ความเป็นมาของอานาปานสติ

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2558

 

 ความเป็นมาของอานาปานสติ

            อานาปานสติ เป็นกัมมัฏฐานหนึ่งในอนุสติ 10 และปรากฏอยู่ในสติปัฏฐานด้วย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ถ้าบุคคลปฏิบัติอานาปานสติ เธอชื่อว่าทำสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ ถ้าบุคคลปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 เธอชื่อว่าทำโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ ถ้าบุคคลปฏิบัติโพชฌงค์ 7 เธอชื่อว่าทำวิมุตติและวิชชาให้บริบูรณ์Ž1)

และปรากฏอยู่ในสัญญา 10 ประการ ที่พระพุทธองค์ทรงประทานแก่พระอานนท์เพื่อให้พระอานนท์ไปสวดให้พระคิริมานนท์ฟังเพื่อให้อาพาธที่เป็นอยู่หายได้ ดังที่ตรัสไว้ว่า

“    ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้วกล่าวสัญญา 10 ประการแก่คิริมานนท์ภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานนท์ภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา 10 ประการนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ สัญญา 10 ประการเป็นไฉน คือ อนิจจสัญญา 1 อนัตตสัญญา 1 อสุภสัญญา 1 อาทีนวสัญญา 1 ปหานสัญญา 1 วิราคสัญญา 1 นิโรธสัญญา 1 สัพพโลเกอนภิรตสัญญา 1 สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา 1 อานาปานัสสติ 1”2)

 

            พระพุทธองค์ยังทรงสรรเสริญอานาปานสติว่า เป็นอริยวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่ของพระ-อริยะ) พรหมวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระพรหม) และตถาคตวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) นับว่าอานาปานสติเป็นกัมมัฏฐานที่สำคัญยิ่ง พระพุทธองค์ทรงสนับสนุนให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติ ดังที่พระองค์ตรัสว่า

“    ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธินี้แล ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบ ประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยพลันเปรียบเสมือนฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ยังฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน ฉะนั้น”3)

 

------------------------------------------------------------------------------


1) มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 22 ข้อ 287 หน้า 367.
2) อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต, มก. เล่ม 38 ข้อ 60 หน้า 190.
3)  สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 1352 หน้า 230.

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010364870230357 Mins