ปฏิญาณตนเลิกเหล้าเข้าพรรษา

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2549

     เป็นความจริงหรือที่ว่า ชาวพุทธ (บางคน) คือนักติดเหล้าติดยา จากผลการสำรวจล่าสุดของเอแบคโพลระบุว่า เฉพาะเขต กทม.และปริมณฑล มีวัยรุ่นติดยาบ้าเพิ่มขึ้นกว่า 700 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุซึ่งเจ้าหน้าที่ปราบปรามไม่จริงจัง ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด ยังปรากฏผู้มีอิทธิพล และแหล่งมั่วสุมของเยาวชน ขณะเดียวกับที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า คนไทยดื่มเหล้ามากถึงขนาดติดอันดับ 5 ของโลก โดยมีมูลค่าการบริโภคมากถึงปีละ 125,000 ล้านบาท กลายเป็นปัญหาสังคมที่พยายามแก้ไขอย่างไรก็ยังไม่ลุล่วง

ผลการสำรวจดังกล่าวให้ภาพชัดเจนแทบไม่ต้องอธิบายว่า หากคนในวัยทำงานหรือเยาวชนคนหนุ่มสาวของเรา หันเข้าหาเหล้าหายามากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงาน ประสิทธิผลในการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมโลก ในอันจะดำรงสถานะของประเทศให้อยู่ดี ท่ามกลางการแข่งขันทางการค้าและสถานการณ์การเมืองระดับสากลที่อ่อนไหว จะปรากฏผลอย่างไร เมื่อผลสำรวจล่าสุดห้าปีก่อนบอกว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มเหล้ามากถึง 15 ล้าน 3 แสนคน เป็นสตรีเสีย 2 ล้าน 3 แสนคน

โรงเรียนสามารถนำพระศาสนาทุกศาสนาที่ลูกหลานไทยปวารณาตัวนับถือ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการอบรมบ่มนิสัย ให้เติบโตขึ้นเป็นอนาคตของสังคมที่หนักแน่นในศีลธรรม และไม่ยอมปวกเปียกต่อสิ่งเร้าเช่นเหล้าหรือยาต่างๆ ได้

โรงเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆ ต้องรณรงค์อย่างเข้มข้นเรื่องศีลธรรมจรรยา กับเด็กตั้งแต่ชั้นประถม จนอาจสร้างเครือข่ายผู้ปกครองที่ป้องกันการเสพติดเหล้ายา ให้บรรดาผู้ปกครองขยายขอบเขตการรณรงค์ ไปสู่สำนักงานเป็นกลุ่มหรือชมรมหรือสมาคม ที่ต่อต้านการเสพติดเหล้ายาอย่างเป็นรูปธรรมกว้างขวางต่อไปอีก

- โครงการ รณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรณรงค์เพื่อส่งเสริมให้ศาสนิกชน ทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเองและครอบครัว ด้วยการงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ,โรคร้ายกว่า 50 โรค และปัญหาสังคมต่างๆ

ทำไมต้องรณรงค์ จากสถานการณ์ปัญหา

  • คนไทยดื่มจัดเป็นอันดับ ๕ ของโลก เฉลี่ยคิดเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ๑๓.๕๙ ลิตรต่อคนต่อปี
  • มูลค่าโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงปี 2539 – 2544 เฉลี่ยสูงกว่าสองพันล้านต่อปี
  • อัตราตายต่อปีจากอุบัติเหตุจราจร ของไทยนั้นสูงกว่าเพื่อน โดยไทยตายเฉลี่ยปีละประมาณ 20 ต่อแสน ขณะที่ อินโดนีเซียประมาณ 15 ต่อแสน ศรีลังกาและอินเดียประมาณ 10 ต่อแสน และกลุ่มประเทศตะวันตก (อเมริกา ยุโรป) ประมาณ 5 ต่อแสน ในช่วงเวลาเดียวกัน (2539 –2544)

ไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 2.23% ของ GNP ประมาณ 70,000 ล้าน ในปี 2536 จากอุบัติเหตุจราจรอย่างเดียว หากนับความสูญเสียอื่นๆอันเป็นผลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่น โรคตับ กระเพาะและการบาดเจ็บจากความรุนแรงที่แอลกอฮอล์มีส่วนเกี่ยวข้อง ตัวเลขดังกล่าวจะสูงกว่า แสนล้านต่อปี

แม้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อผลเสียต่อสุขภาพ ทว่า แนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยกลับสูงขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ดื่ม ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6 แสนคนต่อปี และในแง่ของปริมาณการดื่มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีคนไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราว 15.3 ล้านคน และคิดเป็นมูลค่าการบริโภค 125,000 ล้านบาทต่อปี

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในเชิงสุขภาพและสังคมในหลายด้าน ที่เห็นชัดเจนที่สุด ได้แก่ การที่ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจราจรมากกว่าร้อยละ 50 ของที่เกิดทั้งหมด และเกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงต่อครอบครัว และบุคคลอื่น ๆ ในลักษณะของการก่ออาชญากรรม
อย่างไรก็ตาม ช่วงเทศกาลเข้าพรรษานับเป็นช่วงเทศกาลที่ชาวพุทธจำนวนมากถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการปฎิบัติธรรม และจากการศึกษาวิจัย พบว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเมื่อปี 2544 มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 11.8 ตอบว่าตั้งใจงดดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษา (ประมาณจำนวนผู้งดดื่ม 1.8 ล้านคน และมูลค่าการบริโภคลดลง 3,600 ล้านบาท)

ด้วยตระหนักในความสำคัญของผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งต่อคุณภาพชีวิตของบุคคลและสังคม และตระหนักในความสำคัญของเทศกาลเข้าพรรษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับองค์กรศาสนาต่างๆ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรต่างๆ จัดให้มีโครงการรณรงค์ "งดเหล้า เข้าพรรษา" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสังคมจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
- เพื่อให้องค์กรต่างๆ มีมาตรการและกิจกรรมสนับสนุนการงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของสมาชิกขององค์กรและชุมชน

จากนั้นจึงได้มีการร่วมรณรงค์อย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานต่างๆจนถึงปัจจุบัน..

ร่วมปฏิญาณตนงดเหล้า 3 เดือน สสส.เตือนคนจนยิ่งดื่มยิ่งจน เนื่องจากเหล้าเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นทำให้สูญเงินในกระเป๋า และยังมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีปากเสียงกับผู้อื่น อุบัติเหตุ และปัญหาครอบครัว อีกทั้งข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ประมาณการไว้ในปี 2548 ว่า คนไทยดื่มสุรา 10,000 ล้านลิตร โดยหมดค่าใช้จ่ายซื้อหาสุรามากถึง 187,000 ล้านบาท และยิ่งน่าเป็นห่วงมากตรงที่ผู้มีรายได้น้อยยิ่งมีแนวโน้มติดสุรา แยกเป็นผู้มีรายได้น้อยกว่า 2,000 บาท/เดือน หมดเงินค่าเหล่า 100 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 5 ของรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท/เดือน จะมีค่าใช้จ่ายในการดื่มมากถึง 415 บาท/เดือน คิดเป็นร้อยละ 2 จะเห็นได้ชัดเจนว่าคนจนยิ่งดื่มก็จะยิ่งจน และจะอยู่ในวังวนหมุนเวียนอย่างนี้

ดังนั้น อยากจะฝากถึงผู้ที่ติดสุราขอให้หันมาสนใจชีวิตและครอบครัว และน่าจะใช้โอกาสในช่วงเข้าพรรษาปฏิญาณตนงดเหล้า สามารถขอรับคำปฏิญาณตนได้ที่สถานีอนามัย สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือ www.stopdrink.com และ www.thaihealth.or.th หากทำได้รับรองว่าช่วง 3 เดือนนี้จะมีเงินเหลือเก็บอย่างแน่นอน รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ในด้านดี ๆ กับชีวิตที่จะตามมาอีกด้วย…เข้มแข็งตกลงกับตนเองว่า พรรษานี้ต้องทำให้ได้อย่างแน่นอน.

.อ้างอิง....สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

รัชตา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020866068204244 Mins