เส้นทางสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๒๐

วันที่ 27 ตค. พ.ศ.2556

 

เส้นทางสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๒๐

 

       สังฆราช หรือที่เรียกในสังฆมณฑลไทยว่า สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่า สังฆราช ไว้ด้วย

 

        สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจาก คณะสงฆ์ไทยนำแบบอย่างมาจากลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงอาราธนาพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย

 

        สมเด็จพระสังฆราช คือ ประมุขแห่งคณะสงฆ์ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง สกลมหาสังฆปริณายก กฎหมายกำหนดให้มีพระองค์เดียวมาตั้งแต่โบราณ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความแตกแยกสามัคคีในหมู่สงฆ์ จึงเท่ากับดำรงอยู่ในฐานะ พระสังฆบิดร ด้วย

 

        สำหรับขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  องค์ที่ 20 นั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ตามมาตรา 7 ใจความว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง วรรคสอง เมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระสังฆราชไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบตามมติของมหาเถรสมาคม (มส.) เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

 

        ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบตามมติของ มส. ให้เสนอสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสชั้นรองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

 

        สำหรับลำดับของสมเด็จพระราชาคณะ เรียงลำดับความอาวุโสตามสมณศักดิ์ ดังนี้

        1.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ปธ.9) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (มหานิกาย) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ แม่กองบาลีสนามหลวง ถือว่ามีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุดทุกด้าน ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2538 เกิดวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2468 อายุ 88 ปี

 

        2.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2544 เกิดวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2460 อายุ 95 ปี

 

        3.สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2552 เกิดวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 อายุ 86 ปี

 

        4.สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2552 เกิดวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2479 อายุ 77 ปี

 

        5.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (มหานิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2553 เกิดวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2473 อายุ 83 ปี

 

        6.สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2553 เกิดวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2490 อายุ 66 ปี

 

        7.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการามวรวิหาร (มหานิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2554 เกิดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 อายุ 72 ปี

 

        ส่วนระยะเวลาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แทนองค์เดิมนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชไปแล้ว 6 รูป ตั้งแต่ลำดับที่ 14 ถึง 19 โดยมีระยะเวลาการสถาปนาที่น่าสนใจดังนี้

 

     ลำดับที่ 14 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 1 ปี 5 เดือน

 

     ลำดับที่ 15 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทโย ปธ.9)วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 10 เดือน

 

     ลำดับที่ 16 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี ปธ.9)วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 6 เดือน

 

     ลำดับที่ 17 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ ปธ.6) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน

 

    ลำดับที่ 18 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(วาสน์ วาสโน ปธ.4) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน

 

      ลำดับที่ 19 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน ปธ.9) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน

 

  ตามธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชของคณะสงฆ์ไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะยึดหลัก "สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์"

 

   ส่วนระยะเวลาการสถาปนาไม่มีระเบียบปฏิบัติว่าต้องสถาปนาในวันสำคัญ ส่วนใหญ่จะสถาปนาช่วงกลางปี ระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน แต่การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ ระยะเวลาสถาปนา 10 เดือน (องค์ที่ 15)   สถาปนาในวันฉัตรมงคล

 

        สำหรับการสถาปนาพระราชาคณะ(การตั้งชื่อ) พระธรรมคุณาภรณ์ หรือ เจ้าคุณพิมพ์ เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา และรองเจ้าคณะภาค 7 หรือผู้ริเริ่มสร้างโปรแกรมสมณศักดิ์ที่คณะสงฆ์ใช้อยู่ในปัจจุบัน และเป็นผู้รวบรวมทำเนียบสมณศักดิ์ฉบับสมบูรณ์ ให้ข้อมูลว่า การสถาปนาองค์ใหม่ตามธรรมเนียมปฏิบัติจะใช้พระนามสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ว่า "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" ทั้งนี้ แล้วแต่ทรงจะพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่ง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025292452176412 Mins