เรื่องการเกษตรเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชาวไทย มากกว่า 40 ล้านคน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระราชหฤทัย ดังพระราชดำรัสความว่า
"...บ้านเมืองไทยของเรานี้ถึงจะมีรายได้ทางอื่นอยู่มาก แต่ก็ต้องถือว่าเลี้ยงตัวอยู่ได้ด้วยการเกษตร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นตลอดไปที่จะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาพร้อมกับเกษตรกรทุกระดับให้พัฒนาก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อให้การผลิตมีคุณภาพสูงขึ้น โดยไม่ผลาญทรัพยากรให้เปลืองเปล่า หากแต่ให้ได้ผลผลิตเพียงพอเลี้ยงตัวและจำหน่ายได้ดีมีรายได้ทวีขึ้นจึงจะช่วยให้เกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่และเป็นกำลังสำคัญของประเทศ มีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงแจ่มใส แล้วทำให้ประเทศชาติสุขสมบูรณ์ขึ้นได้..."
พระองค์ทรงทราบดีว่า ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต จึงให้ความสนพระทัย และพระราชทานแนวพระราชดำริ ในด้านงานการพัฒนาที่ดินมากมายหลายประการ เรื่องสำคัญที่แสดงถึงความเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการพระราชทานคำจำกัดความเกี่ยวกับดินที่เหมาะสมกับการทำการเกษตร ดังนี้
ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรมต้องมีคุณสมบัติต่างๆ คือ แร่ธาตุ ที่เรียกว่า ปุ๋ย ส่วนประกอบสำคัญ คือ
1. N (nitrogen) ในรูป nitrate (ไนเตรต)
2. P (phosphorus) ในรูป phosphate (ฟอสเฟต)
3. K (potassium) หรือ โพแทสเซียม และแร่ธาตุอื่นๆ O H Mg Fe ได้แก่ O (oxygen), H (hydrogen), Mg (magnesium), Fe (iron)
มีระดับ เปรี้ยว ด่าง ใกล้เป็นกลาง (pH 7) มีความเค็ม ต่ำ มีความชื้นพอเหมาะ (ไม่แห้ง ไม่แฉะ) มีความโปร่งพอเหมาะ (ไม่แข็ง)
"การรู้จักรักษาทรัพยากรดินในพื้นที่ที่ทำการเกษตรบนต้นน้ำลำธารและในที่ลุ่มหุบเขาต่ำลงมาก็มีความสำคัญยิ่ง นอกจากเป็นการช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ใช้ประโยชน์สร้างผลิตผลเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่องแล้ว การอนุรักษ์ดินบนพื้นที่ลาดเขาเหล่านั้นยังช่วยชะลอการไหลของน้ำบ่าหน้าดินที่อาจเกิดขึ้นบนพื้นที่สูงชันนั้นได้ นอกจากนี้ ดินในพื้นที่เหล่านั้นยังมีอิทธิพลต่อการตรึงน้ำในหน้าฝนไว้เพื่อการปลดปล่อยลงมาให้เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลในช่วงฤดูแล้ง เป็นหลักการอันสำคัญยิ่งของการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ว่า "ต้องเก็บน้ำไว้ในดิน รักษาดินให้อยู่กับที่"
"การจัดเตรียมดินสำหรับเพาะปลูกตามพื้นที่ลาดชัน จะต้องเก็บรักษาผิวดินเดิมซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูงไว้ และต้องปลูกหญ้าหรือพืชอื่นยึดผิวดินไว้ไม่ให้ถูกฝนหรือกระแสน้ำชะล้างได้ เพราะหากผิวดินถูกชะล้างทำลายเสียแล้วก็จะทำการเพาะปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากดินจะจืดและเสื่อมคุณภาพ"
ทั้งนี้นอกเหนือจากแนวพระราชดำริดังกล่าวแล้ว พระองค์ท่านได้ทรงแนะนำราษฎรให้มีการปลูกพืชสกุลถั่วหมุนเวียนในท้องนาขั้นบันไดสลับกับการปลูกข้าวเพื่อบำรุงดิน ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2521 ณ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
"ราษฎรน่าจะหมุนเวียนการปลูกพืชประเภทถั่วสลับกับการปลูกข้าวเพื่อการบำรุงดินและการใช้ที่ดินสำหรับการนำมาหาเลี้ยงชีพให้เป็นประโยชน์ตลอดปี"
แม้แต่ในพื้นที่โครงการปลูกสร้างสวนป่า พระองค์ท่านทรงเห็นว่าหากพื้นที่ใดที่พอเป็นประโยชน์ต่อราษฎรในการทำเกษตรกรรม โดยใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำได้เพื่อจะได้มีที่ทำกินถาวรก็เห็นสมควรดำเนินการ ทั้งนี้พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริ ณ บ้านต้นลุง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2522 ดังนี้
"การทำโครงการปลูกสร้างสวนป่านั้น น่าจะพิจารณาสงวนพื้นที่เหมาะสมไว้สำหรับเป็นแปลงเพาะปลูกบ้าง ทั้งนี้แม้กระทั่งพื้นที่ลาดชันตามไหล่เขาก็อาจทำเป็นลักษณะขั้นบันไดเพื่อทำเป็นที่ทำกินของราษฎร เช่น ปลูกข้าวไว้ได้เช่นกัน สำหรับราษฎรที่มาช่วยงานปลูกป่าทดแทนจะได้สามารถเข้าทำกินและอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกเขตป่าสงวนเพื่อไปเปิดที่ทำกินใหม่อีกต่อไป"
พระปรีชาญาณที่ส่งผลสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่ลาดชันทั้งในพื้นที่สวนป่าและพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำทุกภูมิภาคของประเทศก็คือพระราชดำริ ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ "ให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝก ซึ่งจะช่วยทั้งการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยรากของหญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในดินอันสามารถปลูกพืชอื่นได้ เช่น ข้าวโพดหรือต้นไม้ยืนต้นอื่นๆ ในบริเวณปลูกหญ้าแฝกได้"
"คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของหญ้าแฝกก็คือ แฝกจะเป็นตัวกักเก็บไนโตรเจนและกำจัดสิ่งที่เป็นพิษหรือสารเคมีอื่นๆ ไม่ให้ไหลลงไปยังแม่น้ำลำคลองโดยกักให้ไหลลงไปใต้ดินแทน"
พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริให้ประยุกต์ใช้หญ้าแฝกสำหรับการป้องกันการควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน และการพัดพาตะกอนลงสู่ร่องน้ำลำธารไว้
"การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขาให้ปลูกตามแนวขวางของความชันและในร่องน้ำของภูเขาเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และช่วยเก็บความชื้นของดิน"
"ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกในร่องน้ำในลักษณะที่เป็น check dam และในที่สูงชันตามริมถนนที่มีดินเปลือยอยู่ก็ให้ปลูกแฝกเพื่อป้องกันดินพังทลายด้วย"
การปลูกหญ้าแฝกป้องกันร่องน้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงเรียกว่า "แกล้งดิน" มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เป็นหน่วยดำเนินการสนองพระราชดำริในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกำมะถัน เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารประกอบกำมะถันที่เรียกว่า "สารไพไรท์" ให้ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศแล้วปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชเศรษฐกิจต่างๆ ไม่สามารถเจริญงอกงามให้ผลผลิตได้ หลังจากนั้นจึงหาวิธีปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ ยังผลสำเร็จของโครงการแกล้งดิน ในท้องที่มีปัญหาได้อย่างดี และพัฒนาพื้นที่จากที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ สามารถปลูกข้าวได้ประสบความสำเร็จ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน : ดินเลวก็พัฒนาได้ สภาพเดิมของพื้นที่เขาหินซ้อนส่วนใหญ่เป็นดินทรายและมีฝนตกชุก แต่มีระยะเวลาสั้นเฉลี่ย 1,200 มิลลิเมตร ต่อปี บางครั้งซึ่งอาจตกถึง 60 กว่ามิลลิเมตร ต่อชั่วโมง แต่ดินสามารถรับน้ำไว้ได้เพียง 30 มิลลิเมตร ที่เหลือก็ไหลไปตามผิวหน้าดินก่อให้เกิดการชะล้างพังทลายของดิน ส่งผลให้ดินสิ้นความอุดมสมบูรณ์เกือบทั้งหมดของพื้นที่
ปัญหาที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของดินในพื้นที่มี 4 ประเภท คือ
1. ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงบำรุงดิน โดยอาจใช้วิธีการผลิตและใช้ปุ๋ยหมัก หรือพยายามเปลี่ยนพันธุ์พืชจากมันสำปะหลังเป็นพืชตระกูลถั่ว ซึ่งเป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่าย
2. มีปริมาณการชะล้างพังทลายของดินสูงมาก ซึ่งจำเป็นต้องทำคันดินเพื่อลดความเร็วของน้ำและพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในระดับปานกลาง ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับ ก็สามารถยับยั้งการสูญเสียหน้าดินในระดับหนึ่ง
3. ปัญหาที่เกิดจากการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ต้องแก้ปัญหาด้วยการขุดคูคลองระบายน้ำจึงจะลดปัญหาลงได้
4. สภาพการใช้ที่ดินรอบบริเวณ คุณภาพของดินเสื่อมโทรมมาก จากร่องรอยการปลูกมันสำปะหลังและไม่มีการชลประทาน มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในระดับสูงถึงสูงมาก ประมาณร้อยละ 30
มีการใช้หญ้าแฝกในการแก้ปัญหาดินทราย ดินดาน โดยการปลูกหญ้าแฝกรอบแนวขอบป่าเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ให้ปลูกหญ้าแฝกในดินดาน โดยระเบิดดินดานเป็นหลุมแล้วปลูกหญ้าแฝกลงในหลุม เพื่อดันชั้นดินดานให้แตก สามารถดักตะกอนตลอดจนใบไม้ทำให้เกิดดินใหม่ขึ้น
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน อันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย กำเนิดโครงการอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราษฏรในพื้นที่ ได้บรรลุผลสำเร็จก้าวหน้า ล้วนบังเกิดคุณูปการแก่พสกนิกร ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
อ้างอิง ... ประกิต เพ็งวิชัย จากสารคดีพิเศษ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว