วิชชาจรณสัมปันโน ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

วันที่ 24 กค. พ.ศ.2558

 

วิชชาจรณสัมปันโน ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

ทรงพระนามว่า “    วิชชาจรณสัมปันโน” เพราะทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

พระพุทธคุณข้อนี้ประกอบด้วยองค์ 2 คือ วิชชา และจรณะ

            วิชชา ในที่นี้หมายถึง ความรู้ที่กำจัดมืดเสียได้ มืดในที่นี้หมายถึงขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิชชาตรงข้ามกับ “    อวิชชา” ซึ่งแปลว่า “    ไม่รู้” คือไม่รู้ถูกหรือผิด เพราะเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวเป็นตน จึงมืดมน ไม่รู้อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท เพราะอวิชชาหรือเพราะไม่รู้ จึงยึดมั่นในขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวเราของเรา ความยึดมั่นถือมั่นหรือมีศัพท์อีกอย่างหนึ่งว่า”อุปาทาน” อุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 นี้เองทำให้เรามืดมนไม่รู้เห็นของจริง คือ “    นิพพาน”

วิชชา มี 2 ประเภท คือ วิชชา 3 และ วิชชา 8

วิชชา 3 ประกอบด้วย

1.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้

2.จุตูปปาตญาณ คือ ญาณที่ทำให้รู้ถึงการตายและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย

3.อาสวักขยญาณ คือ ญาณที่ทำให้กิเลสอาสวะหมดสิ้น

 

วิชชา 8 ประกอบด้วย

1.วิปัสสนาญาณ คือ ญาณที่ทำให้เข้าใจสังขารตามความเป็นจริง

2.มโนมยิทธิญาณ คือ ญาณที่สามารถเนรมิตกายได้ตามที่ต้องการ

3.อิทธิวิธีญาณ คือ ญาณที่สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้

4.ทิพยโสตญาณ คือ มีหูทิพย์ ได้ยินเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งใกล้และไกลได้

5.เจโตปริยญาณ คือ ญาณที่ทำให้กำหนดรู้ใจของสัตว์และมนุษย์ได้

6.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้

7.จุตูปปาตญาณ คือ ญาณที่ทำให้รู้ถึงการตายและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย

8.อาสวักขยญาณ คือ ญาณที่ทำให้กิเลสอาสวะหมดสิ้น

 

จรณะ คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชชา มีองค์ 15 คือ

1.ศีลสังวร ได้แก่ การสำรวมให้พระปาฏิโมกข์

2.อินทรีย์สังวร ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้อารมณ์ส่วนที่ชักนำไปทางชั่วเข้าติดอยู่ได้

การสังวรเหล่านี้ มีประจำพระองค์เป็นปกติอยู่เสมอไม่จำต้องพยายามฝืนอย่างปุถุชนทั้งหลาย

3.โภชเน มัตตัญญุตา ได้แก่ การรู้ประมาณในการบริโภค

4.ชาคริยานุโยค ได้แก่ การประกอบความเพียรที่ทำให้ตื่นอยู่เสมอ

5.สัทธา ได้แก่ ความเชื่อมั่นในความจริง ความดี สิ่งที่ดีงามและการทำความดี

พระองค์ประกอบด้วยสัทธาอย่างอุกฤษฎ์ เช่น ที่ปรากฎในเวสสันดรชาดก เป็นต้น

พระองค์ได้บำเพ็ญทานบารมีบริจาคของนอกกาย ทานอุปบารมีสละเนื้อเลือดเมื่อทำความเพียรทานปรมัตถบารมีสละได้ถึงชีวิตมาแล้วอย่างสมบูรณ์

6.หิริ ได้แก่ความละอายต่อความชั่ว

7.โอตตัปปะ ได้แก่ความสะดุ้งกลัวบาป

ทั้งหิริและโอตตัปปะ 2 ประการนี้เป็นจรณะที่ติดประจำพระองค์อยู่อย่างสมบูรณ์

8.พาหุสัจจะ ได้แก่ความเป็นผู้ฟังมาก

จรณะข้อนี้ มีประจำพระองค์มาแต่ครั้งสร้างบารมี ทรงเอาพระทัยใส่ฟังธรรมในสำนักต่างๆ เป็นลำดับมา กระทั่งอาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งได้เรียนรู้รูปฌาน อรูปฌาณ มาจากสำนักนี้

9.วิริยารัมภะ ได้แก่การทำความเพียรอย่างไม่ละลด

10.สติ คือความระลึกได้ โดยไม่เผลอหรือหลง

พระองค์ทรงมีสติอยู่เสมอ ไม่เผลอในกาลทุกเมื่อ เราผู้ปฏิบัติควรเจริญรอยตามดังแนวที่ทรงสนอนไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง นอน ท่านหมายเอาสติที่ตรึกถึงกาย เวทนา จิต ธรรม

11.ปัญญา คือความรอบรู้ในกองสังขาร

พระองค์ทรงมีความรู้ความเห็นกว้างขวางหยั่งรู้เหตุผลถูกต้องไม่มีผิดพลาด

12.รูปปฐมฌาน ได้แก่ รูปฌาน 1

13.รูปทุติยฌาณ ได้แก่ รูปฌาน 2

14.รูปตติยณาน ได้แก่ รูปฌาน 3

15.รูปจตุตถฌาน ได้แก่ รูปฌาน 4

 

            พระองค์ทรงได้อาศัยรูปฌาน มาเป็นประโยชน์ที่จะขยับขยายโลกียปัญญาให้เป็น โลกุตตรปัญญา ทรงเรียนฌานจากดาบส ต่อจากนั้นทรงแสวงหาต่อไปด้วยพระองค์เอง กระทั่งทรงบรรลุธรรมกาย ทรงหยั่งรู้ด้วยญาณของธรรมกาย ซึ่งจัดเป็นโลกุตตระ และทรงได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงทราบว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดไร้ประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทรงปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วยังทรงถ่ายทอดคุณธรรมที่เป็นประโยชน์ให้แก่เหล่าสาวกทั้งหลายด้วยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยวิชชาและจรณะทั้งหลายเหล่านี้ เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า “    ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ”

 

------------------------------------------------------------------------

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011721968650818 Mins