สถานภาพ บทบาท และปัญหา ของสามเณรในสังคมไทย (ตอนที่ ๕)

วันที่ 20 พย. พ.ศ.2547

ผลงานวิจัย คุณสุนทร บุญสถิต สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๔๓


.....จากบทสรุปและวิเคราะห์ในความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาพบว่า สามเณรเป็นพุทธบริษัทที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพุทธบริษัทอื่น ๆ ในด้านของความหมาย สามเณรคือเหล่ากอแห่งสมณะ หากกล่าวถึงปฐมกำเนิด ก็ยิ่งให้เห็นความสำคัญของสามเณร เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดสามเณรโดยมีพระโอรสของพระองค์เอง

ได้รับบรรพชาเป็นสามเณรรูปแรก นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังทรงชี้แนะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบรรพชา ทรงกำหนดคุณสมบัติของผู้บรรพชาและทรงวางระเบียบวิธีการบรรพชา ตลอดจนทรงได้บัญญัติสิกขาบทสำหรับสามเณร อีกทั้งในด้านของการบริหารและการปกครองสามเณร ทรงมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์อาจารย์และพระภิกษุทั้งหลาย เป็นฝ่ายรับผิดชอบดูแล ในขณะที่บทพุทธบัญญัติต่าง ๆ ที่ทรงอนุญาตให้บังคับใช้กับสามเณรก็ล้วนแต่มีความเหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะ ซึ่งแสดงให้เห็นพุทธมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อสามเณรทั้งหลาย

สถานภาพของสามเณรในปัจจุบัน

พบว่า วัตถุประสงค์หลักในการบวชเป็นสามเณรของเยาวชนไทยในยุคปัจจุบันน่าจะมีอีกอย่างน้อย ๕ ประการคือ

๑.เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและด้อยโอกาสทางการศึกษา

๒.ลดช่องว่างทางสังคมระหว่างคนจนกับคนรวย

๓.ให้มีความรู้แตกฉานในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา

๔.เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้แก่เยาวชนในชาติ

๕.เป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาและชาติบ้านเมืองในอนาคต

ปัญหาความต้องการสถานภาพที่เกิดกับสามเณรในสังคมไทยปัจจุบัน มีสาเหตุหลายประการ ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้

๑.ภิกษุส่วนใหญ่ ยังขาดคุณสมบัติพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนสามเณรหรือเป็นผู้สมควร ให้สามเณรอุปัฏฐานเพื่อให้สอดคล้องกับพุทธบัญญัติเช่นเดียวกับในสมัยพุทธกาล ดังนั้น ในบางวัดจึงพบว่า แม้แต่ภิกษุบวชใหม่ก็ยังมีสิทธิใช้ให้สามเณรอุปัฏฐากตนเอง ซึ่งดูแล้วไม่มีความเหมาะสม ซึ่งยังขาดผู้ดูแลแก้ไขในเรื่องนี้อีกด้วย

๒.ภิกษุมีการนับอายุพรรษา เพื่อจัดลำดับความอาวุโส แต่สำหรับสามเณรไม่มีการนับอายุพรรษา แม้จะบวชมาแล้วเป็นเวลาหลายปีก็ตาม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สามเณรไม่ได้รับความยำเกรงและให้เกียรติจากกลุ่มสามเณรด้วยกันเองและจากภิกษุผู้ยังบวชได้ไม่นาน ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นสาเหตุให้สามเณรรูปที่บวชมาหลายปีแล้ว ไม่พยายามประพฤติตนให้ดีขึ้นโดยลำดับ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สามเณรรุ่นหลัง ๆ

๓.พระผู้ปกครองที่มีอำนาจ ส่วนใหญ่มักจะทำตนเหินห่างจากสามเณร เพราะถือเป็นค่านิยมเสียแล้วว่า ต้องวางตัวให้น่าเกรงขาม บางรูปมีอุปนิสัยชอบดุด่าว่าตวาด เพื่อวางอำนาจตนให้ดูยิ่งใหญ่ จนเป็นที่หวาดกลัวของสามเณรทั้งหลาย ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในกลุ่มสามเณรพระผู้ปกครองเหล่านั้นจึงไม่มีโอกาสได้รับรู้และหาแนวทางแก้ไขได้

๔.พระบางรูป มีนิสัยชอบใช้งานสามเณรโดยไม่คำนึงถึงความลำบากของสามเณร เช่น ให้ไปซื้อบุหรี่ ให้บีบนวดเฟ้นให้ในขณะที่ตนเองก็ไม่ได้เจ็บป่วยอาพาธอะไร จนเป็นสาเหตุให้สามเณรต้องเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งมองกันว่า สามเณรก็คือเด็กรับใช้ของภิกษุ ที่จะเรียกใช้เมื่อไรก็ได้ ถึงกับมีบางคนที่เคยบวชในวัดมาแล้ว ไม่ต้องการให้บุตรหลานของตนมาบวชเรียนเป็นสามเณรเพราะเกรงจะเป็นคนรับใช้ของพระประเภทนี้

๕.พระในวัดบางแห่ง ให้สามเณรฉันภัตตาหารที่เป็นเดนของพระ คือ จัดแจงให้ทายกทายิกาประเคนภัตตาหารให้พระฉันก่อนแล้วจึงให้สามเณรฉันทีหลังหรือบางทีก็ให้ฉันพร้อมกับเด็กวัด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สามเณรไม่ได้รับความเคารพนับถือและให้เกียรติจากประชาชน

การที่ภิกษุไม่ได้ให้เกียรติแก่สามเณร ชาวบ้านก็พลอยไม่ให้เกียรติแก่สามเณรไปด้วย เมื่อชาวบ้านไม่ให้ความเคารพและให้เกียรติแก่สามเณรเท่าที่ควร ก็นำไปสู่การไม่นิยมชมชอบให้เกียรติแก่ภิกษุหนุ่มด้วย ในที่สุดได้กลายเป็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและไม่เสมอภาคทางศรัทธาของประชาชน จึงไม่แปลกเลยที่พบว่า ประชาชนบางส่วนนิยมทำบุญกับภิกษุผู้สูงอายุมากว่าจะทำบุญกับภิกษุหนุ่มสามเณรน้อย ทั้ง ๆ ที่ท่านเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลและมีศักยภาในการปฏิบัติศาสนกิจเช่นเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่น่าเลื่อมใสและน่าภาคภูมิใจ ก็คือ ไม่ปรากฏเลยว่า มีสามเณรกลุ่มใด จากวัดใด ที่ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน ในฐานะที่ตนก็เป็นส่วนหนึ่งของพุทธบริษัท


บทบาทของสามเณรในปัจจุบัน

แม้ว่าในสังคมไทย สามเณรจะมีสถานภาพที่ด้วย และไม่ได้รับเกียรติเสมอกับภิกษุมากนักก็ตาม ถึงกระนั้น สามเณร ก็ได้สร้างบทบาทที่เป็นไปเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และเป็นคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างมากมาย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังตัวอย่างบทบาทต่อไปนี้ เป็นศาสนทายาท ความเป็นผู้สืบทอดพระศาสนาโดยตรงแล้ว ยังได้สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างวัดกับบ้านโดยทางอ้อมอีกด้วย กล่าวคือ เยาวชนรวมถึงผู้ปกครองและญาติ ๆ จะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระศาสนามากยิ่งขึ้น เป็นกัปปิยการก ความเอาใจใส่ดูแลในการอุปัฏฐากรับใช้พระภิกษุ ยังถือว่าเป็นหน้าที่หลักของสามเณรสืบเนื่องมากแต่ครั้งสมัยพุทธกาลจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง สุนทร บุญสถิต .( ๒๕๔๓) สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.



สุมินต์ตรา
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015774647394816 Mins