พุทธภูมิธรรม
ผู้ที่สั่งสมบุญบารมีไว้มากๆ อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าใครจะทำกันได้หมดทุกคน เพราะการที่จะฝึกฝนตนเองให้มีนิสัยรักในการทำความดีสร้างบารมีอย่างเต็มกำลังสุดชีวิตนั้นหาได้ยากมาก พระพุทธองค์จึงเป็นเอกบุรุษที่ไม่เป็นสองรองใคร โดยได้วางแบบแผนของชีวิตเอาไว้อย่างดี แล้วทุ่มเทในการฝึกฝนตนเองรวมทั้งได้ฝึกคนอื่นพร้อมกันไปด้วย เพื่อจะได้มีกองกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย และยังเป็นพยานให้กับตนเองได้ว่า “ เราจะมาสร้างบารมีเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ไม่ให้คนอื่นเข้าใจตนเองผิดได้ในการทุ่มเทฝึกทั้งตนและคนอื่น ดังนั้นเมื่อพระองค์ได้ทุ่มเทอย่างนี้มาหลายภพหลายชาติที่เกิดมาสร้างบารมี ไม่ว่าจะเกิดมาในชาติกำเนิดอะไรก็ตาม จึงทำให้ลักษณะพิเศษสำหรับผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิได้เกิดขึ้นกับพระองค์ซึ่งเป็นน้ำใจของพระองค์ที่ประกอบด้วยพุทธภูมิธรรมอันยิ่งใหญ่ 4 ประการ คือ
1.อุสสาหะ คือ เป็นผู้มีความเพียรพยายามไม่ลดละ ทรงประกอบไปด้วยความเพียรที่ติดแน่นอยู่ในใจอย่างมั่นคง หมายความว่า เมื่อทำอะไรจะทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ มีความเพียรโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน มีใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในทำแต่กุศลกรรมเพียงอย่างเดียว มีความมานะพากเพียรในการสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดทุกภพทุกชาติที่เกิด จนกว่าสิ่งที่ปรารถนาไว้จะสำเร็จ โดยทรงคิดว่า “ ถ้าท้อแท้ท้อถอยในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แล้วงานสร้างบารมีที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือวิสัยของมนุษย์ทั่วไปจะสำเร็จได้อย่างไร”
2.อุมมัคคะ คือ เป็นผู้มีปัญญาสามารถเตือนตนเองและสอนคนอื่นได้ ทรงประกอบด้วยปัญญาที่ติดแน่นอยู่ในใจอย่างมั่นคง หมายความว่า เมื่อทำอะไรจะคิดไตร่ตรอง พิจารณาในสิ่งที่จะทำว่าถูกหรือผิด ควรทำหรือไม่ควรทำ แล้วสิ่งที่ทำนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและแก่คนอื่นหรือไม่ จึงทำให้จิตของตนประกอบแต่กุศลกรรมอย่างเดียว ทำให้เกิดมีอานุภาพที่เชี่ยวชาญ เฉียบแหลมในการสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดทุกภพทุกชาติที่เกิด
3.อวัฏฐานะ คือ เป็นผู้มีความสามารถในการวางแผนดำเนินชีวิตของตนได้อย่างชัดเจน ทรงประกอบด้วยการอธิษฐานที่ติดแน่นอยู่ในใจอย่างมั่นคง หมายความว่า เมื่อทำความดีสร้างบุญบารมีแล้ว ก็จะอธิษฐานจิตที่จะให้ได้บรรลุสัพพัญญุตญาณทุกครั้ง จึงทำให้ความปรารถนาของพระองค์ไม่เคยเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ได้ตอกย้ำซ้ำเดิมในทุกชาติที่เกิดมา ไม่ว่าจะถือกำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ยังตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ โดยไม่ได้หวั่นไหวคลอนแคลนในการสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปตลอด ทุกภพทุกชาติที่เกิด
4.หิตจริยา คือ เป็นผู้มีเมตตาเป็นปกติ ทรงประกอบด้วยเมตตาที่ติดแน่นอยู่ในใจอย่างมั่นคง หมายความว่า พระองค์จะไม่ประทุษร้าย ไม่ว่าร้ายใคร แต่จะชื่นชมยินดีในความสำเร็จของคนอื่นเสมอ มีความสงสารใคร่จักบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่สัตว์อยู่ตลอดเวลาให้ยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดทุกภพทุกชาติที่เกิด
ลักษณะพิเศษทั้ง 4 ประการนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการบำเพ็ญบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการสละตนเองเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นทุกชีวิตอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย คือ ความบริบูรณ์ด้วยปัญญาอันเป็นโลกุตตรสมบัติ คือ พระสัพพัญญุตญาณ ซึ่งอาจสรุปลักษณะพิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็น 2 ประการ คือ
1.การบำเพ็ญตนช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลาย
2.การบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคต
การดำเนินชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อยู่กับภาระที่จะพึงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์ 2 ประการข้างต้น ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องมีและประโยชน์ ทั้งสองนั้นก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น ก็คือ การได้ชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเอง ตรงกันข้ามการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเอง ก็คือการได้มีโอกาสอุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่มวลสัตว์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน
ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นบุคคลต้นแบบที่ควรจะนำแบบอย่างที่พระองค์ได้ทรงทำไว้แล้วมาประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์ โดยการตั้งความปรารถนาที่จะทำความดีสร้างบารมีให้เพิ่มพูนขึ้น เพื่อไปสู่ฝั่งพระนิพพานอันเป็นแดนเกษมที่ๆ มีความสุขที่แท้จริง ฉะนั้นเมื่อได้อัตภาพเป็นมนุษย์เกิดมาพบ พระพุทธศาสนา นับว่าโชคดีเป็นบุญลาภอันประเสริฐ จึงควรที่จะเร่งรีบสร้างบุญบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เก็บเกี่ยวบุญให้ได้มากที่สุด และให้หมั่นตอกย้ำ อธิษฐานจิต เตือนตนบ่อยๆ และฝึกฝนตนเองให้สม่ำเสมอ ให้มีแต่นิสัยที่ดีติดตัวไปข้ามชาติจนกว่าจะเข้าสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน
-------------------------------------------------------------------
GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต