.....ได้กล่าวไว้ในช่วงท้ายของบทที่ ๑ แล้วว่า บุคคลที่สามารถตรองตามสาระของสัมมาทิฏฐิ จากระดับที่ ๑ มาตามลำดับจนถึงระดับสุดท้ายทำให้ยอมรับ และเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง กลายเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอย่างสมบูรณ์ สามารถเข้าใจได้ด้วยปัญญาของตนได้ทันทีว่า คนเราเกิดมาทำไม รู้ชัดว่าคนเราเกิดมาเพื่อสร้างกรรมดีเท่านั้น จะต้องหลีกเลี่ยงกรรมชั่วอย่างเด็ดขาด เพราะกรรมดีคือเหตุปัจจัยแห่งความสุขที่ยั่งยืน ส่วนกรรมชั่วนั้นในบางกรณีดูเหมือนจะก่อให้เกิดความพอใจหรือความสะใจ แต่ในที่สุดแล้ว จะนำความทุกข์และความเดือดร้อนมาให้ ซึ่งสามารถสัมผัสได้เองในชาตินี้ ( โลกนี้มี) ส่วนวิบากของกรรมชั่วในชาติหน้า ( โลกหน้ามี) เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะสาหัสสากรรจ์เพียงใด
จากการศึกษาเรื่องการบำเพ็ญบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ จากหลักธรรมอำนวยประโยชน์สุข และจากโอวาทปาติโมกข์
จากการพิจารณาเรื่องทศบารมี โดยมีความสัมพันธ์กับหลักธรรมอำนวยประโยชน์สุข และโอวาทปาติโมกข์ ทำให้มีท่านผู้รู้สรุปลงว่า เป้าหมายชีวิตของคนเราคือการสร้างคุณความดี ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ระดับ ดังนี้
๑. เป้าหมายชีวิตระดับต้น เป็นเป้าหมายเพื่อให้ตั้งตัวได้ในชาตินี้ ด้วยการประกอบสัมมาอาชีวะ เพื่อเลี้ยงตน ครอบครัว มารดาบิดา และบริวารให้มีความสุข โดยไม่เกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องทุจริต หรือมิจฉาอาชีวะทั้งปวง ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องพัวพันกับอาชีพทุจริตผิดกฎหมายผิดศีลธรรม และฉ้อราษฎร์บังหลวง ถือว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายชีวิตระดับต้น การที่จะบรรลุเป้าหมายระดับนี้จะต้องดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ๔ ประการ คือ ๑. หาเป็น ( อุฎฐานสัมปทา) ๒. เก็บเป็น ( อารักขสัมปทา) ๓. สร้างเครือข่ายคนดีเป็น ( กัลยาณมิตร) ๔. ใช้เป็น ( สมชีวิตา) ซึ่งมีคำย่อเป็นที่รู้จักว่า อุ อา ก ส ( อุ, อา, กะ, สะ)
๒. เป้าหมายชีวิตระดับกลาง เป็นเป้าหมายเพื่อไปสู่คติโลกสวรรค์ภายหลังความตาย การที่จะบรรลุเป้าหมายระดับนี้ได้ จะต้องสะสมบุญกุศลเพื่อโลกหน้า ๔ ประการ คือ ๑. ศรัทธา ๒. ศีล ๓. จาคะ ๔. ปัญญา ให้บริบูรณ์พร้อม โดยทั่วไปแล้วผู้ที่จะบรรลุเป้าหมายระดับกลางได้ ย่อมต้องสามารถบรรลุเป้าหมายระดับต้นให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้นย่อมเป็นการยากที่จะบรรลุเป้าหมายระดับนี้
๓. เป้าหมายชีวิตระดับสูงสุด เป็นเป้าหมายที่มุ่งความหลุดพ้น คือ มรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักบวช ผู้ครองเรือนมีโอกาสบรรลุเป้าหมายระดับนี้ได้ยากมาก แต่ผู้ครองเรือนที่ปรารถนาจะบรรลุเป้าหมายนี้ ก็จำเป็นต้องสละฆราวาสวินัย บรรพชาอุปสมบทเพื่อให้มีโอกาสฝึกหัดขัดเกลากิเลสตามพุทธวินัย
ได้กล่าวแล้วว่า การปลูกฝังวินัยเด็ก จะทำให้เด็กเกิดนิสัยดี ๆ และนิสัยดี ๆ ของเด็กจะพัฒนาเป็นสัมมาทิฏฐิโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เด็กมีสัมมาทิฏฐิสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง ก็อาจมีการให้ความรู้เรื่องสัมมาทิฏฐิโดยตรง เพื่อเป็นการสรุปและตอกย้ำให้เด็กเกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ควรทำในกิจกรรมบ้านกัลยาณมิตร
วัตถุประสงค์ของบ้านกัลยาณมิตร
ตามธรรมดาพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย ย่อมมีการจัดการปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยลูกหลานในบ้านของตนกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ทว่าการเกิดวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมขึ้นในประเทศไทย ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ย่อมฟ้องว่า การอบรมบ่มนิสัยลูกหลานของพ่อแม่ทั้งหลายยังไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมของมิตรเทียม จึงก่อให้เกิดปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ก็เพราะพ่อแม่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องและเคร่งครัดพอ
ถึงแม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ที่น่าเศร้าใจคือกระทำกรรมกิเลสทุกข้อ ที่พระพุทธศาสนาสอนให้ละ พัวพันเกี่ยวข้องกับอบายมุขทุกประเภท ที่พระพุทธศาสนาสอนว่าเป็นทางนำไปสู่ความฉิบหาย ยิ่งกว่านั้นยังยุให้รัฐออกกฎหมายเพื่อทำให้อบายมุขที่ผิดกฏหมายให้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายเสียอีกด้วย ดูเหมือนว่านับวันก็จะมีคนมิจฉาทิฏฐิเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้ว ที่ชาวพุทธไทยทุกคนจะต้องตื่นขึ้นมาปรับปรุงตนให้เป็นคนดี และร่วมกันสร้างเครือข่ายคนดีตามกลวิธีในเรื่องทิศ ๖ และการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความรับผิดชอบและเป็นอริยวินัยของทิศเบื้องหน้า ก็ควรจะเริ่มต้นด้วยการเปิดบ้านกัลยาณมิตร
พ่อแม้ที่เปิดบ้านกัลยาณมิตร จะต้องตั้งวัตถุประสงค์ของบ้านกัลยาณมิตรไว้ให้ชัดเจน ๔ ประการคือ
๑. เพื่อปลูกฝังอบรมบุตรธิดาและสมาชิกในบ้าน ให้มีคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ ทั้ง ๔ ประการ
๒. เพื่อปลูกฝังอบรมบุตรธิดาและสมาชิกในบ้าน ให้มีคุณสมบัติของมิตรแท้ ๑๖ ประการ
๓. เพื่อปลูกฝังอบรมบุตรธิดาและสมาชิกในบ้าน ให้มีคุณสมบัติของกัลยาณมิตร ๗ ประการ
๔. เชื้อเชิญและยินดีให้เพื่อนบ้านเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย เป็นการสร้างเครือข่ายคนดีที่โลกต้องการ