเคี้ยวไปด้วย หากไปหลังเพลก็ใช้ให้คนถือเภสัชและน้ำปานะติดมือไปด้วย เวลาบ่ายก็จะพาลูกหลานไปฟังธรรมที่วัด สำหรับในเคหะสถานของท่านทั้งสอง ก็ได้จัดแต่งอาสนะไว้เพื่อภิกษุแห่งละ ๒,๐๐๐ รูป เป็นประจำทุกวัน ภิกษุรูปใดปรารถนาของสิ่งใด จะเป็นข้าว น้ำ หรือเภสัชก็จะได้ทุกอย่าง ทำให้การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นไปอย่างราบรื่นส่งผลให้พระภิกษุบรรลุธรรมาภิสมัยมากมาย
ผู้ใหญ่บ้านต้นแบบ
ในสมัยพุทธกาล ณ หมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่งมีสตรีเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็น วันหนึ่งมีพระภิกษุ ๖๐ รูป เดินธุดงค์ผ่านมาแล้วไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านเห็นพระมาโปรดถึงที่ จึงได้จำพรรษาที่นั่นแล้วชักชวนลูกบ้าน ช่วยกันจัดเตรียมสถานที่สร้างกุฏิถวายพระภิกษุสงฆ์เพื่อใช้ในการประกอบความเพียร อีกทั้งชาวบ้านทุกคนต่างตั้งใจสมาทานศีล ๕ ด้วยความเต็มใจ พระภิกษุทั้งหมดเมื่อได้ประชุมตกลงกันว่า “ เพราะเราบวชแล้ว ไม่ควรประมาทในการปฏิบัติธรรมเพราะว่ามหานรก ๘ ขุม มีประตูเปิดคอยท่าอยู่ เป็นประดุจเรือนของพวกเราทีเดียว เราควรมุ่งทำภาวนา อย่าได้เกียจคร้านในการทำความเพียร เพราะพระสัมมาพุทธเจ้าทรงสรรเสริญผู้ที่ไม่ประมาท” เมื่อท่านตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ทุกรูปต่างแยกย้ายไปบำเพ็ญสมณธรรมของตน
วันหนึ่ง หลังจากพระฉันเพลเสร็จแล้ว อุบาสิกาได้พาชาวบ้านมาถวายน้ำปานะและไทยธรรมที่จำเป็นแด่พระสงฆ์ เมื่อเห็นพระภิกษุเดินมาคนละทางอย่างนั้นก็เข้าใจว่า พระคุณเจ้าทะเลาะวิวาทกันเป็นแน่ จึงถามท่านว่า “พระคุณเจ้าทะเลาะวิวาทกันหรือเจ้าคะ ทำไมจึงไม่มาโดยพร้อมเพียรกัน” ครั้นทราบว่าท่านกำลังบำเพ็ญสมณธรรม จึงถามต่อว่า “สมณธรรมของพระคุณเจ้าเป็นอย่างไรหรือเจ้าคะ”
พระเถระตอบว่า “สมณธรรม ก็คือการทำสมาธิเจริญภาวนา ตามรักษาจิตของตนไม่ให้ฟุ้งซ่านฝึกใจให้สงบ ให้หยุดนิ่ง” “พระคุณเจ้าผู้เจริญแล้วฆราวาสอย่างดิฉันจะทำได้ไหม” “ทำได้สิ ฆราวาสก็สามารถทำภาวนาได้” ตั้งแต่นั้นมา ผู้ใหญ่บ้านหญิงใจเพชรก็ตั้งใจฝึกสมาธิภาวนาตามที่พระแนะนำ อีกทั้งได้ชวนชาวบ้านมาเป็นอุปัฏฐากและทำสมาธิควบคู่กันไป ฝึกได้ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี อีกทั้งเป็นผู้ทรงอภิญญาสามารถรู้วาระจิตของคนอื่นได้อีกด้วย
ท่านใช้อภิญญาจิตพิจารณาว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้พระคุณเจ้าได้บรรลุธรรมสมปรารถนาตั้งแต่เห็นว่า อาวาสเป็นที่สบาย เหมาะอย่างยิ่งต่อการบำเพ็ญเพียร ไม่มีเสียงรบกวน บุคคลก็เป็นที่สบาย ทุกรูปอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีการกระทบกระทั่งกันเลย ธรรมะก็เป็นที่สบาย ทุกรูปตั้งใจปฏิบัติกันดี ไม่เกียจคร้านกันเลย
ตรวจดูต่อไปอีก จึงพบว่าอาหารยังไม่เป็นที่สบาย พระคุณเจ้ามีอาหารไม่ค่อยจะพอฉันแต่ละรูปก็ไม่ค่อยคุ้นกับอาหารที่นี่ ทำให้สมาธิไม่ก้าวหน้าเมื่อรู้สาเหตุแล้ว พอรุ่งขึ้นก็จัดแจงภัตตาหารที่ถูกปากนำไปถวายด้วยตัวเอง และกล่าวปวารณาว่า “ท่านผู้เจริญ พวกท่านชอบใจสิ่งใด ขอนิมนต์บอกมาเถิดไม่ต้องเกรงใจโยมนะเจ้าคะ” เมื่อพระทุกรูปได้ฉันอาหารที่ถูกปาก และปริมาณพอเพียงมีอาหารเป็นที่สบายแล้ว ได้มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเดียว ในที่สุดทุกรูปก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ภายในพรรษานั่นเอง
จะเห็นได้ว่า การอยู่จำพรรษาของพระคุณเจ้าจะสัมฤทธิผลได้นั้น ต้องอาศัยการสนับสนุนจากสาธุชน ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสดีที่สาธุชนจะได้ทำบุญใหญ่ คือคอยอุปัฏฐากดูแลพระ ให้ท่านประพฤติธรรมได้อย่างปลอดกังวล นับได้ว่าเป็นการเกื้อกูลกันทั้งฝ่ายวัดและบ้าน เป็นเหตุให้เกิดความใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น ไม่มีการจับผิดกันทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา พวกเราชาวพุทธในยุคนี้ก็เช่นเดียวกัน ถึงเวลาแล้วที่ราจะหันมาให้ความสำคัญกับการเข้าอยู่จำพรรษา มาทำหน้าที่ของพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและเป็นที่พึ่งของชาวโลกตลอดไป.