สมถ-วิปัสสนากรรมฐาน

วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558

 

สมถ-วิปัสสนากรรมฐาน


    เราทราบหรือไม่ว่า “ สมาธิ ” คืออะไร แล้วมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ให้สามารถทำสมาธิได้ดี ประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากสมาธิคืออะไร การนั่งสมาธิ กับสมถ-วิปัสสนากรรมฐาน มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร


สมถ-วิปัสสนากรรมฐาน
    สมถกรรมฐาน คือ “ สมาธิ ” และวิปัสสนากรรมฐาน คือ “ ปัญญา ” หากกล่าวถึงในแง่หลักการ สมถ-วิปัสสนากรรมฐานเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกัน โดยเริ่มต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ฝึกสมถกรรมฐานก่อน “ สมถะ ” แปลว่า “ การทำใจให้เป็นสมาธิ ให้ใจนิ่ง ใจสงบ ” ซึ่งเป็นเป้าหมายของสมถกรรมฐาน
    “ วิปัสสนา ” คือ เมื่อฝึกสมถกรรมฐานจนใจสงบกระทั่งเกิด “ ญาณทัสนะ ” แล้วอาศัยญาณทัสนะนี้ ไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เชาน ระลึกชาติได้ เห็นการไปเกิดมาเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่การนึกเอาธรรมดา


    “ วิปัสสนา ” ศัพท์นี้มาจากคำสองคำ คือ “ วิ ” แปลว่า “ วิเศษ แจ้ง ต่าง ” และ “ ปัสนา ” หรือ “ ทัสสนา ” แปลว่า “ การเห็น ” แปลรวมกันว่า “ การเห็นอย่างวิเศษ ” ให้เราสังเกตว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงใช้คำว่า “ ความคิด ” แต่ใช้คำว่า “ ความเห็น ” คือคำว่า “ ปัสสนา ” วิปัสสนาจึงเป็นการเห็นอย่างวิเศษ
    “ เห็นอย่างวิเศษ ” คือ ไม่ต้องคิด แต่ให้ทำสมาธิให้ใจนิ่งจนเกิดญาณทัสนะ แล้วอาศัยญาณทัสนะไปเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นการเห็นด้วยใจอย่างแจ่มกระจ่าง ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ระลึกชาติไปดูก็ได้ เห็นตามความเป็นจริงเหล่านี้ เรียกว่า “ วิปัสสนา ” ถ้าเป็นการคิดเอา เราไม่เรียก “ วิปัสสนา ” แต่เป็น “ วิปัสสนึก ” คือ เป็นเพียงการนึกเอาเท่านั้น


    เมื่อเห็นแจ้งถึงสิ่งต่างๆ แล้วเราจะสามารถลดกิเลสในใจได้จริงๆ แต่สำหรับผู้ที่ “ วิปัสสนึก ” ใช้การคิดเอา เช่น คิดว่าสังขารเราตอนนี้ดูเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกหน่อยก็ต้องแก่เฒ่า แล้วหมดสภาพไปมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา พอนึกเสร็จเรียบร้อยไม่นานก็ลืม พอไปเจอสาวๆ สวยๆ หรือเจอหนุ่มๆ หล่อๆ ก็หลงใหลชอบพอเขาเข้าไปอีก เพราะว่าเป็นแค่ “ วิปัสสนึก ” ยังไม่ใช่ขั้น “ วิปัสสนา ”
    ถ้าเป็นวิปัสสนาจริงๆ จะต้องเป็นการเห็นอย่างวิเศษ เห็นชัดๆ โดยไม่ต้องคิด ทั้งนี้ต้องฝึกสมถกรรมฐานก่อน ให้ใจเป็นสมาธิจนเกิดญาณทัสนะ แล้วก็เจริญวิปัสสนาต่อเนื่องไป กิเลสก็จะค่อยๆร่อนหลุดจากใจ จนกระทั่งใจหมดกิเลสในที่สุด นี่คือหลักการสมถวิปัสสนาซึ่งจะปฏิบัติต่อเนื่องกัน


     คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจคำว่า “ สมถะ ” “ วิปัสสนากรรมฐาน ” อย่างลึกซึ้งมากนัก มักมีความรู้สึกว่าเวลาที่ตนได้ไปทำสมาธินั้น คือ การไปวิปัสสนา แต่ไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไร หรือถนัดการปฏิบัติธรรมแบบไหน บ้านอยู่ใกล้สถานที่ใด สะดวกแบบใด อะไรที่ชอบถูกอัธยาศัยก็ให้ไปปฏิบัติได้เลย เพราะยังดีกว่าไปดื่มเหล้าเมายา ให้เราเข้าวัดที่ตัวเองชอบ ตั้งใจสวดมนต์ ทำสมาธิ จะเรียกว่า สมถะหรือวิปัสสนาก็ได้ตามความถนัด ที่สำคัญเราอย่าไปโจมตีให้ร้ายกันว่าสำนักนี้ดี สำนักนั้นไม่ดี การโจมตีกันอย่างนี้ไม่ดี ผิดหลักพระพุทธเจ้า ปัญหาสังคมขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า ผู้คนเข้าวัดกันมากเกินไป จนต้องมานั่งทะเลาะกันว่าควรจะไปปฏิบัติธรรมที่ไหนดี แต่ปัญหาคือ คนเข้าวัดน้อยเกินไป และหมกมุ่นอยู่ในอบายมุขมากเกินไป

     เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่วัดทุกวัด หรือชาวพุทธทุกคนที่สนใจการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว อย่าได้เสียเวลามาทะเลาะกันเลย ให้เอาเวลาไปสู้กับกิเลสในใจคน หาวิธีการว่าเราจะไปสู้กับอบายมุขอย่างไร จะดีกว่า โดยทุ่มเทความคิด สติปัญญา ความรู้ ความสามารถช่วยกัน ดึงผู้คนออกมาจากกองอบายมุข  จากเหล้า บุหรี่ ยาบ้า การพนันแล้วมาเข้าวัดปฏิบัติธรรม เรื่องที่จะเข้าวัดไหน ปฏิบัติอย่างไร ชอบแบบไหนก็ทำไปเลย ถ้าทุกคนชวนกันทำความดีอย่างนี้ ไม่ช้าไม่นานสังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นตามลำดับ


ลำดับขั้น สมถ-วิปัสสนากรรมฐาน
    ถ้าเราลงรายละเอียด การทำสมาธิ สมถ-วิปัสสนากรรมฐาน จะมีลำดับขั้นของมัน แต่ว่าหลักสำคัญคือ ต้องระวังอย่าไปเหมาเอาความรู้จำหรือความรู้คิดว่าเป็นความเห็นแจ้ง คือ บางคนต้องเป็นนักศึกษา อ่านหนังสือมามากก็จะรู้ว่าวิปัสสนานั้นจะต้องมี 16 ขั้น เรียกว่าญาณ 16 (โสฬสญาณ) เป็นญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย คือ มรรคผลนิพพาน เวลาปฏิบัติก็นั่งคิดเอา ว่าตอนนี้ตนน่าจะถึงญาณขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว ซึ่งนั่นเป็นความ “ รู้จำ ไม่ใช่รู้แจ้ง ” หลักสำคัญ คือ ตราบใดที่ยังใช้ความจำความคิดอยู่ แสดงว่านั่นยังไม่ใช่ขั้นวิปัสสนา จะเป็นวิปัสสนาได้จริงๆ ต้องพ้นขั้นตอนของการจำการคิด ไปสู่ขั้นตอนของการเห็นแจ้งนั่นเอง


ปัญญา มีอยู่ 3 ระดับ
1.    สุตมยปัญญา คือ ปัญญาขั้นต้นที่เกิดจากการอ่านหรือการฟัง โดยไปอ่านหนังสือมา หรือไปฟังใครเขาพูดมา แล้วจำได้ เรียกว่า “ รู้จำ ” เป็นปัญญาขั้นต้น
2.    จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิด อ่าน หรือ ฟังมาแล้วก็คิดทบทวน ตรึกตรอง ทดลอง ค้นคว้าจนเข้าใจ เรียกว่า “ รู้คิด ” หรือ ความรู้จากการคิด มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง 
3.    ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิภาวนาจนเกิดญาณทัสนะ และอาศัยญาณทัสนะเห็นแจ้งสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เรียกว่า “ รู้แจ้ง ” หรือ “ เห็นแจ้ง ” เป็นปัญญาที่จะนำเราไปสู่การตรัสรู้ธรรมได้ เป็นปัญญาขั้นสูงสุด ไม่ใช่การคิด แต่ใช้การเห็นแจ้ง


     วิปัสสนาเป็นขั้นภาวนามยปัญญา จะต้องไม่ใช้การคิด เมื่อใดยังใช้ความคิดอยู่ แสดงว่ายังอยู่ในขั้นจินตมยปัญญา ไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ต้องข้ามความคิดไปจนเป็นขั้นตอนของการเห็น แจ้งไปตามความเป็นจริง ด้วยญาณทัสนะ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คำว่า “ วิปัสสนา คือ การเห็นอย่างวิเศษ ”นั่นเอง เราต้องเข้าใจตรงนี้ว่า อยากรู้ว่าเราเข้าสู่ขั้นตอนการวิปัสสนาหรือยัง ให้เราตรวจสอบตัวเองว่า เรายังใช้ความคิดอยู่หรือเปล่า ถ้ายังใช้ความคิดอยู่แสดงว่าไม่ใช่วิปัสสนา เป็นแค่วิปัสสนึก


     คนทั่วไปอาจสงสัยว่า เราไม่ได้นอนหลับจะให้ไม่คิดเลยนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะว่าเรายังไม่เคยมีประสบการณ์ในขั้นตอนนี้ แต่ถ้าทำใจเป็นสมาธิให้นิ่งๆ ถึงจุดเมื่อใด เราก็จะก้าวพ้น จากขั้นตอนของความคิดไปสู่ขั้นตอนของการเห็น ซึ่งเป็นปัญญาความรู้ที่เกิดขึ้นจากความเห็นแจ้งภายในโดยไม่ใช้ความคิดเลย


     อธิบายอย่างนี้แล้ว บางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ ขอยกตัวอย่างถ้ามีเต่าไปอธิบายให้ปลาฟังว่าข้างบนบกมีลมพัดมาพลิ้วๆ เย็นสบาย เมื่อปลาได้ฟังแล้วก็ชักมึน บอกว่าลมพัดพลิ้วๆนี่มันเป็นเหมือนกับกระแสน้ำมาโดนตัวปลาหรือเปล่า เต่าจึงตอบว่าไม่เหมือน ปลาสงสัยบอกว่าแล้วมันอย่างไรล่ะ หากไม่เหมือนน้ำมาโดนตัวแล้วมันเหมือนอะไร เต่าอธิบายว่ามันจะรู้สึกโล่งๆ พลิ้วๆไงล่ะ ปลานึกอย่างไรก็นึกไม่ออก เพราะความจริงแล้ว หากเราจะนึกเข้าใจอะไรได้นั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ที่ตัวเองเคยพบเจอนำมาเปรียบเทียบ แต่ในชีวิตนี้ตั้งแต่เกิดมาปลายังไม่เคยอยู่บนบกเลย ไม่ว่าเต่าจะอธิบายอย่างไร ปลาฟังแล้วก็ไม่สามารถเข้าใจได้


     ดังนั้น เบื้องต้นให้เราเข้าใจโดยภาพรวมอย่างนี้ก่อน แล้วตั้งใจปฏิบัติทำสมาธิต่อไปให้ดี เมื่อถึงจุดเราจะพบจากประสบการณ์ของตัวเราเองว่า วิปัสสนา “ การเห็นอย่างวิเศษ ” ที่ไม่ใช่ “ การนึกคิด ” นั้นเป็นอย่างไร
สรุปในขั้นต้นโดยหลักการก็คือ ไม่ว่าใครจะปฏิบัติอย่างไรก็ขอให้ปฏิบัติเถิด แล้วก็ให้ชักชวนกันมาปฏิบัติธรรมให้มากๆ สุดท้ายภาพรวมของสังคมก็จะดีขึ้น


     ที่สำคัญคือ เมื่อปฏิบัติแล้วอย่าไปติดทิฐิ ติดสำนักอาจารย์ แล้วมุ่งโจมตีให้ร้ายกัน จะกลายเป็นว่า เข้าวัดแล้วแบกบาปเข้าไปด้วย โดยไม่รู้ตัว กรณีต่างศาสนากันเรายังไม่ว่าร้ายกันเลย แล้วจะมาว่าร้ายคนในศาสนาเดียวกันนั้นไม่ควรอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า “ อนูปวาโท ” คือ “ ห้ามว่าร้ายใคร ” เราจึงไม่ควรว่าร้ายกัน เพราะผิดหลักการในพระพุทธศาสนา

 

------------------------------------------------------------------

 

หนังสือเล่ม "เพราะไม่รู้สินะ" โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

"จะทนทุกข์ไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถลิขิตชีวิตตนเองได้ เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ลองมองโลกในอีกมุมที่ต่างไป ลองเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต คุณอาจได้คำตอบว่า ความสุขนั้นหาได้ง่ายๆ ถ้าคุณคิดได้และคิดเป็น"

วางแผงจำหน่ายแล้วที่

ซีเอ็ดบุ๊ค
https://www.se-ed.com/product-search/เพราะไม่รู้สินะ.aspx?keyword=เพราะไม่รู้สินะ&search=name

ร้านนายอินทร์
https://www.naiin.com/product/detail/141416/เพราะไม่รู้สินะ

Book Smile
http://www.booksmile.co.th/ศาสนา-ปรัชญา/เพราะไม่รู้สินะ.html


 
        

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029030017058055 Mins