จากที่เกิดวันเข้าพรรษา เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา เหตุเพราะสมัยก่อนฝนตกชุก การเดินทางสัญจรไปมาก็ไม่สะดวก อีกทั้งไปเหยียบต้นข้าวของชาวบ้าน ในสมัยที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และได้ให้พระภิกษุสงฆ์ออกไปตามเขตต่าง ๆ เพื่อประกาศพระศาสนา จนมีผู้ขออุปสมบทมากขึ้น จึงทำให้มีพระภิกษุสงฆ์ออกไปเผยแพร่พระศาสนากันมากขึ้น แม้ในฤดูฝนก็มิได้หยุดพัก การเดินทางก็ไม่สะดวก ทั้งยังเหยียบข้าวกล้าให้เกิดความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า "ไฉนเล่า พระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล เหยียบข้าวกล้าและติณชาติให้ได้รับความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย พวกเดียรถีย์และปริพพาชกเสียอีกยังพากันหยุดพักในฤดูฝน ถึงนกยังรู้จักทำรังที่กำบังฝนของตน"
พระพุทธองค์ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงกลางเดือน ๑๑ ห้ามมิให้เที่ยวสัญจรไปมา
วันเข้าพรรษาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้มีอยู่ ๒ วัน คือ
๑.ปุริมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญ กลางเดือน ๑๑
๒.ปัจฉิมมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒
ภิกษุเข้าพรรษาแล้ว หากมีกิจธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ แต่จะต้องกลับมา ยังสถานที่เดิมภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด ที่เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" เหตุที่ทรงอนุญาตให้ไปได้ด้วยสัตตาหกรณียะนั้นมี ๔ อย่างดังต่อไปนี้
๑. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้าไปเพื่อรักษาพยาบาล
๒. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้าไปเพื่อห้ามปราม
๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาะมาปฏิสังขรณ์
๔. ทายกต้องการบำเพ็ญบุญกุศลส่งคนมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขาได้
แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจจลักษณะอนุโลมเข้าในข้อนี้ด้วย
ในเวลาจำพรรษาเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นจะอยู่ต่อไปไม่ได้ และไปเสียจากที่นั้น พรรษาขาด
แต่ท่านไม่ปรับอาบัติ (ไม่เป็นอาบัติ) มีดังนี้ คือ
๑. ถูกสัตว์ร้าย โจร หรือปีศาจเบียดเบียน
๒. เสนาสนะถูกไฟไหม้ หรือน้ำท่วม
๓. ภัยเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่โคจรคาม ลำบากด้วยบิณฑบาต ในข้อนี้ชาวบ้านอพยพจะตามเขาไปก็ควร
๔. ขัดสนด้วยอาหาร โดยปกติไม่ได้อาหารหรือเภสัชอันสบาย ไม่ได้อุปัฏฐากอันสมควร (ข้อนี้หากพอทนได้ก็ควรอยู่ต่อไป)
๕ .มีหญิงมาเกลี้ยกล่อม หรือมีญาติมารบกวนล่อด้วยทรัพย์
๖. สงฆ์ในอาวาสอื่นจวนจะแตกกันหรือแตกกันแล้ว ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อสมานสามัคคีได้อยู่ (ในข้อนี้ ถ้ากลับมาทัน ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะ)
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตการอยู่จำพรรษาในสถานที่บางแห่ง แก่ภิกษุบางรูปผู้มีความประสงค์ จะอยู่จำพรรษาในสถานที่ต่าง ๆ กัน สถานที่เหล่านั้น คือ
๑. ในคอกสัตว์ (อยู่ในสถานที่ของคนเลี้ยงโค)
๒. เมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรอนุญาตให้ย้ายตามไปได้
๓. ในหมู่เกวียน
๔. ในเรือ
พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้อยู่จำพรรษาในสถานที่อันไม่สมควร สถานที่เหล่านั้นคือ
๑. ในโพรงไม้
๒. บนกิ่งหรือคาคบไม้
๓. ในที่กลางแจ้ง
๔. ในที่ไม่มีเสนาสนะ คือไม่มีที่นอนที่นั่ง
๕. ในโลงผี
๖. ในกลด
๗. ในตุ่ม
ข้อห้ามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ
๑. ห้ามมิให้ตั้งกติกาอันไม่สมควร เช่น การมิให้มีการบวชกันภายในพรรษา
๒. ห้ามรับปากว่าจะอยู่พรรษาในที่ใดแล้ว ไม่จำพรรษาในที่นั้น
อนึ่ง วันเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นกรณียพิเศษสำหรับภิกษุสงฆ์ เมื่อใกล้วันเข้าพรรษาควรปัดกวาด เสนาสนะสำหรับจะอยู่จำพรรษาให้ดี ในวันเข้าพรรษา พึงประชุมกันในโรงอุโบสถไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาต่อกันและกัน หลังจากนั้นก็ประกอบพิธีอธิษฐานพรรษา ภิกษุควรอธิษฐานใจของตนเองคือตั้งใจเอาไว้ว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
"อิมสฺมึ อาวาเส อิมัง เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ แปลว่า ข้าพเจ้าจะอยู่จำพรรษาในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือน"
หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้ว ก็นำดอกไม้ธูปเทียนไปนมัสการบูชาปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูปเทียนไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์และพระเถระผู้ที่ตนเองเคารพนับถือ
อานิสงส์แห่งการจำพรรษา
เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนได้ปวารณาแล้ว ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งการจำพรรษา ๕ อย่าง ตลอด ๑ เดือนนับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ
๑. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์กัณฑ์
๒. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
๔. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอ
และยังได้โอกาสเพื่อที่จะกราลกฐิน และได้รับอานิสงส์พรรษาทั้ง ๕ ขึ้นนั้นเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือน ในฤดูหนาว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ อีกด้วย
ประโยชน์ในการเข้าพรรษา..
1. เป็นช่วงที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา หากภิกษุสงฆ์เดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ อาจไปเหยียบต้นกล้า หรือสัตว์เล็ก สัตว์น้อย ให้ได้รับความเสียหายล้มตาย
......... 2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน พระภิกษุสงฆ์จะได้หยุดพักผ่อน
......... 3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจน เตรียมการสั่งสอน ประชาชน เมื่อถึงวันออกพรรษา
.......... 4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาต่อไป
........... 5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตรหล่อเทียนเข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนา ตลอดเวลาเข้าพรรษา
ในวันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม
สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
สำหรับการปฏิบัติอื่น ๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง