….สรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เหมือนดอกไม้ เดิมเราเคยเห็นมันเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ ไม่นานก็เจริญเติบโตขึ้น แตกใบแผ่กิ่งก้านสาขา ผลิดอกออกผล ให้ความสดชื่นแก่ทุกชีวิต ครั้นไม่นานดอกไม้นั้น ก็เหี่ยวแห้งร่วงโรยไปตามกาลเวลา สังขารร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน ความแก่ ความเจ็บ ความตายได้คืบคลานเข้ามาในชีวิตเรา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกอนุวินาที โดยที่ตัวเราเอง สังเกตไม่ออก เมื่อเวลาผ่านไป ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๖๐ ปี จึงรู้ว่าเราแก่ลงทุกขณะ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องกันไปสู่ความเสื่อมสลาย ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาท ควรให้ชีวิตผ่านไปด้วยการสร้างบุญบารมี ฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่งให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวให้ได้ เพื่อเราจะได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง
มีถ้อยคำที่ชูชกได้สรรเสริญพระเวสสันดรไว้ว่า
.....“พระราชาเวสสันดรพระองค์ใดเป็นที่พึ่งอาศัยของยาจกทั้งหลาย ดุจธรณีเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์ทั้งหลาย หรือเป็นที่ไปมาของยาจกทั้งหลาย ดุจสาครเป็นที่ไหลหลั่งไปมาแห่งแม่น้ำทั้งหลาย พระราชาเวสสันดรพระองค์นั้น เมื่อเสด็จประทับแรม ณ ราวไพร ได้พระราชทานพระโอรสพระธิดาแก่ข้าพระบาท”
.....เรื่องพระเวสสันดรกำลังจะดำเนินมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว เพราะพระองค์ได้บริจาคทรัพย์สมบัติทุกอย่างครบทั้ง ๕ ประการ ที่เรียกว่า ปัญจมหาบริจาค เพียงแต่ผลแห่งการบริจาค ยังไม่เกิดเป็นอานิสงส์ทันตาเห็นในทันทีทันใด ยังไม่ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากมหาชนเท่าที่ควร เพราะปุถุชนส่วนใหญ่มีใจ ไม่ใหญ่เหมือนท่าน ท่านได้รับคำชมก็เฉพาะผู้ที่มาขอรับบริจาคทานจากพระองค์เท่านั้น เช่น เหล่ายาจก วณิพกพเนจร และพราหมณ์ชูชก เป็นต้น ครั้งนี้เรามาติดตามเรื่องราวการสร้างมหาทานบารมีต่อไปว่า ผลแห่งมหาทานบารมีทุกอย่าง ที่ได้สั่งสมไว้ จะนำความชื่นใจกลับมาสู่พระองค์อย่างไร
*เมื่อเหล่าอำมาตย์ และพระประยูรญาติทรงรู้ว่า พระเวสสันดรได้บริจาคพระโอรส
.....พระธิดาทั้งสองให้กับพราหมณ์เฒ่าชูชก เพื่อนำไปเป็นข้าทาสรับใช้ ต่างเกิดความไม่พอใจ พากันตำหนิในทานของพระองค์ว่า การบริจาคบุตรภรรยาเป็นสิ่ง ที่ไม่ถูกต้อง พระชาลีราชกุมารได้ทรงฟังคำของพวกอำมาตย์ แม้ไม่ปรารถนาจะเป็นข้าทาสของคนอื่น แต่เพราะปรารถนาจะทำปณิธานของพระบิดาให้เต็มเปี่ยม จึงไม่พอใจต่อคำครหานั้น ได้ตรัสแย้งไปตามสติปัญญาของตนเองว่า “ทาส ม้า แม่ม้าอัสดร รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐ ไม่มีในนิเวศน์ของพระราชบิดา ข้าแต่พระอัยกาเจ้า พระราชบิดาไม่สามารถจะบริจาคทานอย่างอื่นได้ เพราะพระบิดาไม่มีเงิน ทอง แก้วมณี หม่อมฉันผู้เป็นโอรสธิดา ได้ชื่อว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่พระบิดาควรบริจาคเป็นทานโดยแท้” พระเจ้ากรุงสัญชัยได้ทรงสดับเช่นนั้น จึงตรัสว่า “ดูก่อน พระหลานน้อย พวกเราสรรเสริญทานของบิดาเจ้า มิได้ติเตียนทานเหล่านั้น เพียงแต่บิดาของหลานให้หลานทั้งสองแก่คนขอทาน พระหฤทัยของบิดาเจ้าเป็นอย่างไรหนอ ทำไมจึงมีจิตใจกระด้าง บริจาคได้กระทั่งบุตรธิดาถึงเพียงนี้”
.....พระชาลีราชกุมารทูลชี้แจงว่า “ข้าแต่พระอัยกามหาราช พระบิดาของหม่อมฉัน เมื่อพระราชทานหม่อมฉันทั้งสองแก่คนขอทานแล้ว พอสดับถ้อยคำอันน่าสงสาร ที่น้องกัณหากล่าวอ้อนวอน พระองค์ทรงมีพระทัยเป็นทุกข์และเร่าร้อน มีพระเนตร แดงก่ำดังดาวโรหิณี มีพระอัสสุชลหลั่งไหลไม่หยุดเลย พระบิดาของหม่อมฉันมีพระทัยอ่อนโยน ประกอบด้วยกรุณาต่อหม่อมฉันทั้งสองยิ่งนัก”
.....พระเจ้ากรุงสัญชัยทอดพระเนตรเห็นพระราชนัดดาทั้งสองยังไม่พ้นจาก มือพราหมณ์ชูชก จึงตรัสว่า “พระมารดาของหลานทั้งสองก็เป็นราชบุตรี พระบิดาของหลานก็เป็นราชโอรส แต่ก่อนหลานทั้งสองขึ้นนั่งบนตักปู่ แต่ทำไม เดี๋ยวนี้มายืนอยู่ไกลเสียเล่า” ชาลีราชกุมารกราบทูลว่า “พระชนนีของหม่อมฉัน ทั้งสองเป็นพระราชบุตรี พระชนกของหม่อมฉันทั้งสองเป็น พระราชบุตร แต่หม่อมฉันทั้งสองเป็นทาสของพราหมณ์ เพราะฉะนั้นหม่อมฉันทั้งสองจึงต้องยืนอยู่ไกล พระเจ้าข้า”
.....พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า “หลานรักทั้งสองอย่าได้พูดอย่างนี้เลย หทัยของปู่เร่าร้อนเหลือเกิน กายของปู่ก็เหมือนถูกยกขึ้นไว้บนจิตกาธาน ปู่ไม่ได้ความสุขในราชบัลลังก์นี้เลย ปู่จะเอาทรัพย์สมบัติที่มีอยู่นี้ไถ่หลานทั้งสองคืนมา หลานทั้งสองจักไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป” ทรงสอบถามถึงราคาของหลานทั้งสองว่า ถูกพระบิดาตีราคาไว้เท่าไร จะได้จัดหาทรัพย์ให้ชูชกเพื่อไถ่หลานคืนมา
จากนั้นทรงรับสั่งให้รีบจัดหาทาสี ทาส โคตัวเมียตัวผู้ ช้าง อย่างละ ๑๐๐ แก่พราหมณ์เป็นค่าไถ่พระราชกุมารี และทองคำ ๑,๐๐๐ ตำลึง เป็นค่าไถ่พระกุมาร ทรงพระราชทานทุกอย่างตามที่ตกลงกันไว้ อีกทั้งพระราชทานปราสาท ๗ ชั้น ให้กับชูชก อีกด้วย ตั้งแต่นั้นมา ชูชกก็มีบริวารมากมาย พร้อมทั้งรวบรวมทรัพย์ขึ้นไปเสวยสุขอยู่บนปราสาท บริโภคโภชนะมีรสเลิศ เสวยสุขอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อนเลยในชีวิต
.....เนื่องจากชูชกบริโภคอาหารเกินประมาณ กินเข้าไปเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่ม ท้องโตขึ้นทุกวันๆ เพราะความไม่รู้จักประมาณ และเมามันในความอร่อยของพระกระยาหารซึ่งเป็นของสำหรับพระราชา เมื่อกินมากเข้าๆ อาหารที่บริโภคเข้าไปย่อยไม่ได้ ได้รับความทรมานแสนสาหัส ในที่สุดก็ท้องแตกตายบนปราสาทนั่นเอง พระเจ้าสัญชัยให้ทำฌาปนกิจชูชก พร้อมตีกลองใหญ่ป่าวประกาศว่า ใครเป็นญาติของชูชกให้มาขนสมบัติไป ครั้นไม่พบคนที่เป็นญาติของชูชกแม้แต่คนเดียว จึงโปรดให้ขนทรัพย์ทั้งหมด คืนเข้าพระคลังหลวงตามเดิม
.....พระเจ้าสัญชัยทรงให้ประดับราชกุมารกุมารีทั้งสองอย่างดี ประหนึ่งเทพกุมาร ให้แต่งองค์ด้วยอิสริยาภรณ์ชั้นเลิศ และทรงไต่ถามถึงพระบิดาของหลานทั้งสองว่า มีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง ทรงดำเนินชีวิตในป่าใหญ่อย่างไร พระนัดดาทั้งสองทูลว่า พระชนกชนนีทั้งสองไม่ค่อยมีพระโรคาพาธ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการเสาะแสวงหาผลไม้ จากนั้นได้ทูลเล่ากิจวัตรประจำวัน และสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจภายในเขาวงกต พร้อมกับทูลทักท้วงพระอัยกาว่า “บุตรทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก ย่อมเป็นที่รักของผู้เป็นพ่อแม่ พระอัยกาคงไม่รักพระโอรสเป็นแน่ จึงทรงปล่อยให้ทั้งสองพระองค์อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง”
.....พระเจ้าสัญชัยทรงชี้โทษของพระองค์ว่า “ดูก่อนหลานเอ๋ย การที่ปู่ให้ขับไล่บิดาของเจ้าผู้ไม่มีโทษ เพราะถ้อยคำของชาวสีพีนั้น นับว่าปู่ได้กระทำความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เหมือนทำลายความเจริญของแคว้นสีพี เพราะฉะนั้นสิ่งใดๆ ของปู่ที่อยู่ในเมืองนี้ก็ดี ทรัพย์และธัญชาติที่มีอยู่ก็ดี ปู่ขอยกให้แก่บิดาของเจ้าทั้งสิ้น ขอให้เวสสันดรจงมาเป็นราชาปกครองในสีพีรัฐเถิด”
.....พระชาลีราชกุมารผู้เป็นลูกยอดกตัญญู ได้โอกาสก็กราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ พระชนกของหม่อมฉันคงจะไม่เสด็จมาเป็นพระราชาของชาวสีพี เพราะถ้อยคำของหม่อมฉัน ขอพระองค์เสด็จไปอภิเษกพระราชบิดาด้วยพระองค์เองเถิด”
.....เจ้าสัญชัยทรงสดับเช่นนั้น ด้วยความรักในโอรส และหลานอย่างสุดกำลัง จึงรีบรับสั่งให้ตีกลองใหญ่ป่าวประกาศ ทั่วเมืองว่า กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองพลราบ จงผูกสอดศัตราวุธ ชาวนิคม พราหมณ์ปุโรหิตจงติดตามเราไปที่เขาวงกต เพื่ออัญเชิญพระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรีกลับมาครองราชสมบัติ ทรงรับสั่งให้ทหารแผ้วถางหนทางให้มีพื้นราบเรียบ ตั้งแต่กรุงเชตุดรจนถึงเขาวงกต และตกแต่งหนทางให้งดงาม อีกทั้งประดับประดาด้วยสิ่งต่างๆ อีกมากมาย ส่วนพระเวสสันดรจะเสด็จกลับกรุงเชตุดร เพื่อมาบำเพ็ญมหาทานต่อไปหรือไม่นั้น และเหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร มาติดตามกันต่อในตอนต่อไป
(*มก. เวสสันดรชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๗๗๒)