เจ๋ง...แบบไม่ธรรมดา
ตั้งใจทำงานเต็มที่แต่มีคนหมั่นไส้ จะแก้ปัญหาอย่างไรดี?
หากเป็นการแสดงความสามารถด้วยการทำงานให้ดีที่สุดนั้นดี แต่ต้องระวัง คือ คนทุกคนในโลกต้องการความภาคภูมิใจในตนเอง ถ้าเราไปทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเราเก่งกว่า คนส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่ค่อยชอบสักเท่าไร
แต่ถ้าเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วทำให้คนอื่นรู้สึกยอมรับเราด้วยตัวเขาเอง แบบนี้ไม่มีปัญหา เพราะคนทุกคนต้องการความภาคภูมิใจในตนเอง แต่ถ้าความภาคภูมิใจของเราไปกระทบความภูมิใจของคนอื่น เขาจะเริ่มไม่ชอบ ที่เป็นแบบนี้เพราะคนในโลกยังไม่หมดกิเลส ยังมีทิฐิมานะ หรือที่ชาวต่างชาติเขาเรียกว่ามีอีโก้ เมื่อไรเราเอาอีโก้เราไปกระทบกับอีโก้คนอื่น เมื่อนั้นย่อมเกิดปัญหา
ความรู้สึกที่อยากให้คนอื่นรับรู้ว่าเราทำความดี เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจในตนเอง เรื่องนี้มีเกือบทุกคน อยู่ที่ว่าจะมีมากหรือน้อย ถ้าตราบใดยังไม่หมดกิเลส ทิฐิมานะในใจจะยังมีอยู่ คนไหนฝึกตนเองมาดีก็จะมีน้อยหน่อย คนไหนที่ฝึกมาน้อยก็มีมากหน่อย
โบราณถึงบอกว่า “ เขาด่าแล้วไม่โกรธ ถือว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่เขาชมแล้วไม่ยิ้ม เป็นเรื่องยากยิ่งกว่า ” เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติของคน มีคนเขาพูดขำๆไว้ว่า “ ชมจนเอียน ดีกว่าติเตียนจนถูกอัด ” คือ ชมคนอื่นจนเขารู้สึกว่าเอียนแบบหวานมากเกินไป ก็ยังดีกว่าไปตำหนิติเตียนเขาจนกระทั่งถูกเขาอัดกลับมา
เพราะฉะนั้นเราภูมิใจในตนเองได้ แต่ระวังอย่าให้ไปกระทบความภูมิใจของคนอื่น ไม่อย่างนั้นแล้วผู้ที่จะเดือดร้อนจะเป็นตัวของเราเองโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะคนอื่นเขาจะไม่ชอบ ถือเป็นการก่อศัตรูโดยไม่รู้ตัว คนญี่ปุ่นมีคติ “ ให้ทุบตะปูทุกตัวที่โผล่ขึ้นมา ” คือ คนไหนที่พยายามจะอวดตนเองขึ้นมาอย่างนี้ต้องถูกทุบลงไป ถ้าเกิดคนอื่นยกขึ้นไม่มีปัญหา ถ้ายกตนเองเมื่อไร ปัญหาจะเกิด
ควรทำตัวอย่างไร ไม่ให้คนอื่นหมั่นไส้?
ต้องสังเกตพฤติกรรมของผู้รับด้วย ไม่ใช่เอาใจจดจ่ออยู่กับตัวเราเองคนเดียว ให้สังเกตปฏิกิริยาสีหน้าท่าทีของคู่สนทนาหรือคนอื่นด้วยว่า เขามีท่าทีอย่างไร แม้แต่กับคนหมู่มาก ก็ให้สังเกตปฏิกิริยาคนหมู่มากว่าเขารู้สึกอย่างไร
อย่าเอาแค่ความถูกหรือความผิด ถึงแม้เรื่องนี้เราถูกคนอื่นพูดไม่ถูก แล้วเราไปพูดหักหน้าเขา ถึงแม้เราถูกแต่คนที่ถูกเราหักหน้าเขาก็จะไม่ชอบเรา โดยเฉพาะกับคนไทยด้วยแล้วตรงนี้ถือว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก หลวงวิจิตรวาทการท่านผูกเป็นกลอนสอนใจไว้ว่า
“ อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
จงทำดีอย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน ”
วิธีแก้ไขคือ ให้เราทำความดีไปเรื่อยๆ แต่ไม่ต้องอวดตนเอง ให้ความดีของเราเต็มเปี่ยมเอง เหมือนกับการที่เราเอามือไปบังพระอาทิตย์ บังอย่างไรก็ไม่อยู่ เพราะแสงของพระอาทิตย์ก็เปล่งออกมาอยู่ดี ความดีก็เหมือนพระอาทิตย์ สักวันจะเปล่งแสงให้ทุกคนได้เห็นเอง ไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะไม่รู้ บางคนบอกว่า ถ้าไม่โชว์เดี๋ยวเขาจะไม่รู้ว่าเราเก่ง ไม่เห็นฝีมือของเราจริงๆ ไม่ใช่ ให้ใจเย็นๆ บางเรื่องอาจจะเห็นผลช้าหน่อย แต่ผลที่ได้กลับมาจะน่าชื่นใจ และไม่ก่อผลเสีย
ในครั้งพุทธกาลมีตัวอย่างของผู้ที่มีอีโก้จัดบ้างไหม?
ในครั้งพุทธกาลมีชฎิล 3 พี่น้องที่มีบริวารเป็นพันคน และคิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วพระองค์ทรงเห็นว่าพื้นใจของชฎิล 3พี่น้อง สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ก็เลยไปโปรด ซึ่งกว่าชฎิลจะยอมได้ พระองค์ก็ต้องแสดงปาฏิหารย์เป็นพันๆอย่าง เช่น ชฎิลให้พระพุทธเจ้าไปประทับในที่ที่มีพญานาคซึ่งมีฤทธิ์มาก คิดว่าพญานาคจะปราบพระพุทธเจ้าได้ แต่พอไปดูตอนเช้าเห็นว่า พระพุทธเจ้ายังปกติดีก็แปลกใจเลยถามว่า พญานาคไปไหน พระพุทธเจ้าทรงเปิดฝาบาตรให้ดู พญานาคกลายเป็นงูตัวเล็กนิดเดียวอยู่ในบาตร ชฎิลเห็นอย่างนั้นก็ทึ่ง แต่ด้วยความถือตัวชฎิลผู้พี่ก็ยังคิดว่า “ สมณะรูปนี้มีอานุภาพไม่ธรรมดา แต่ก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ” คือยังรู้สึกว่าตนเหนือกว่า เป็นการสะท้อนว่า ใจคนที่ยังไม่หมดกิเลสมีมานะทิฐิเป็นอย่างนี้ คิดว่าตนเองเก่งตนเองแน่ คนอื่นดี เก่งแค่ไหน แต่เราก็ยังเก่งกว่า จะภูมิใจกับความแน่ของตนเอง แม้บางทีอาจเป็นความภูมิใจที่ผิด
จนสุดท้ายพระพุทธเจ้าเห็นว่าพระองค์ได้แสดงปาฏิหารย์จนถึงจุดหนึ่งแล้ว ความมั่นใจในตนเอง ทิฐิมานะของชฎิลสั่นคลอนเต็มที พระพุทธเจ้าจึงตรัสขึ้นว่า “ ชฎิล เธอเลิกหลงตัวเองได้แล้ว เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แม้ปฏิปทา คือ ทางดำเนินแห่งความเป็นอรหันต์เธอก็ยังไม่รู้ เธอเลิกหลงตัวเองได้แล้ว ” เหมือนสายฟ้าฟาดไปกลางใจ จริงๆในใจของชฎิลก็ยอมรับแล้วว่า พระรูปนี้ไม่ธรรมดา พอเจอประโยคนี้ ทิฐิมานะที่มีก็คลายออก คุกเข่ากราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย พระองค์ทรงเห็นว่าชฎิลใจเปิดแล้วก็ทรงแสดงธรรม ในที่สุดชฎิลทั้ง 3 พี่น้อง ก็หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ เห็นไหมว่าพอชฎิลเลิกมีอีโก้ คลายความถือตัวแล้วในที่สุดก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ในพระพุทธศาสนา นี่แหละคือผลของการละทิฐิมานะ
ทำอย่างไรจึงจะตัดอีโก้ในใจเราให้หมดไป?
ง่ายๆเลย คือ ถ้าเมื่อไรเราคิดว่าเราแน่ เราเก่ง ให้ถามตนเองก่อนว่า “ ถ้าเราตายไปวันนี้ มั่นใจว่าเราพ้นนรกแล้วหรือยัง รักษาศีล 5 ข้อได้ครบหรือยัง ทำบาปทำกรรมไว้แค่ไหน เราพ้นอบายหรือยัง ” ถ้าตัวเราเองยังไม่มั่นใจว่า พ้นนรกแล้วแน่ๆ อย่าพึ่งคิดว่าเก่ง เพราะอย่างไรเราก็ยังปราบกิเลสในตัวไม่หมด
ถ้าต้องทำงานร่วมกับคนที่มีอีโก้สูง เราควรทำตัวอย่างไร?
การแก้ไขคนอื่นนั้นไม่ใช่ง่าย ถ้าต้องทำงานร่วมกันให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีความสุขดีกว่า คนที่มีอีโก้มักจะมีจุดแข็งของตัวเอง คือ มีความสามารถพิเศษบางอย่าง เวลาที่ต้องทำงานร่วมกับเขาให้คิดว่า ข้อดีของเขาก็มี อดทนค่อยๆปรับจูนให้เข้ากัน ถ้าเข้ากันได้แล้ว ดึงเอาความสามารถเขามาใช้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่องานส่วนรวม พอคิดได้อย่างนี้ เราก็จะเกิดกำลังใจที่จะอดทนทำงานร่วมกัน เราเปลี่ยนทิศทางลมไม่ได้ แต่นักเดินเรือที่เก่งเขาจะปรับใบเรือ แล้วอาศัยแรงลมจนเรือแล่นไปในทิศที่ต้องการได้
ยิ่งถ้าเป็นหัวหน้างาน แล้วมีลูกน้องที่มีอีโก้จัด ให้หาทางมอบงานให้เขาเป็นชิ้นๆ เขาจะได้มีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของงาน เขาก็จะใช้ความสามารถของเขาอย่างเต็มที่ กับงานนั้นๆ พอเขาทำสำเร็จก็ชมเขานิด ทักทายเขาหน่อย กระตุ้นหน่อยๆ ให้เขาทุ่มเท ทำให้สำเร็จยิ่งๆขึ้น แต่ต้องระวังอย่าหนุนจนเหลิง แบบนี้งานก็จะสำเร็จ ลูกน้องก็สบายใจ
ไม่อยากทำงานกับคนที่มีอีโก้สูง ลาออกไปเลยดีไหม ?
การหนีไปที่ใหม่ ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะถ้าไปทำงานที่ใหม่แล้ว เจออย่างนี้อีกก็ลาออกไปอีกที่หนึ่ง ปัญหาจะไม่จบ สู้หาจุดร่วมในการทำงานร่วมกันจะดีกว่า เช่น ถ้าเขาชอบให้ชม เราก็ชมเขาหน่อย พอเราชมแบบที่เขาต้องการ เขาก็จะรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี บางครั้งจากที่ไม่ชอบก็กลายเป็นรักเรา เขารู้สึกแบบนี้ อีโก้ของเขาก็จะลดลง ในทางกลับกัน เราเอาอีโก้ไปปะทะกับเขา อีโก้เขาจะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นการแข่งขันกันว่า อีโก้ใครใหญ่กว่ากัน
เคล็ดลับการทำงานกับคนที่มีอีโก้สูง ต้องเริ่มปรับที่ตัวเราเองก่อน ในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ก็ต้องมาปรับใจของเราให้รับกับสภาพนั้น ให้รู้ว่าแม้ตัวเรามีข้อดี แต่คนอื่นเขาก็มีข้อดีเหมือนกัน ให้ยอมรับในข้อดีของเขา ที่สำคัญเมื่อเจอคนที่มีอีโก้ เราก็อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไว้ สุดท้ายอีโก้ของเขาก็จะลดลงเหลือแต่มิตรภาพให้แก่กัน
--------------------------------------------------------------------------
หนังสือของสำนักพิมพ์ ทันโลกทันธรรม โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
http://www.tltpress.com/
วางแผงจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือ
ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , นายอินทร์ , ศูนย์หนังสือจุฬา , คิโนะคุนิยะ , บุ๊คสไมล์ ฯลฯ