"อย่าเอาตัวเองไปวัดหัวใจพระโพธิสัตว์ ท่านทุ่มสร้างบารมีด้วยชีวิต ”
การทำความดี สั่งสมบุญบารมีนั้น มีความเข้มข้นหลายระดับ ดังนี้
1. ทำบุญ คือ การทำความดีของบุคคลโดยทั่วไป
2. สร้างบารมี คือ การทำบุญแบบเข้มข้น
3. อุปบารมี คือ การสร้างบารมีที่เข้มข้นมากขึ้น ระดับยอมสละอวัยวะได้
4. ปรมัตถบารมี คือ การสร้างบารมีที่เข้มข้นสูงสุด ระดับยอมสละชีวิตได้
นักสร้างบารมีผู้มุ่งหวังผลที่สูง เช่น พระโพธิสัตว์ ท่านจะมีใจที่ใหญ่มาก กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ในสิ่งดีๆอย่างอุทิศชีวิต และทำอย่างต่อเนื่องไม่ใช่นานๆทำที ทำชนิดคนธรรมดาคาดฝันไม่ถึงเลย
ตัวอย่างการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้า
@ ชาติหนึ่ง พระพุทธเจ้าของเราขณะสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ บวชเป็นดาบส ยืนอยู่บนหน้าผามองลงไปเห็นแม่เสือหิวโซกำลังจะกินลูกตัวเอง พระองค์ยอมกระโดดลงไปให้เสือกิน เพื่อช่วยชีวิตลูกเสือ โดยอธิษฐานจิตว่า ขอบุญนี้ส่งผลให้ข้าพเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
@ สมัยพระองค์เกิดเป็นพระเวสสันดร ยอมยกพระโอรสพระธิดา คือ กัณหา กับ ชาลี ให้กับพราหมณ์ชูชก แต่ก็วางแผนการไว้จนชูชกนำกัณหากับชาลี ไปถวายพระเจ้าตา เพื่อรับเงินแทน
@ แม้พระชาติสุดท้าย เจ้าชายสิทธัตถะก็เสด็จออกบวชในวันที่พระโอรส คือ เจ้าชายราหุลประสูตินั่นเอง เมื่อบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ธรรมแล้วก็กลับมาโปรดพระญาติ พระเจ้าสุทโธทนะ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระนางพิมพาสุดท้ายก็ได้บวชบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตเถรี เจ้าชายราหุลก็บวชเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นสามเณรอรหันต์ แม้พระราชมารดาจะสวรรคตแล้ว พระองค์ยังเสด็จตามไปโปรดถึงบนสวรรค์จนบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
> หากใครไม่เข้าใจ ใช้ความรู้สึกของตัวเองไปวัดการสร้างบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ แล้วหลงไปตำหนิท่านว่าทำมากเกินไป โง่ หลงบุญ บ้าบุญ ทิ้งลูกทิ้งเมียออกบวช เราลองคิดดูว่า คนๆนั้นจะมีวจีกรรมแบกบาปหนักขนาดไหน มีนรกเป็นที่ไป ไม่คุ้มเลย >
ใจของเราหากยังอยู่ที่ระดับการทำบุญขั้นแรก ทำแบบเล็กๆน้อยๆทั่วไป เมื่อเห็นคนอื่นเขาทำความดีอย่างอุกฤษฏ์ ไม่ใช่ไปตำหนิเขา แต่ควรอนุโมทนา เราจะได้บุญด้วย
*** การทำความดีจริงๆแล้วไม่มีคำว่าทำมากเกินไป อยู่ที่หัวใจของคนๆนั้นมีเป้าหมายชีวิตที่สูงส่งเพียงใด ***
จะวัดว่าดีหรือไม่ดี ไม่ได้ดูที่ว่าทำมากไปไหม แต่ดูที่สาระของการกระทำ ถ้าเป็นเรื่องดี ก็คือดี ยิ่งทำมากยิ่งดี
___ การให้ทาน อย่างอุทิศได้แม้ชีวิต เป็นสิ่งควรอนุโมทนา
___ การรักษาศีล โดยยอมตายไม่ยอมละเมิดศีล เป็นสิ่งควรอนุโมทนา
___ การเจริญภาวนา โดยทำสมาธิอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นสิ่งควรอนุโมทนา
ตัวอย่างนักสร้างบารมียุคปัจจุบัน
>> แม้ในยุคใกล้ๆของเรานี้ ก็มีพระเถระผู้บวชอุทิศตนสร้างบารมีอย่างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันหลายรูป ซึ่งในช่วงแรกทุกท่านจะมีลักษณะคล้ายกัน คือ ถูกเข้าใจผิด ถูกโจมตีด่าว่านานาชนิด
เพราะการสร้างบารมีอย่างเอาจริงเอาจัง ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันที่ทำนั้น เป็นสิ่งที่สังคมไม่คุ้นเคย จึงถูกระแวงสงสัย จับผิด โจมตี แต่ด้วยความหนักแน่น อดทน ไม่หวั่นไหวทำความดีอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายสังคมก็ยอมรับ สิ่งที่ท่านเหล่านี้ได้ทำ สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนามากมาย อาทิ
1. พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
2. หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ
3. ครูบาศรีวิชัย
4. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)
5. ท่านพุทธทาส
6. พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
7. พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว)
ฯลฯ
>>> ผู้มีปัญญาเพียงพินิจดู ก็จะรู้ว่า สิ่งที่ท่านเหล่านั้นทำ ต้องทำด้วยชีวิต ผู้มีเจตนาทุจริต ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ศาสนสถานและศาสนบุคคลที่ท่านสร้าง ก็จะเป็นสมบัติของแผ่นดินและพระพุทธศาสนาสืบไป
ผู้มีเจตนาไม่สุจริต มักจะอยู่ไม่ได้นาน ก็จะมีเหตุให้ต้องออกไป ยากที่จะยืนหยัดทำความดี โดยไม่หวั่นไหวต่อคำติฉิน นินทาใดๆ
คนในโลกนี้ส่วนมากคิดถึงตนเองก่อน ถ้าเป็นเรื่องส่วนรวมก็ทำเล็กๆน้อยๆ เหยาะแหยะ ผู้ที่มีใจใหญ่เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดี ใหม่ๆจึงมักถูกมองว่าทำอะไรใหญ่โต เว่อร์! เพี้ยน มีวัตถุประสงค์แอบแฝง
เราชาวพุทธเมื่อเห็นพระภิกษุรูปใดตั้งใจทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็ง แม้เริ่มต้นเราอาจจะไม่เห็นด้วยในวิธีการ เพราะความไม่คุ้นเคย เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกใหม่ เราอย่าเพิ่งไปตำหนิด่าว่าท่าน จะกลายเป็นวิบากกรรม คนที่ไปด่าพระภิกษุที่ทำความดีอย่างอุทิศชีวิตเหมือนพระโพธิสัตว์ ว่าบ้า ผลกรรมนั้นน่ากลัวมาก <<<
" ใครชอบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบไหน ก็ไปชวนคนให้มาปฏิบัติแบบที่ตัวเองชอบ อย่าเอาเวลา สติปัญญา ความสามารถของเราไปใช้ในทางทำลาย ก่อบาป แต่ให้เอามาใช้ในทางสร้างสรรค์กันดีกว่า จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า ตัวเราก็จะได้ไม่มีกรรมหนักติดตัวด้วย "
ิ
by พุทธสามัคคี