..... สรุปผลการวิจัยภาคสนาม
ปัญหาการลดจำนวนลงของสามเณรไทยในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาอย่างมาก วัดทั่วไปโดยเฉพาะในเขตชนบทเริ่มขาดแคลนสามเณรที่บวชเรียนเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระภิกษุที่มีความรู้ขาดโอกาสถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ศิษยานุศิษย์ที่บวชเรียนในระยะยาวอย่างเช่นในอดีต ส่วนผู้ที่บวชเป็นภิกษุก็มักจะบวชในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งไม่เอื้อประโยชน์สำหรับการศึกษาพระธรรมวินัยเพื่อสืบต่อพระศาสนาเท่าที่ควร ในที่สุดวัดส่วนใหญ่จึงเริ่มเสื่อมโทรมลงโดยลำดับ ในบางวัดไม่มีการเรียนการสอนพระธรรมวินัยติดต่อกันมานานหลายปีแล้ว เพราะขาดแคลนสามเณรซึ่งอยู่ในวัยที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาเล่าเรียน ทำให้คาดการณ์ว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต หากคณะสงฆ์ไทยไม่ได้ส่งเสริมการบวชเรียนเป็นสามเณรของเยาวชนอย่างจริงจัง
เนื่องจากสามเณรในสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานของชาวพุทธในเขตชนบท ดังนั้น การศึกษาเรื่องสาเหตุของปัญหาการลดจำนวนลงของสามเณรไทย จึงมุ่งประเด็นไปที่การมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบวชเรียน และกลุ่มชาวพุทธในเขตชนบทซึ่งเป็นผู้ปกครองของเยาวชนเพศชาว ในฐานะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณร ในเบื้องต้น ผู้วิจัยได้สันนิษฐานว่า ทัศนคติของสามเณรที่บวชเรียนอยู่และทัศนคติของชาวพุทธในเขตชนบทที่มีต่อการบวชเรียนเป็นสามเณร น่าจะมีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาการลดจำนวนลงของสามเณรในปัจจุบัน ดังนั้น จึงได้การศึกษาข้อมูลจากกลุ่มสามเณรซึ่งกำลังบวชเรียนอยู่ในสำนักศาสนศึกษาและจากกลุ่มชาวพุทธในเขตชนบท โดยเห็นว่า ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้นั้น จะมีความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้เพราะว่า ภาวะการลดจำนวนลงของสามเณรไทย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
สำหรับการศึกษาวิจัยในภาคสนามนี้ ผู้วิจัยได้ตั้ง สมมุติฐานการวิจัยไว้ ๔ ปร ะการพร้อมกับเหตุผลดังต่อไปนี้คือ
๑.สามเณรส่วนใหญ่ มีทัศนคติในเชิงลบต่อการบวชเรียน เนื่องจากเห็นว่า สามเณรที่บวชเรียนอยู่ เป็นกลุ่มบุคคลที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่า การบวชเรียนเป็นสามเณร มีคุณค่ามากน้อยแค่ไหนเพียงใด นอกจากนี้เมื่อสามเณร ได้ลาสิกขากลับเข้าไปสู่ชนบทเดิมแล้ว ก็จะกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการประกาศเกียรติคุณของผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนเป็นสามเณร และเป็นกลุ่มบุคคลที่จะส่งเสริมหรือชักจูงเยาวชนในชุมชนรวมไปถึงญาติมิตรให้บวชเรียนเป็นสามเณรเช่นเดียวกับตน ดังนั้น ภาวะการลดจำนวนลงของสามเณรไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จึงน่าจะมีสาเหตุจากการที่ส่วนใหญ่ของผู้ที่ผ่านการบวชเรียนเป็นสามเณร และสามเณรที่กำลังบวชเรียนอยู่มีทัศนคติในเชิงลบต่อการบวชเรียน
ผลการวิจัยพบว่า ไม่เป็นจริง เนื่องจากพบว่า สามเณรส่วนใหญ่ เคยมีประสบการณ์ชักชวนเยาวชนให้บวชเรียนเป็นสามเณรเช่นกับตน และมีความคาดหวังว่าจะแนะนำบุตรหลานของตนบวชเรียนเป็นสามเณรในอนาคต นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สามเณรส่วนใหญ่ มีความภาคภูมิใจและพึงพอใจในสถานภาพของตนในระดับที่ค่อนข้างดี
๒ . ชาวพุทธส่วนใหญ่ในเขตชนบท มีทัศนคติในเชิงลบต่อสามเณรที่บวชเรียน เนื่องจากเห็นว่า หากชาวพุทธในเขตชนบทมีทัศนคติว่า การบวชเรียนเป็นเรื่องของเด็กในครอบครัวที่มีฐานะยากจนเท่านั้น และการทำบุญกับพระภิกษุได้ผลบุญมากกว่ากรทำบุญกับสามเณร ซึ่งแสดงว่าสถานภาพของสามเณรด้อยกว่าพระภิกษุอย่างมาก ก็จะส่งผลให้ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่นิยมส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณร เพราะเกรงจะไร้เกียรติและศักดิศรี
ผลการวิจัยพบว่า ไม่เป็นจริง เนื่องจากพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า สามเณรที่บวชเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช่เยาวชนจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากอาศัยการบวชเรียน และเห็นว่า การทำบุญกับสามเณรและการทำบุญกับพระภิกษุ ให้ผลบุญเท่ากัน
สมมุติฐานที่ ๓ . ชาวพุทธส่วนใหญ่ ในเขตชนบท ขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการบวชเรียน เนื่องจากเห็นว่า การไม่นิยมส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมาของชาวพุทธในเขตชนบท ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการขาดความรู้และความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับการบวชเรียนเป็นสามเณร เช่น การไม่มีโอกาสได้รับรู้และเข้าใจว่า สามเณรหลังจากบวชเรียนแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรบ้าง เป็นต้น
ผลการวิจัยพบว่า ไม่เป็นจริง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาของสามเณรที่บวชเรียน ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาฝ่ายปริยัติธรรมแผนกธรรมเป็นอันดับ ๑ รองลงไปคือ การศึกษาฝ่ายสามัญศึกษา และการศึกษาฝ่ายปริยัติธรรมแผนกบาลี อ้างอิง สุนทร บุญสถิต .( ๒๕๔๓) สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
สุมินต์ตรา