บทฝึกบทที่สอง.. ปัญญา

วันที่ 22 ตค. พ.ศ.2554

ง่ายมาก เรื่องนี้ไม่ยากเลย จะฝึกให้มีปัญญาจำเอาไว้ต้องฝึกความเคารพ


ความเคารพเป็นต้นทางแห่งปัญญา

        ใครที่มีความเคารพมาก คนนั้นจะมีปัญญามาก ไม่ใช่พูดเพราะตัวเองเป็นพระ อยากจะให้เขากราบนะ ไม่ใช่ ความเคารพกับการกราบไม่เหมือนกัน

 

       การกราบ การไหว้ การหมอบ การคลาน นั่นเป็นเรือ่งของการแสดงความเคารพ ขณะที่กำลังแสดงการกราบการไหว้อยู่น่ะ ใจจริงอาจจะไม่เคารพก็เป็นได้บางทีกราบเสียงามเชียวแต่ในใจนึก … เมื่อไหร่จะตายๆ ไปเสียที มาให้เราต้องกราบอยู่ได้ ใจคิดไปโน่น เพราะฉะนั้น ท่ากราบท่าไหว้อย่าเอามาปนอย่าเอามาเหมาว่าเป็นความเคารพ

 

       ความเคารพ คือ ความจับจ้องมองดู ค้นหาความดีในตัวของผู้อื่นให้เจอ เมื่อเจอแล้วก็เลือกเอาแต่คุณธรรมความดีของเขาที่มีอยู่ เอามาฝึกตามให้ได้อย่างเขาบ้าง

 

       พูดง่ายๆ ความเคารพคือความจับถูก อย่าไปจับผิดคนอื่น ใครที่ชอบจับผิดคนอื่นเลิกเสียนะ จับถูกซิถึงจะเข้าท่าถ้าจะจับผิดละก็ให้จับผิดตัวเอง ถ้าจะจับถูกให้ไปจับถูกคนอื่น

 

       คนเราถ้ายังไม่หมดกิเลส มันก็มีเรื่องให้ติกันจนได้ ขนาดคนหมดกิเลสแล้วจะหาเรื่องติยังติได้เลย พระพุทธรูปนั่งอยู่เฉยๆ ในโบสถ์ยังว่า พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ยิ้มเลย แหม…องค์นี้ยิ้มสวยดีหรอก แต่ว่านั่งอกผึ่งไปหน่อยเหมือนพระนักเลง องค์นี้นั่งก็ดียิ้มก็สวย แต่แหม…รู้สึกผอมไปนิด ถ้าจะติละ ก็มีเรื่องติไม่รู้จบซิน่า แม้พระพุทธรูปมันยังนั่งติ เพราะฉะนั้นจับผิดคนอื่นเสียเวลาเปล่าไม่เกิดประโยชน์

 

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้จับถูก ใครมีความถูกต้อง มีความดีงามอะไรทรงสรรเสริญในที่ประชุมสงฆ์เลย เช่น ทรงสรรเสริญว่าพระสารีบุตรเป็นเลิศทางปัญญา พระโมคคัลาน์เป็นเลิศทางอิทธิฤทธิ์ พระมหากัสสปะเป็นเลิศทางถือธุดงควัตร ฯลฯ เพราะฉะนั้น เราควรเอาอย่างท่าน จ้องมองหาความดีของคนอื่น เมื่อพบแล้วก็ไปทำให้ได้ดีอย่างเขาบ้าง มีโอกาสก็ไปแสดงความยินดีในความสำเร็จของเขา เป็นการให้กำลังใจคนทำความดี ใครทำอย่างนี้ได้ ท่านเรียกว่ามีคุณธรรมความเคารพเกิดขึ้นแล้ว

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.070108083883921 Mins