การฝึกวินัยให้เกิดจากใจนั้น ผู้ฝึกจะต้องฝึกแบบควักใจฝึกให้ คือ ฝึกให้ด้วยความปรารถนาดี
ฝึกให้ด้วยความผูกพัน จนผู้ถูกฝึกรู้ได้ด้วยใจว่าผู้ฝึกนั้นฝึกให้ด้วยความรักความหวังดี เช่น แม่ฝึกให้
ลูกรักความสะอาดด้วยการทำความสะอาดร่างกายให้ลูกตั้งแต่เกิด ไม่ยอมให้มีสิ่งสกปรกหมักหมม
อยู่ที่ตัวลูก เพราะความสกปรกเป็นความระคายเคืองที่เด็กอ่อนไม่ชอบ ถ้าพ่อแม่ทำให้แกพ้นจาก
ความระคายเคืองได้ แกจะรู้สึกผูกพัน จำได้
ยิ่งถ้าทำให้ด้วยความรัก ความทะนุถนอม จริงใจ สัมผัสของเราก็จะยิ่งนุ่มนวลจนเด็กรู้สึกได้และจำ
ไปจนโต ความสะอาดเลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความผูกพันสำหรับเด็กคนนี้ เมื่อโตขึ้น
ไปอยู่กับใคร ไปทำงานที่ไหน ก็ชอบที่จะทำความสะอาดที่อยู่ของตนเอง และของคนที่ตนรัก ทำให้
โดยอัตโนมัติ ไม่รอคำสั่ง ซึ่งผิดกับวินัยทางทหาร เรื่องของการรบ คำสั่งสำคัญที่สุด บางทีเหตุผลยัง
เป็นรอง การฝึกวินัยแบบนี้จึงเต็มไปด้วยความเครียด
วินัยทุกรูปแบบนอกจากจะฝึกแบบควักใจฝึกให้ และทำมาแต่อ้อนแต่ออกแล้ว ผู้ฝึกหรือคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ยังต้องฝึกให้เขารู้จักค้นหาความจริงและความดี และต้องแยกความหมายคำสองคำนี้
ให้ออก ความจริงไม่ใช่ความดี เหมือนแสงสว่างไม่ใช่ความร้อน คนที่รู้จักความจริงแล้วฝึกตัวเองให้มี
ความดี จะรู้จักค้นหาความดีในสิ่งต่างๆ เหมือนช่างทำมีดรู้จักคุณสมบัติที่ดีของเหล็ก คือ ความแกร่ง
จึงเอามาทำมีด เช่นนี้ จะทำทุกอย่างให้ดีไปหมดโดยอัตโนมัติ นี่คือวินัยที่เกิดจากใจ