อานิสงส์ของอานาปานสติ

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2558

 

อานิสงส์ของอานาปานสติ

            1.ทำให้ได้รูปฌาน

            2.ทำให้เป็นบาทของมรรคผล นั่นก็คือ อานาปานสติเป็นสาเหตุแห่งการทำให้วิชชาและวิมุตติเต็มบริบูรณ์ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ถ้าบุคคลปฏิบัติอานาปานสติ เธอชื่อว่าทำสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ ถ้าบุคคลปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 เธอชื่อว่าทำโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ ถ้าบุคคลปฏิบัติโพชฌงค์ 7 เธอชื่อว่าทำวิมุตติและวิชชาให้บริบูรณ์

 

            3.ทำให้ป้องกันไม่ให้เกิดวิตก12) พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอานิสงส์ของอานาปานสติไว้ว่า อานาปานสติสมาธิบุคคลทำให้มากเจริญให้มากแล้ว เป็นธรรมที่ละเอียดและประณีต เป็นธรรมสามารถตัดซึ่งวิตก เช่น กามวิตก เป็นต้น อานาปานสติสมาธิ ย่อมทำความฟุ้งซ่านให้หมดไปจากจิต ที่เกิดจากอำนาจของวิตกทั้งหลายอันทำอันตรายต่อสมาธิ แล้วทำให้จิตมุ่ง ต่ออารมณ์คือลมหายใจเข้าออกเท่านั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พึงเจริญอานาปาสติเพื่อเข้าไปตัดวิตก13)

            4.ผู้ที่สำเร็จอรหัตผลโดยใช้อานาปานสติเป็นบาท ย่อมสามารถกำหนดรู้อายุสังขารของตนว่าจะอยู่ได้นานเท่าใด และสามารถรู้เวลาที่จะปรินิพพาน ตามธรรมดาผู้ที่เจริญกัมมัฏฐาน อย่างอื่นนอกจากอานาปานสติ บางท่านก็รู้วันตาย บางท่านก็ไม่รู้ แต่ผู้ที่เจริญอานาปานสติ จนกระทั่ง บรรลุพระอรหัตผล ย่อมสามารถกำหนดรู้วันละสังขารได้ ย่อมรู้ว่า เราจะมีอายุอยู่ต่อไปได้เพียงเท่านี้ ไม่เกินไปกว่านี้ จึงทำกิจทุกอย่าง มีการชำระร่างกายและการนุ่งห่ม เป็นต้น ตามที่เคยปฏิบัติมา แล้วจึงหลับตา โดยมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นเรื่องพระเถระสองพี่น้องผู้อยู่ในจิตตลดาบรรพตวิหาร เรื่องก็มีอยู่ว่า

 

เรื่องพระเถระ 2 พี่น้อง

            มีพระเถระสองพี่น้อง ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้เคยเจริญอานาปานสติจนบรรลุฌานมาก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนา จนสิ้นอาสวกิเลสเป็นพระอรหันต์ ต่อมาวันหนึ่งเป็นวันอุโบสถท่านทั้งสองได้ออกจากจิตตลดาบรรพตวิหารซึ่งเป็นอาวาสที่อยู่อาศัยไปกระทำอุโบสถ องค์หนึ่งเมื่อสวดพระปาฏิโมกข์เสร็จแล้ว ได้เข้าไปในที่อยู่ของตนพร้อมด้วยหมู่พระภิกษุ ยืนในที่จงกรมและแหงนดูดวงจันทร์ ตรวจดูอายุสังขารของตัวเอง แล้วถามภิกษุเหล่านั้นว่า เคยเห็นพระภิกษุปรินิพพานด้วยอาการอย่างไรบ้าง บ้างก็ตอบว่า เคยเห็นบางองค์นั่งปรินิพานกลางอากาศ บ้างก็ตอบว่า เคยเห็นนั่งคู้บัลลังก์ปรินิพพานกลางอากาศ พระเถระจึงกล่าว่า คราวนี้เราจะให้พวกท่านได้เห็นการปรินิพพานของพระอรหันต์ในขณะเดินจงกรม ว่าแล้วก็ได้ทำรอยขีดไว้ที่ทางจงกรม แล้วบอกว่า เราเดินจากปลายที่จงกรมด้านนี้ถึงปลายที่จงกรมด้านโน้นแล้วเดินกลับมา เมื่อถึงรอยขีดนี้ก็จักปรินิพพาน จากนั้นท่านก็ได้ขึ้นสู่ที่จงกรม เดินไปสู่ปลายข้างโน้นแล้วกลับมา เพียงแค่เท้าข้างหนึ่งเหยียบรอยที่ขีดไว้ ท่านก็ปรินิพพานในขณะนั้นนั่นเอง

 

-----------------------------------------------------------------------------

12) ความตรึก, การคิด มีอยู่ 3 อย่าง คือ กามวิตก (คิดในเรื่องกาม) พยาบาทวิตก (คิดในเรื่องพยาบาท) วิหิงสาวิตก (คิดในเรื่องเบียดเบียน).
13) พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, สมาธิในพระพุทธศาสนา, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หน้า 205.

 

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0074241836865743 Mins