บวชแล้วเป็นคนสุกและสุข
โบราณเรียกคนที่บวชแล้วว่า ทิด(มาจากคำว่า บัณฑิต แปลว่า ผู้ศึกษาแล้ว) หมายถึงคนสุก คือกิเลสในตัวมันสุก ยังไม่ถึงกับหมดไป แต่อาศัยการบำเพ็ญตบะในเพศสมณะย่างกิเลสทั้งโลภ โกรธ หลง จนมันสุก คือมันไม่ดิบแล้ว ฤทธิ์มันอ่อนลงไปมากแล้ว ในสมัยโบราณถ้าใครยังไม่บวชแล้วไปขอลูกสาวใครใครเขา เขาจะไม่ยกให้ เพราะเขายังไม่ไว้ใจว่าจะพาลูกสาวเขาไปดีได้หรือไม่ ต้องเคยบวชเรียนมาก่อนจนเป็นทิดเขาถึงจะยกให้ ฉะนั้นการบวชเรียนอย่างนี้ถูกต้องที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุด เป็นธรรมเนียมไทยแต่โบราณมา ให้ช่วยกันรักษาต่อไปเพื่อตัวของเราเป็นสุข เพื่อสังคมประเทศชาติ และเพื่อการจรรโลงพระพุทธศานาด้วย
เป็นพระไม่ใช่ง่าย
เป็นพระไม่มีอะไรง่าย ฉันอาหาร 2 มื้อ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ทำกิจวัตร กิจกรรม แต่ก็สบายใจ เป็นความสุขที่ไม่ได้อิงวัตถุ แต่เกิดจากความสงบใจ ซึ่งเป็นสุขที่ประณีตกว่าความสุขที่อิงวัตถุ บวชแล้วทำให้ใจไม่ยึดเกาะไม่ติดวัตถุมากเกินไป เพราะเคยสัมผัสแล้วว่าความสุขจริงๆนั้นเหนือกว่าสุขจากวัตถุมากแล้วเราจะแยกออกด้วยว่า ระหว่างคำว่า “ความจำเป็น” กับ “ความต้องการ” ต่างกันอย่างไร แต่กว่าจะถึงขั้นนั้นได้ ต้องใช้เวลาฝึกตนอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะลึกซึ้ง