ในสมัยก่อน คุณยายท่านถนอมรักษาเครื่องแก้วนี้อย่างมากทีเดียว โดยท่านจะต้องมีการล้างทำความสะอาดอย่างดี แล้วก็ห่อผ้าเก็บไว้ หลังจากล้างเสร็จแล้วก็ไม่ตากแดด ให้เช็ดเอา เพราะว่าถ้าล้างแล้วตากแดดแล้วจะเป็นคราบ ไม่สวย คุณยายฯ ท่านจะให้เอาผ้าสะอาดๆ มาเช็ด แล้วก็ห่อด้วยผ้าขาวเป็นชิ้นๆ แล้วท่านก็จะเก็บไว้ในกำปั่นอย่างดี สมัยก่อนให้พระมหาชิโตทำกำปั่นไว้ประมาณ ๓ - ๔ ใบ แล้วก็เอาเครื่องแก้ววางเรียงตามขนาดไว้อย่างดี โดยห่อด้วยผ้าขาว แล้วเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี
เมื่อโอกาสที่จะต้องใช้ในการบูชาข้าวพระพุทธก็จะเอาภาภาชนะเครื่องแก้วนี้มาใช้ เพราะฉะนั้นท่านถนอมรักษามาอย่างดี คุณยายฯท่านสอนไว้ว่า การจะทำบุญบูชาข้าวพระพุทธก็ตาม หรือบูชาดอกไม้ธูปเทียนก็ตาม เราต้องทำด้วยความเคารพ ภาชนะต้องสะอาดประณีต ต้องไม่มีรอยแตกรอยบิ่น เพราะถ้าเผลอเอาภาชนะที่มีตำหนิขึ้นไปบูชานั้น พอใจของเราขยายใหญ่เพื่อที่จะบูชาข้าวพระพุทธ รอยแตกในภาชนะนั้นก็จะขยายใหญ่ตามด้วย
ครั้งหนึ่ง หลวงพี่ประสบเอง คือหลังจากพิธีบูชาข้าวพระวันอาทิตย์ต้นเดือน ตอนเย็นท่านเดินมาหาแล้วพูดขึ้นมาลอยๆ ว่า ใครเอาภาชนะบิ่นขึ้นมาบูชาข้าวพระพุทธ หลวงพี่บอกว่า ก็เรียบร้อยทุกอย่าง ภาชนะก็ไม่มีบิ่นนะ ยายตอบว่า มีสิ ยายเห็น รอยบิ่นใหญ่เบ้อเริ่ม เพราะฉะนั้น ท่านก็เลยให้รื้อออกมาทั้งหมดแล้วก็ตรวจดูว่าอันไหนมีรอยบิ่นให้แยกออกมา
ความที่ท่านละเอียดกับการสร้างกุศลและก็อยากได้บุญที่ประณีต พวกเราก็ต้องรื้อเอาภาชนะทั้งหมดออกมาแผ่เต็มพื้นที่ เพื่อคัดว่ามีภาชนะบิ่นหรือไม่ ปรากฏว่าเจอจริงๆ มีรอยบิ่นเล็กอยู่นิดเดียว ซึ่งถ้ามองด้วยตาอาจจะไม่เห็น แต่ว่าใช้วิธีเอามือลูบตามขอบก็จะเจอรอยบิ่น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คุณยายฯท่านประณีตมากและก็ละเอียดในการสร้างบุญและการรักษาของ ท่านสั่งว่า ถ้าภาชนะมีตำหนิทำนองแบบนี้ ให้แยกเอาไว้เผื่อเราไว้ทำอย่างอื่น
ขอขอบคุณ www.dmc.tv/video