ถาม.. นมัสการหลวงพ่อครับ ธรรมะในพระพุทธศาสนามีมากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เราควรจะเลือกหมวดธรรมใดให้นักเรียนระดับชั้นประถม และมัธยมได้ศึกษาและปฏิบัติครับ
ตอบ.. โยมอาจารย์ ในเรื่องของเยาวชน ถ้าเรามองให้ซึ้ง ๆ แล้ว ปัญหาของเด็กนักเรียนมีไม่มาก แต่ว่าผู้ใหญ่ทำให้มากเรื่องเอง ธรรมะมี ๘๔,๐๐๐ ข้อก็จริง แต่ว่าทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อนี้ สรุปแล้วมีเรื่องเดียว คือเรื่อง “กรรม” ถ้าเข้าใจเรื่องกรรมเสียแล้วว่า กรรมเกิดมาอย่างไร แล้วจะแก้ไขอย่างไรจึงจะหมดกรรมกันเสียที ก็เท่ากับว่า ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อ เราเข้าใจหมดเลย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักไว้ว่า ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อก็จริง เริ่มต้นต้องเริ่มที่เข้าใจถูกเรื่องกรรม ตั้งแต่ง่ายไปหายาก ถ้าพูดอีกทีหนึ่งคือ เวลาจะปลูกฝังธรรมะให้เด็ก เรื่องที่เราจะต้องให้ความสนใจให้มากคือ ปลูกฝังเรื่องสัมมาทิฐิเบื้องต้นให้กับเขาก่อน คือ
๑. ทานดีจริง สอนให้เด็กรู้จักการให้ทาน เพราะชีวิตเราอยู่ด้วยการให้
๒. การสงเคราะห์กันดีจริง สอนให้เด็กรู้จักสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน
๓. การให้เกียรติ ให้ความเคารพดีจริง สอนให้เด็กรู้จักมีความเคารพเกรงใจ ให้เกียรติกัน คือไม่จับผิดนั่นเอง
ทั้ง ๓ ข้อนี้ เราปูพื้นฐานได้ดี ข้ออื่นนอกนั้น เดี๋ยวจะง่าย จากนั้นโยมอาจารย์ ก็สังเกตดูเด็กว่า เขามีนิสัยใจคอหนักแน่นไปทางด้านไหนก็ปูพื้นให้ไปตามนั้น แต่ว่าจะปูพื้นต่อไปอย่างไรก็ตาม อยากจะฝากท่านผอ. คุณพ่อคุณแม่ คุณครูที่ฟังทางบ้านว่าเมื่อฝึกให้เด็กมีนิสัยชอบช่วยเหลือแบ่งปัน รู้จักให้เกียรติไม่จับผิด และเคารพผู้ใหญ่แล้ว จากนั้นจึงสอนให้เด็กรู้จัก ตั้งแต่สวดมนต์ไหว้พระ ทำทาน ถือศีล ตักบาตร เป็นต้น จะสอนอะไรก็ทำกันไป แต่ว่าใน ๓ เรื่องแรกนั้นอย่าพลาด ถ้าเราไม่พลาดอย่างนี้แล้วเดี๋ยวอย่างอื่นก็ไปได้เอง คุณครู คุณพ่อ คุณแม่ต้องจำเอาไว้ในใจเลยว่า ทุกอย่างที่คิด ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด ไม่ว่าจะดี หรือไม่ดี มันเป็นกรรม ถ้าสิ่งที่คิด พูด ทำลงไปนั้นเป็นในเชิงลบ เด็กก็จะมีแผลในใจติดเชิงลบเอาไว้ ถ้าสิ่งที่เราคิด พูด ทำในเชิงบวก เด็กก็จะได้ของดี ๆ ติดไป
เพราะฉะนั้น หลวงพ่อขอฝากคุณพ่อ คุณแม่ คุณครูทุกคนว่า ถ้ารักลูก รักลูกศิษย์จริงละก็ ต้องทำตัวอย่างดี ๆ ให้เขาดู ถ้ามีตัวอย่างดี ๆ แล้วถึงจะจำธรรมะกี่ข้อ ๆ ไม่ได้ หลวงพ่อก็ไม่ค่อยเป็นห่วง เพราะเด็กจะได้ดีโดยอัตโนมัติเอง แต่ถ้าสอนธรรมะไปกี่หมื่นกี่แสนข้อ แล้วคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู เป็นตัวอย่างที่ดีไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นการสอนล้มเหลวเปล่า เราต้องทำความเข้าใจไว้ด้วยว่า นิสัยลูกหลานของเรานั้นเกิดจากการย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ ถ้าย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำในเชิงลบจะได้นิสัยเสีย ย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำในเชิงบวกจะได้นิสัยดี ๆเพราะฉะนั้น สิ่งใดที่คุณพ่อคุณแม่ทำบ่อย ๆ ย้ำบ่อย ๆ ต้องดูให้ดีนะว่าสิ่งนั้นอยู่ในเชิงลบหรือเชิงบวก ถ้าเห็นลูกหลานของเราทำอะไรในเชิงลบขึ้นมา ต้องรีบแก้ไขทันที อย่าปล่อยเอาไว้ เห็นปุ๊บต้องรีบแก้ปั๊บ ไม่อย่างนั้นลูกหลานเราทำในเชิงลบบ่อย ๆ จะกลายเป็นนิสัยแล้วแก้ยากปู่ ย่า ตา ทวดเตือนเอาไว้ ข้าวแต่ละคำ น้ำแต่ละอิ่ม นมแต่ละอึก หากปฏิบัติด้วยความไม่ระมัดระวังจะกลายเป็นนิสัยเสีย ๆ ของลูกหลานเราได้ ถ้าระมัดระวังอย่างดี ข้าวและนมนั้นจะเป็นทั้งสติเป็นทั้งปัญญาอยู่ในตัว