พร ะเวสสันดรขอพร๘ประการ

วันที่ 07 มิย. พ.ศ.2549

 

.....ในเส้นทางแห่งการสร้างบารมีนักสร้างบารมีจะต้องมีจิตประกอบด้วยเมตตา ปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะเมตตาธรรมคํ้าจุนโลก ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เป็นจุดเชื่อมโยงใจให้มนุษย์ และสรรพสัตว์อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ความเมตตานี้เป็นหนึ่งในบารมี ๑๐ ทัศ ที่พระบรมโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์ จึงจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ กระแสแห่งความเมตตานี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อใจเราหยุดนิ่ง มีความสุข ความสงบ และความบริสุทธิ์ภายในอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ โดยต้องเริ่มจากการเจริญ สมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ

 

.....พระเวสสันดรได้อธิษฐานขอพรกับท้าวสักกเทวราชว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ เมื่อหม่อมฉันบริจาคทาน ทรัพย์สมบัติพึงไม่หมดสิ้นไป บริจาคแล้วไม่พึงเดือดร้อนภายหลัง เมื่อกำลังบริจาคพึงทำจิตให้ผ่องใส เมื่อหม่อมฉันพ้นจากอัตภาพนี้ พึงไปสู่สวรรค์ ถึงชั้นดุสิตอันวิเศษ จุติจากชั้นดุสิตมาเป็นมนุษย์ พึงเป็นผู้ไม่เกิดอีก

 

.....ผู้มีบุญญาธิการที่ได้สั่งสมบุญไว้มากๆ ถึงจุดหนึ่งปัญหาและอุปสรรคย่อมไม่มีความหมาย มารก็กีดขวางไม่ได้ เมื่อถึงคราวอธิษฐานเพื่อปรารถนาสิ่งใด แรงอธิษฐานนั้นก็จะกลายเป็นจริงทุกประการ เหมือนอย่างพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ผู้รักในการบริจาคทานยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ การให้นั้นฝังแน่นอยู่ในจิตใจ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของพระองค์ จึงยากที่ใครจะมาบอกให้เลิกทำทาน ขนาดถูกขับไล่ พระองค์ก็ไม่เคยน้อยเนื้อตํ่าใจ บริจาคได้กระทั่งพระโอรสพระธิดา และมเหสีผู้เป็นที่รักยิ่ง

 

.....เพราะฉะนั้นเมื่อทรงกล้าสละในสิ่งที่ชาวโลกสละได้ยากถึงคราวอธิษฐานจิตปรารถนาสิ่งใด ท่านก็จะได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาอย่างเป็นอัศจรรย์ เพราะกำลังบุญบารมีที่มีมาก และมากพอที่จะได้ตรัสรู้เป็น

 

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเหลืออีกเพียงภพชาติเดียวเท่านั้น คือ หลังจากที่ได้ไปอุบัติเป็นจอมเทพ และเสวยสุขในสวรรค์ชั้นดุสิต ก็จะเสด็จอุบัติบนโลกมนุษย์อีกครั้ง เมื่อทรงออกผนวชแสวงหาโมกขธรรม จะได้บรรลุอนุตตร-สัมมาสัมโพธิญาณ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

 

.....จากที่พระอินทร์ได้มาเสริมบารมีของพระเวสสันดร ด้วยการแปลงเป็นพราหมณ์แก่ มาทูลขอพระนางมัทรีราชเทวี พระองค์ทรงยอมที่จะสละมเหสีผู้เคยร่วมทุกข์ ร่วมสุขมาด้วยกัน อีกทั้งพระนางมัทรีก็ไม่ลังเลพระทัย ทรงทำความปรารถนาของพระสวามีให้เต็มเปี่ยม แต่พระอินทร์ก็ได้มอบพระนางมัทรีฝากไว้กับพระเวสสันดร นั่นแสดงว่า พระเวสสันดรไม่อาจให้พระนางมัทรีแก่ใครได้อีกต่อไป จากนั้นทรงเนรมิตอัตภาพจากพราหมณ์แก่เป็นท้าวสักกเทวราชตามเดิม ประทับยืนอยู่บนอากาศ ตรัสชมเชยบรมกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ว่า สมแล้วที่เป็นขัตติยราชสมบูรณ์ด้วยพระวงศ์ ได้ประสูติดีแล้วแต่พระมารดาพระบิดา แม้ถูกเนรเทศเสด็จมาแรมราตรีอยู่ในราวไพรป่า ก็ยังบำเพ็ญมหาทานบารมีไม่ได้ขาด

 

.....*ด้วยความเลื่อมใสในพระเวสสันดร ผู้มีพระหฤทัยมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวสูงส่งหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก ทำให้พระอินทร์ถึงกับเปล่งวาจาอนุญาต ให้พระเวสสันดรขอพรได้ถึง ๘ ประการ พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่ของสรรพสัตว์ ถ้าพระองค์จะประทานพรแก่หม่อมฉัน ขอพระชนกของหม่อมฉัน พึงทรงยินดีให้หม่อมฉันกลับจากป่านี้ สู่นิเวศน์ของหม่อมฉัน พึงเชื้อเชิญด้วยราชบัลลังก์ หม่อมฉันเลือกข้อนี้เป็นพรข้อที่ ๑

 

.....หม่อมฉันไม่ชอบการฆ่าคน แม้ทำผิดร้ายแรงพึงทำคน มีโทษให้พ้นจากการประหารชีวิต หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพร ข้อที่ ๒ ชนเหล่าใดเป็นคนแก่ เป็นคนหนุ่ม และเป็นคนวัยกลางคน ชนเหล่านั้นพึงอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีพ หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพร ข้อที่ ๓ หม่อมฉันไม่พึงถึงภรรยาของชนอื่น พึงขวนขวาย แต่ในภรรยาของตน และไม่พึงตกอยู่ในอำนาจของสตรีเหล่านั้น หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพรข้อที่ ๔

 

.....ข้าแต่ท้าวสักกะ บุตรของหม่อมฉันที่พลัดพรากไปนั้น พึงมีอายุยืน พึงครองแผ่นดินโดยธรรม หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพรข้อที่ ๕ เมื่อราตรีสิ้นไป ทันทีที่แสงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณปรากฏขึ้นมา ขอให้ภิกษาหารอันเป็นทิพย์พึงปรากฏมี หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพรข้อที่ ๖

 

.....เมื่อหม่อมฉันบริจาคทาน ทรัพย์สมบัติพึงไม่หมดสิ้นไป บริจาคแล้วไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อกำลังบริจาคพึงทำจิตให้ผ่องใส หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพรข้อที่ ๗ และเมื่อหม่อมฉันพ้นจากอัตภาพนี้ พึงไปสู่สวรรค์ถึงชั้นดุสิตอันวิเศษ จุติจากชั้นดุสิตนั้นมาเป็นมนุษย์ พึงเป็นผู้ไม่เกิดอีก หม่อมฉันขอเลือกข้อนี้เป็นพรข้อที่ ๘

 

.....ท้าวสักกะจอมเทพได้สดับพระดำรัสของพระมหาสัตว์แล้ว ทรงใคร่ครวญพิจารณาถึงพร ๘ ประการ ว่าจะสำเร็จหรือไม่ และจะหาทางช่วยให้ความปรารถนาของพระโพธิสัตว์สำเร็จได้อย่างไร ครั้นพิจารณาความเป็นไปได้ครู่หนึ่ง ก็ตรัสบอกว่า อีกไม่นาน พระราชบิดาผู้บังเกิดเกล้าของพระองค์ จักเสด็จมาพบพระองค์ แล้วจักพระราชทานเศวตฉัตร อีกทั้งเชิญเสด็จไปกรุงเชตุดร ความปรารถนาของพระองค์ทุกอย่างจักถึงที่สุด ในไม่ช้านี้ ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด

 

.....ครั้นประทานโอวาทแด่พระมหาสัตว์แล้ว ท้าวสักกเทวราชได้เสด็จกลับสู่ทิพยสถานของพระองค์ ส่วนพระเวสสันดรโพธิสัตว์และพระนางมัทรี ต่างดีใจที่ความปรารถนาทั้ง ๘ ประการ จะกลายเป็นจริง อีกทั้งทรงปีติยินดีที่รู้ว่า การทำความดีทุกอย่างของพระองค์นั้น อยู่ในสายตาของชาวสวรรค์ ทั้งสองพระองค์ได้ประทับแรมอยู่ในอาศรมที่ท้าวสักกะประทานให้

 

.....ฝ่ายพราหมณ์ชูชกพาพระโอรสพระธิดาทั้งสองพระองค์ เดินทางไกลถึง ๖๐ โยชน์ ครั้นถึงเวลาเย็น ก็ผูกพระกุมารกุมารีทั้งสองไว้ที่กอไม้ ให้บรรทมบนพื้น ส่วนตนเองปีนขึ้นต้นไม้นอนในระหว่างคาคบกิ่งไม้ เพราะเกรงพวกสัตว์ร้ายจะมาทำร้าย เหล่าเทพยดาได้ช่วยกันอารักขาพระกุมารกุมารีในเวลากลางคืน เนรมิตอาหารที่อร่อยให้เสวย ดูแลรักษาทะนุถนอมเหมือนมารดาเฝ้าดูแลบุตรน้อยด้วยความรักไม่จืดจางฉะนั้น

 

.....เมื่อตื่นขึ้นยามเช้าตรู่ ชูชกได้พาทั้งสองกุมารเดินทางต่อไป จนถึงทางแยกระหว่างกรุงเชตุดรกับแคว้นกาลิงคะ เมื่อไปถึงทางแยกชูชกไม่มั่นใจว่าจะเป็นเส้นทางไหน ฝ่ายเทวดาก็ดลใจให้พราหมณ์มุ่งหน้าไปทางกรุงเชตุดร เดินทางได้เพียงกึ่งเดือนเท่านั้นก็ถึงกรุงเชตุดร

 

.....ใกล้รุ่งของเช้าวันนั้น พระเจ้ากรุงสัญชัยสีวีมหาราชทรงพระสุบินว่า มีชายคนหนึ่งผิวดำ นำดอกปทุม ๒ ดอก มาวางไว้ในพระหัตถ์ จากนั้นก็สะดุ้งตื่นจากที่บรรทม ตรัสเรียกพวกพราหมณ์ผู้รู้ทำนายพระสุบิน พลางตรัสถามว่า จะมีเหตุมงคลอะไรเกิดขึ้น

 

.....พวกพราหมณ์ทูลพยากรณ์ว่า พระประยูรญาติของพระองค์ที่จากไปนานจักกลับมา พระองค์จะได้พบกับพระราชนัดดาทั้งสองที่จากไปนาน ขณะนั้นเอง พระเจ้าสัญชัยทอดพระเนตรไปทางถนน ทรงเห็นสองกุมารกุมารีซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คนหนึ่งเหมือนพระชาลี คนหนึ่งเหมือนกัณหาชินา จึงเกิดความสงสัย แต่คิดไม่ถึงว่ากุมารและกุมารีนี้จะเป็นหลานของพระองค์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์ไปเชื้อเชิญเข้ามาใกล้ๆ และไต่ถามพราหมณ์ถึงความเป็นมาเป็นไปของกุมารกุมารีผู้มีรูปงามทั้งสองว่า เป็นลูกของใคร เดินทางมาจากไหน

 

.....ด้วยความชะล่าใจ ชูชกจึงทูลไปตามความเป็นจริงทุกประการว่า ตนได้กุมารกุมารีทั้งสองนี้มาจากพระเวสสันดร แต่พระเจ้าสัญชัยไม่ทรงเชื่อ จึงตรัสถามว่า ท่านพูดจาขอบุตรธิดาอย่างไร ถึงได้เด็กทั้งสองนี้มา ใครบ้างจะให้บุตรธิดาแก่คนอย่างท่าน ใครจะมีความคิดอย่างนี้ ถึงขนาดต้องนำลูกน้อยที่น่ารักของตน ให้เป็นทาสของคนอื่น นี่เป็นความคิดของพระเจ้าสัญชัยที่ทรงคาดคิดไม่ถึงว่า พระโอรสของพระองค์จะกล้าหาญชาญชัย สละได้แม้กระทั่งพระโอรสพระธิดาซึ่งอยู่ในวัยน่ารักแก่พราหมณ์คนนี้ แต่เมื่อพูดถึงวิสัยของพระโพธิสัตว์ แล้ว ท่านกล้าเสียสละ และตัดสินใจที่จะดำรงตนเป็นผู้ให้โดยตลอด โดยไม่กลัวต่อคำครหานินทาของใคร เรามาติดตามต่อในคราวหน้าว่า พระเจ้าสัญชัยจะทรงทำให้พระกุมารและพระกุมารีทั้งสอง พระองค์ พ้นจากการเป็นทาส และเป็นอิสระได้อย่างไร

_____________________________________________________

*มก. เวสสันดรชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๗๖๙

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.074152016639709 Mins