นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง : อัลเบิร์ต ไอน์ สไตน์

วันที่ 03 พย. พ.ศ.2557

 
 
นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง : อัลเบิร์ต ไอน์ สไตน์

 

       ทฤษฎีสัมพัทธภาพของนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ ไอน์สไตน์ เป็นผลงานที่น่าเกรงขาม เพราะไม่เพียงแต่สะท้อนถึงภูมิปัญญาที่เหนือมนุษย์ แต่ยังสะท้อนถึงความละเอียดอ่อนในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ หลักการคำนวณของเขา สามารถนำไปพิสูจน์กฎทางฟิสิกส์อื่นๆได้อย่างสอดคล้อง

     ทฤษฎีของไอน์สไตน์ครอบคลุมทฤษฎีอื่นๆ ที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนก่อนหน้าเขาเคยคิดขึ้นมาสั่งสมกันนับพันปี

       มนุษย์บนโลกเป็นหนี้บุญคุณของนักวิทยาศาสตร์มหาอัจฉริยะของโลกสองคน คือ นิวตัน กับ ไอน์สไตน์ ถ้าไม่มีนักวิทยาศาสตร์สองคนนี้ ทิศทางการพัฒนาของโลกจะเปลี่ยนไปมหาศาล ถ้าไม่มีกฎของนิวตัน โลกอาจไม่มี ตึกสูงๆ สะพานแขวน ไม่มีดาวเทียม ไม่มีเครื่องบิน จนไปถึงไม่มีเครื่องจักรกล ไม่มีรถ เครื่องซักผ้า เครื่องปั่นน้ำผลไม้ ฯลฯ หรือแม้แต่เครื่องเล่นเกือบทุกชนิดในสวนสนุกเพราะทั้งหมดนี้ล้วนแล้วมีพื้นฐานพัฒนามาจากมาจากกฎของนิวตันทั้งสิ้น

      กฎของนิวตันก่อให้เกิด “คลื่นลูกที่สอง” มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นบนโลก วิศวกรนำกฎของนิวตันไปสร้างเครื่องจักรกลมากมาย มีการสร้างเรือไอน้ำลำใหญ่ สะพานขึงทั่วยุโรป พัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ในอีกด้านก็มีมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่ง นำกฎของนิวตันไปสร้างอาวุธทำลายล้างสูง หลังจากนิวตันเสียชีวิตไปประมาณสองร้อยปี สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็อุบัติขึ้น ผู้คนกว่าเก้าล้านคนเสียชีวิตด้วยสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ตามกฎนิวตันนั่นก็คือ “ปืนกล” โชคยังดีที่รถถัง จรวด เครื่องบิน ยังพัฒนาไปได้ไม่มากขณะนั้น

       ขณะที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งประทุขึ้น ขณะนั้น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มีอายุได้ 35 ปี และคิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ รวมไปถึงทฤษฎีสำคัญอื่นๆที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกมากมายสำเร็จเรียบร้อยแล้ว

       ถ้ากฎของนิวตัน ก่อให้เกิดคลื่นลูกที่สองเปลี่ยนแปลงโลก ถึงขนาดปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทฤษฎีของไอน์สไตน์ ก็ก่อให้เกิด “คลื่นลูกที่สาม” เกิดการปฏิวัติเทคโนโลยี มีการพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร โทรคมนาคม อย่างมหาศาล ระบบดาวเทียม เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่น DVD ระบบ GPS ไมโครเวฟ แสงเลเซอร์ จอภาพโทรทัศน์ เครื่องถ่ายเอกสาร โทรศัพท์มือถือ Fiber optic ฯลฯ หรือใครที่สายตาสั้นแล้วไปทำเลสิก ก็ต้องนึกขอบคุณไอน์สไตน์เพราะทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วพัฒนามาจากพื้นฐานทางทฤษฎีของไอน์สไตน์ทั้งสิ้น

       และเช่นกัน เหรียญย่อมมีสองด้าน มีมนุษย์อีกพวกหนึ่ง นำทฤษฎีของไอน์สไตน์ ไปพัฒนาสร้างอาวุธทำลายล้างสูง อย่างระเบิดปรมาณู และทดลองไปทิ้งที่ฮิโรชิมาเป็นที่แรก โลกต้องตะลึงในอานุภาพของมัน ด้วยมวลของมวลสารเพียง 0.7 กรัม สลายตัวภายใน 0.01 วินาที ให้พลังงานออกมาขนาดทำเอาเมืองฮิโรชิมาราบไปทั้งเมือง นักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าโลกไม่มีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์มาเกิด ความรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางเทคโนโลยีต่างๆที่เห็นกันอยู่ต้องใช้เวลาอีกหลายศตวรรษกว่าจะประสบความสำเร็จเช่นนี้ หรืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้

นักวิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนา

       แม้ว่าไอน์สไตน์จะไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่การค้นพบสัจธรรมบางอย่างของจักรวาลผ่านจินตนาการและทฤษฎีทางฟิสิกส์ของเขา เข้าใกล้ และเข้าถึงความจริงบางด้านของธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบและประกาศมาก่อนหน้านับพันปี และเมื่อภายหลัง ไอน์สไตน์ได้ศึกษาเรื่องราวของพุทธศาสนาจากเพื่อนนักเขียนคนหนึ่ง ไอน์สไตน์ถึงกับประหลาดใจ ที่การค้นพบของเขาเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของศาสนาแห่งจักรวาล

      ความจริงของจักรวาลมีเพียงความจริงเดียว มีระบบระเบียบและความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาค้นหา โดยใช้หลักทางตรรกะ เหตุผล พิสูจน์ออกมาเป็นตัวเลขและทฤษฎีทางฟิสิกส์ ในขณะที่พระพุทธองค์ใช้ปัญญาญานในการค้นคว้าความจริงแท้แห่งจักรวาล ในเมื่อต่างฝ่ายต่างต้องการหาความจริงแท้อันเดียวกัน แต่วิถีทางต่างกัน ในที่สุด เมื่อเข้าใกล้ความจริงแท้ จะพบว่าการค้นพบของทั้งสองวิถีมีความสอดคล้องกันอย่างมหัศจรรย์

     หลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก หันมาศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิทยาศาสตร์สายควอนตั้ม เนื่องจากเพราะพวกเขาตระหนักว่า การค้นพบสัจจธรรมความจริงของพุทธศาสนา คือจุดมุ่งหมายเดียวกัน กับการค้นหาความจริงแท้ของจักรวาลในทางฟิสิกส์

นักวิทยาศาสตร์คนเก่งเขานับถือศาสนาอะไรกัน ?


       แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใครถามไอน์สไตน์ว่า เขานับถือศาสนาอะไร เขาจะตอบว่า เขาไม่นับถือศาสนา เขาเป็นคนประเภทไม่มีศาสนา แต่ถ้าถามต่อว่าแล้วเขาชมชอบศาสนาไหนเป็นพิเศษหรือปล่าว เขาจะตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า “ ศาสนาพุทธ ”

      เขาเคยพูดว่า “ ความรู้สึกทางพุทธศาสนา (เขาใช้คำว่าศาสนาจักรวาล) เป็นแรงจูงใจที่แข็งแกร่งที่สุด และ ประเสริฐที่สุดสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ( I maintain that the cosmic religious feeling is the strongest and noblest motive for scientifice research ) ”

       และหลังจากคิดทฤษฎีสัมพัทธภาพได้ ไอน์สไตน์ ออกมาให้ความเห็นว่า .....“.....ภารกิจอันสำคํญยิ่งของนักฟิสิกส์ก็คือ การแสวงหากฎหรือทฤษฏีที่ตรงกับความเป็นจริงแห่งสากลมากยิ่งขึ้น มันไม่มีวิธีการทางคำนวณหรือตรรกศาสตร์ใดๆ ที่จะนำไปสู่กฎหรือทฤษฏีสากลเช่นที่ว่านี้ได้ นอกเสียจากการหยั่งรู้ของจิตเท่านั้น ซึ่งมีพื้นฐานคล้ายๆกับพุทธิปัญญาญาน ”.....


นักวิทยาศาสตร์ผู้ไม่เกรงกลัวต่อความตาย !


       ไอน์สไตน์ เป็นคนที่ไม่กลัวความตาย เขาเคยเขียนไว้ว่า “การกลัวความตายคือความกลัวที่ไม่มีเหตุผลที่สุดในบรรดาความกลัวทั้งปวง ( The fear of death is the most unjustified of all fears )” เวลาเขาป่วยเขาไม่ต้องการพบหมอด้วยซ้ำ เขาเขียนพินัยกรรมเตรียมตัวตายไว้ก่อนเสียชีวิตจริงถึง 5 ปี

       ในวันที่เสียชีวิต นางพยาบาลที่เฝ้าอยู่เล่าว่า เขามีสติมากและได้พยายามพูดอะไรออกมาสองสามคำแต่เป็นภาษาเยอรมันซึ่งพยาบาลฟังไม่ออก แล้วเขาก็จากไปอย่างสงบ พร้อมทิ้งเศษกระดาษแผ่นหนึ่งที่เต็มไปด้วยการคำนวณเรื่องสนามเอกภาพการรวมแรงในจ้กรวาลไว้ข้างๆเตียง

      ไอน์สไตน์เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ.1955 อายุ 76 ปี พร้อมทั้งทิ้งงานที่คั่งค้างอยู่คือ การคิดทฤษฎีที่จะรวมแรงพื้นฐานในธรรมชาติที่มีอยู่ 4 ชนิดเข้าไว้ในกฎเดียวกันคือ

1. แรงโน้มถ่วง
2. แสงหรือแรงแม่เหล็กไฟฟ้า
3. แรงนิวเคลียร์ชนิดอ่อน
และ 4. แรงนิวเคลียร์ชนิดเข้ม

     ซึ่งถ้ารวมได้จริง ความลับของจักรวาลจะถูกเปิดเผยมากกว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพหลายเท่า การเหาะเหินเดินอากาศของมนุษย์จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา

       ทฤษฎีนี้จะสามารถอธิบายอนุภาคพื้นฐานทุกชนิดในจักรวาลรวมไปถึงอธิบายได้ถึงปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและแรงทุกระบบในจักรวาลได้หมด
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016142416000366 Mins