พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการปลูกฝังจากสมเด็จพระบรมราชชนนีให้คำนึงถึง พระราชภารกิจที่ทรงมีต่อชาติบ้านเมืองมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงยึดเป็นหลักในการอบรมสั่งสอนพระราชโอรสพระราชธิดาในกาลต่อมาด้วย โดยจะทรงสอนด้วย การกระทำมากกว่าคำพูด...ปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างอันดี เพื่อให้ดำเนินรอยตาม
“สมเด็จพระบรมราชชนนี” ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเลี้ยงดูและวางแนวทางการ ดำเนินพระชนม์ชีพแก่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงรับพระราชภาระการอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสามตามลำพัง นับตั้งแต่ “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก” เสด็จสวรรคตเมื่อปี 2472 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 1 พรรษา กับ 9 เดือน นับเป็นพระราชภาระที่ใหญ่หลวงยิ่งนัก แต่ด้วยความทุ่มเทและเอาพระราชหฤทัยใส่ พระราชโอรสและพระราชธิดาจึงทรงพระเจริญ งามพร้อมด้วยพระราชจริยวัตร และสมบูรณ์ด้วยพระสติปัญญา
การเลี้ยงดูอบรมพระราชโอรสพระราชธิดานั้น มีพระราชดำริว่า ต้องยึดหลักสำคัญ 2 ประการคือ ต้องมีอนามัยสมบูรณ์ และต้องมีระเบียบวินัย แต่ไม่บังคับจนเข้มงวดเกินไป โดยทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เรื่องพระกระยาหาร ของพระราชโอรสพระราชธิดาให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ให้ได้ทรงเล่นออกกำลังกาย ทรงสั่งสอนให้อยู่ในระเบียบวินัย และทำอะไรเป็นเวลา การเล่นบางอย่างที่เด็กชอบเล่น แต่ผู้ใหญ่มักไม่ยอมให้เด็กเล่น เพราะเกรงอันตรายและกลัวสกปรกเลอะเทอะ สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงอนุญาตให้พระราชโอรสพระราชธิดาทรงเล่นได้ แต่จะทรงควบคุมดูแลด้วยพระองค์เองให้ทรงเล่นในที่ปลอดภัย พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีโอกาสได้เล่นสนุกอย่างที่เด็กๆชอบ ทรงเล่นทราย, ขุดดิน, เล่นน้ำ และจุดไฟ
ทรงเน้นอย่างยิ่งว่า ทั้งสามพระองค์ต้องทรงอยู่ในระเบียบวินัย ต้องทรงปฏิบัติทุกอย่างเป็นเวลา ไม่ใช่เถลไถลไป ทำโน่นทำนี่ และต้องทรงตรงต่อเวลา...
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เคยพระราชทานสัมภาษณ์ไว้ในหนังสือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่า “ในครอบครัวของเรา ความรับผิดชอบเป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย”
แม้ขณะที่ทรงเป็น “เจ้าฟ้า” แล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงรับเงินค่าขนมไม่มากนัก จะเพียงพอสำหรับซื้อขนม หรือของเล่นชิ้นเล็กๆเท่านั้น โดยสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงสอนให้ประหยัด และรู้จักเก็บเงินฝากธนาคาร จะไม่ทรงซื้อของเล่นให้บ่อย เว้นแต่วันปีใหม่และวันพระราชสมภพ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงอยากได้ของเล่นอื่นๆ ก็ต้องทรงเก็บเงินค่าขนมเข้าหุ้นกันซื้อของเล่น เมื่อมีพระชนมพรรษาสูงขึ้น มักจะทรงประดิษฐ์ของเล่นเอง ทรงต่อเรือลำเล็กๆ และแทนที่จะทรงซื้อวิทยุสำเร็จรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมเชษฐาก็จะทรงช่วยกันเปิดตำราประกอบวิทยุ และทรงต่อจนสำเร็จ ถ้าเป็นลักษณะนี้ สมเด็จพระบรมราชชนนีจะทรงสนับสนุนเป็นพิเศษ เพราะโปรดให้พระราชโอรสทำกิจกรรมที่มีประโยชน์
เรื่องการอบรมเด็กให้มีระเบียบวินัย ทำอะไรตามเวลา และเน้นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา และทรงมีครอบครัวของพระองค์เอง ก็ทรงนำมาเป็นหลักปฏิบัติในการอบรมพระราชโอรส พระราชธิดา โดยทรงมอบหมายพระราชภาระในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนพระราชโอรส พระราชธิดาให้เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าไว้ในหนังสือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ว่า เมื่อทรงพระเยาว์ พระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ทรงปฏิบัติตามตารางเวลาที่พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงวางไว้โดยเคร่งครัด เช่น “เช้าต้องดูหนังสือ กินข้าวแล้วเดินไปโรงเรียน ตอนบ่ายกลับมาขึ้นเฝ้าฯ ให้ท่านเห็นหน้าเห็นตา บ่ายสองสามโมงออกอากาศ (เดินเล่น) ห้าโมงขึ้นมากินข้าวเย็น...ทุ่มหนึ่งก็เข้านอน”
หลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงงานหนัก ทุ่มเทพระองค์เพื่อประเทศชาติ และพสกนิกรชาวไทย จนแทบหาเวลาส่วนพระองค์ไม่ได้ แต่ก็มิได้หมายความว่า จะทรงละเลยบทบาทสำคัญ ในฐานะพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทั้ง 4 พระองค์
พระราชดำรัสสั้นแต่ชัดเจนของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่หน้ากุฏิสมเด็จพระญาณสังวร (สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน) วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2518 ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือเทิดพระเกียรติ “ในหลวงของเรา” คงพอจะเปิดเผยให้เห็นถึงความรู้สึกเบื้องลึกในพระราชหฤทัยที่พระราชโอรส องค์นี้ทรงมีต่อทูลกระหม่อมพ่อ... “...ข้าพเจ้าก็เป็นข้าพระบาทคนหนึ่งของพระเจ้าอยู่หัว มีหน้าที่ต้องเคารพบูชาพระองค์ เช่นเดียวกับท่านทั้งหลาย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งสุดจะพรรณนา ก็ตอบได้แต่เพียงเท่านี้”.
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงสะท้อนถึงภาพความเป็นกษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลกของทูลกระหม่อมพ่อว่า “ท่านทำงานหนักมาก ทรงเสียสละมาก เป็นตัวอย่างที่ดีของลูกๆ ท่านไม่เคยคิดถึงความสุขของตัวเอง ท่านไม่เสด็จฯออกนอกประเทศมานานแล้ว เพราะทรงห่วงประเทศมาก ท่านจะทรงคิดถึงแต่ประชาชนของท่าน และจะทรงสอนลูกๆ เสมอว่า ให้นึกถึงคนอื่นก่อนตัวเอง ก่อนจะไปสอนคนอื่นได้ เราต้องทำตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ปกติจะไม่ได้สอนกันตรงๆ แต่จะทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่าง ให้ลูกๆได้เรียนรู้จากการตามเสด็จฯ”
และเพราะตามเสด็จฯถวายการรับใช้อย่างใกล้ชิดที่สุด ในฐานะที่ทรงเป็นราชเลขาส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงทรงทราบดีถึงพระราชหฤทัยลึกๆของทูลกระหม่อมพ่อ ได้พระราชทานสัมภาษณ์ไว้ในหนังสือเทิดพระเกียรติ “ในหลวงของเรา” จัดทำโดย “นายอัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์” ว่า “ทูลกระหม่อมพ่อจะพระราชทานคำแนะนำในทุกด้านที่ไปทูลถาม เพราะทรงทราบทุกเรื่อง นอกจากนั้นยังทรงสนับสนุนในการค้นคว้าหาความรู้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทรงสนับสนุนให้ใช้ความคิดในทุกด้าน ไม่เคยทรงเบื่อที่จะฟังการออก ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ จะทรงช่วยวิจารณ์ความคิดนั้นๆ และพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมด้วย... ทูลกระหม่อมพ่อจะทรงใช้ในงานจิปาถะต่างๆ ไม่ได้มีหน้าที่แน่นอน นอกจากได้สนองพระเดชพระคุณในการคอยดูแลสอดส่องทุกข์สุข และให้กำลังใจประชาชน คอยดูแลในด้านงานอาชีพ
...สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรด คือการกระทำที่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อประชาชนชาวไทย...เวลาที่ทรงพระสำราญ คือ เวลาที่เสด็จออกวางโครงการพัฒนาประเทศ และเห็นว่าพระราชดำริคงจะมีประโยชน์ต่อ ประชาชนในเวลาที่เห็นผลจากโครงการต่างๆ อีกประการหนึ่งคือ การที่ได้ทอด พระเนตรเห็นประชาชนมีน้ำใจต่อท่านและประชาชนด้วยกัน ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะมีส่วนช่วยพระองค์ท่านได้ โดยการช่วยตัวเอง ช่วยเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ มีความรักความสามัคคีกัน ทำตนเป็นพลเมืองดี เห็นแก่ชาติบ้านเมือง”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีรับสั่งถึงทูลกระหม่อมพ่อด้วยความปลื้มปีติ ...ปกติแล้ว ทูลกระหม่อมพ่อทรงให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคเสียส่วนใหญ่ งานของพระองค์ท่านกับของฉันนั้นก็โยงกันบ้าง ไม่โยงกันบ้าง อย่างกรณีฝนหลวง ท่านก็ทรงมีรับสั่งถามมาว่า ใช้สารเคมีอย่างนี้ๆแล้วดีหรือยัง หรือสารเคมีอย่างนี้ถ้าจะหามากๆ หาได้ที่ไหน”