คนไทยมีสุขภาพน่าห่วง

วันที่ 15 สค. พ.ศ.2549

เมื่อพูดถึงสุขภาพ คนทั่วไปจะนึกถึง "ป่วยหรือไม่?" มากกว่าที่จะคิดถึง "ชีวิตเป็นปกติสุขแค่ไหน" ปัจจุบันมีแนวคิดใหม่เรื่องสุขภาพที่ชวนให้คนคิดถึงโรคและโรงพยาบาลน้อยลงและชวนให้หันไปนึกถึง "ปกติสุขของชีวิต" กันมากขึ้น

ปกติการตรวจสุขภาพจะให้ข้อมูลในด้านโรคทางกาย ทุกวันนี้โรงพยาบาลหลายแห่ง ชักชวนให้คนทั่วไปตรวจสุขภาพประจำปี ในทรรศนะทางวิชาการแล้วการตรวจร่างกายประจำปีแบบ"เหวี่ยงแห"มักจะเสียค่าใช้จ่ายแพงจนอาจไม่ค่อยคุ้มค่า โดยเฉพาะหากผู้จ่ายไม่ใช่ตนเองแต่เป็นส่วนรวม(เช่น เงินภาษี เงินออมของส่วนรวม เป็นต้น)เรื่องนี้จึงต้องใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขช่วยจัดระบบ

อย่างไรก็ดีสุขภาพมิใช่มีเพียงมิติทางกาย แต่รวมถึงมิติทางจิต ทางสังคมและทางจิตใจด้วย รศ.น.พ.รณชัย คงสกนธ์ จิตแพทย์แห่งโรงพยาบาลรามาธิบดีได้ให้ข้อมูลผมเมื่อเร็วๆนี้ ข้อมูลนี้เป็นผลสำรวจภาวะสุขภาพคนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี และสงขลา

ให้ ข้อมูลเน้นสุขภาพเพียงสองมิติ ได้แก่ กายและจิต มิได้พาผู้คนเข้าไปตรวจในโรงพยาบาลแต่ใช้วิธีการสำรวจแบบทำวิจัย ใช้แบบสำรวจมาตรฐานสากลที่มีผู้เชี่ยวชาญแปลไปใช้ในกว่า 15 ประเทศแล้ว เรียกว่าแบบสำรวจ"SF-36"วิธีนี้เขาเน้นประเมินสภาพปกติสุขของชีวิต มิใช่ตรวจค้นหาโรคหนึ่งโรคใด

ผลพบว่าสถานะสุขภาพคนไทยเฉลี่ยเทียบกับคนอเมริกันนั้น ในจำนวนรวม 8 หมวดคนไทยมีสุขภาพด้อยกว่าคนอเมริกันถึงเจ็ดหมวด ได้แก่ สุขภาพทางกายด้อยกว่าครบสี่หมวด กับสุขภาพจิตอีกสามในสี่หมวด

นั่นคือ คนไทยประกอบกิจกรรมทางกายได้ด้อยกว่า มีอุปสรรคต่อกิจวัตรประจำมากกว่า บังเกิดความเจ็บปวดบ่อยกว่า และประเมินสุขภาพทั่วไปของตนเองในระดับด้อยกว่าคนอเมริกัน ส่วนทางจิตนั้นคนไทยมีปัญหาทางอารมณ์มากกว่า มีปัญหาในกิจกรรมทางสังคมมากกว่า ตลอดจนสุขภาพจิตโดยทั่วไปต่ำกว่าด้วย

หมวดเดียวก็คนไทยได้คะแนนสูงกว่าคนอเมริกันก็คือ"ความมีชีวิตชีวากระปรี้กระเปร่า(Vitality)ข้อมูลนี้อาจสะท้อนถึงวัฒนธรรมยิ้มสยามของเรา คนไทยนั้นต่อให้ทุกข์อย่างไรก็มักจะยังหัวเราะได้

ผู้อ่านคงจะค่อนขอดว่าเอาคนไทยไปเทียบกับฝรั่งมะกันที่รายได้เขาสูงกว่ามาก วัฒนธรรมก็ต่างกันอักโข เราลองมาดูข้อมูลสุขภาพคนไทยเทียบกับคนจีนฮ่องกงที่รวยกว่าเราเล็กน้อยกับคนจีนแผ่นดินใหญ่กันบ้าง

ปรากฏว่าผลเปรียบเทียบไม่เปลี่ยนแปลงมากเลย คนไทยโดยเฉลี่ยมีสุขภาพด้อยกว่าคนจีนฮ่องกงจำนวนหกในแปดหมวด ในขณะที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีสุขภาพดีกว่าคนไทยถึงห้าในแปดหมวด

คุณหมอรณชัย ลองใช้แบบทดสอบนี้กับผู้ป่วยทางจิตด้วย แถมได้นำผลจากผู้ป่วยมาเปรียบเทียบกับคนปกติปรากฏว่า คนไทยปกติมีภาวะสุขภาพสูงกว่าผู้ป่วยทางจิตอย่างชัดเจนจำนวน 2 หมวด สูงกว่าเพียงเล็กน้อย 5 หมวด และต่ำกว่าผู้ป่วยอีก 1 หมวด

ในบรรดาคนไทยที่สำรวจกันพบว่าชาวกรุงเทพฯ น่าเป็นห่วงที่สุด จำนวนมากตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า หงุดหงิด วิตกกังวล ภาวะนี้มากยิ่งกว่าภาคอื่น

หันมาทบทวนตนเองแล้วก็สงสัยว่าเราจะเข้าข่ายดังกล่าวด้วยไหม?

ที่มา โดย : นายแพทย์ สุภกร บัวสาย

ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017780764897664 Mins