เมื่อเดินทางไปจนกระทั่งถึงเรือนของเศรษฐีเพื่อนพ่อ ภรรยาของเศรษฐีนั้นก็ได้มาต้อนรับ เมื่อแรกเห็น ก็รู้สึกนึกรักโฆสกะเหมือนกับเป็นลูกของตัวเอง ได้ซักถามว่า “เธอมาจากไหนหรือ”
โฆสกะตอบด้วยถ้อมคำที่น่ารักว่า “คุณแม่ครับ ผมเป็นลูกชายของเศรษฐีซึ่งเป็นเพื่อนกับคุณแม่ครับ”
ภรรยาเศรษฐี “แล้วเธอชื่ออะไรล่ะ”
โฆสกะ “โฆสกะ ครับ”
ภรรยาเศรษฐี “ดีจัง เอ้าเข้ามาสิ ล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น ทานอหารให้เรียบร้อย พักที่นี่สักคืน แล้วพรุ่งนี้ค่อยเดินทางต่อก็แล้วกันนะจ๊ะ”
เศรษฐีนั้นมีลูกสาวคนหนึ่ง อายุประมาณ ๑๕ – ๑๖ ปี เธอเป็นผู้มีบุญ รูปร่างสะสวย สง่างาม น่าเลื่อมใส เศรษฐีหาสาวใช้คนหนึ่งให้รับใช้ส่วนตัวแก่ลูกสาวของตน ลูกสาวนั้นอยู่ห้องอันมีสิริ เป็นห้องพิเศษส่วนตัวอยู่บนปราสาทชั้น ๗ เพราะเป็นลูกรักคนเดียว (ปราสาท ๗ ชั้น นี่คือความอัจฉริยะของคนสมัยก่อน แม้จะเป็นเรือนไม้ แต่สร้างได้หลังใหญ่สูงถึง ๗ ชั้น โดยไม่ต้องตอกตะปูแม้สักตัวเดียว)
พอดีสาวใช้คนนั้นเดินผ่านมา ภรรยาเศรษฐีจึงเรียกนางมา แล้วถามว่า “จะไปไหนหรือ”
สาวใช้ “ธิดาของแม่เจ้า สั่งให้ดิฉันไปกระทำกิจธุระให้เจ้าค่ะ”
ภรรยาเศรษฐี “เจ้ามานี่ก่อน เรื่องนั้นเอาไว้ทีหลัง ไปเตรียมที่นั่ง เอาน้ำมาล้างเท้าให้ลูกชายฉัน เอาน้ำมันมานวดเท้าให้ด้วย จากนั้นไปจัดที่หลับที่นอนให้ลูกชายฉันด้วยนะ แล้วค่อยไปทำกิจให้ธิดาของฉันในภายหลัง”
เมื่อสาวใช้กลับมาถึง ธิดาเศรษฐีก็ดุว่า “ทำไมมาช้านักล่ะ”
สาวใช้ “แม่เจ้าอย่าเพิ่งโกรธดิฉันค่ะ ลูกชายเศรษฐีโน้นชื่อโฆสกะ มาที่นี่ คุณแม่ของแม่เจ้าใช้ให้ดิฉันจัดเตรียมต้อนรับเขาเจ้าค่ะ” เมื่อได้ยินคำว่า “โฆสกะ” เท่านั้น ความรักได้แล่นผ่านเฉือนผิวหนัง จรดเยื่อในกระดูกของธิดาเศรษฐีทีเดียว นี่เป็นเพราะว่าบุพเพสันนิวาสนั่นเอง
(บุพเพสันนิวาสนั้น ความหมายที่แท้จริงก็คือ การที่เคยได้อยู่ร่วมกันในชาติก่อนๆ ซึ่งไม่ใช่หมายความเป็นสามีภรรยากันอย่างเดียว อาจเป็นพ่อเป็นลูกกัน เป็นแม่เป็นลูกกัน เป็นพี่น้องหรือญาติๆ ที่อยู่ด้วยกัน คนเดี๋ยวนี้มักเหมาเอาว่า เคยเป็นสามีภรรยากัน เพราะฉะนั้น คนที่เราเห็นครั้งแรกแล้วปิ๊งเลย คนนั้นในอดีต อาจเคยเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่น้องหรือญาติกันมาก่อนก็ได้ วัฏฏสงสารก็เป็นอย่างนี้ ทำให้เราไม่รู้เรื่องอดีต)
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า เธอก็คือภรรยาของเขาในชาติที่ทิ้งลูกน้อยนั่นเอง เธอได้มาเกิดเป็นลูกสาวเศรษฐีในชาตินี้ ก็เพราะบุญที่ถวายอาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า และอยู่รับใช้เตรียมอาหารให้เจ้าของบ้านถวายพระในชาตินั้นนั่นเอง
เมื่อได้ยินคำว่า โฆสกะ เธอจึงรีบถามว่า “แล้วตอนนี้เขาอยู่ที่ไหนล่ะ”
สาวใช้ “ดิฉันได้เตรียมที่นอนไว้ให้แล้วเจ้าค่ะ”
ธิดาเศรษฐี “เขามีอะไรติดมาด้วยหรือเปล่า”
สาวใช้ “เห็นมีหนังสืออยู่ที่ชายพกเจ้าค่ะ”
ธิดาเศรษฐีนั้นจึงคิดว่า “นั่นเป็นหนังสืออะไรหนอ”
เธอจึงแอบไปดูในช่วงที่พ่อแม่ของตนกำลังใส่ใจอยู่กับเรื่องอื่น เห็นโฆสกะหลับสนิททีเดียว คงเป็นเพราะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทาง เธอจึงค่อยๆ เข้าไปแก้หนังสือนั้นอ่าน แล้วก็ต้องอุทานด้วยความตกใจว่า “ตายจริง อีตานี่ผูกหนังสือฆ่าตัวเองไว้ที่ชายผ้าแท้ๆ เลย นี่ถ้าเราไม่เห็นเข้า เขาต้องตายแน่ๆ” ด้วยความรักและความฉลาด จึงฉีกหนังสือเดิมทิ้ง แล้วรีบเขียนจดหมายปลอมเอาไปเปลี่ยนแทน จดหมายนั้นเขียนว่า ..
“ลูกชายของเราคนนี้ชื่อโฆสกะ ท่านจงนำเครื่องบรรณาการจากบ้านส่วยทั้งร้อยบ้านของเรามา จัดการสู่ขอธิดาเศรษฐีซึ่งเป็นเพื่อนของเราให้มาแต่งงานกับโฆสกะ แล้วปลูกเรือนหอสองชั้นอยู่ในท่ามกลางเรือนของท่านเลย จัดหาคนคอยดูแลรับใช้ให้อย่างดีเยี่ยมด้วยนะ เมื่องานเสร็จแล้ว รีบส่งข่าวมาแจ้งให้เราทราบด้วย เราจะให้รางวัลอย่างงาม”