วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
“วันมหัศจรรย์ของโลก” วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี
ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558
ประวัติวันครูวิชชาธรรมกาย
วันครูวิชชาธรรมกาย นั้น สืบเนื่องมาจากการบรรลุธรรมของ พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือที่คนรุ่นเก่าๆ จะรู้จักท่านกันในนาม หลวงพ่อวัดปากน้ำ วันครูวิชชาธรรมกาย คือวันที่เหล่าศิษยานุศิษย์ ต่างรำลึกถึงวันที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) สละชีวิตเป็นเดิมพัน ในการปฏิบัติธรรมเพื่อค้นหาสัจธรรมของชีวิต หรือธรรมะที่แท้จริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบในวันตรัสรู้ นั่นก็คือ วิชชาธรรมกาย ซึ่งนับนานกว่า 2,000 ปีหลังพุทธปรินิพพาน ที่คำสอนที่แท้จริงในด้านการปฏิบัติเพื่อบรรลุซึ่งมรรคและผลได้เลือนหายไป คงเหลือไว้แต่คำว่า "ธรรมกาย" ในพระไตรปิฎกเท่านั้นเอง
จนในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 พระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านได้สละชีวิตในการนั่งสมาธิ(Meditation)จนบรรลุธรรมดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น ดังนั้นในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ทางวัดพระธรรมกาย และศิษยานุศิษย์หลวงปู่ทั่วโลกต่างก็ได้จัดให้มีพิธิฉลองวันครูวิชชาธรรมกายขึ้น เป็นประจำทุกปี
ธรรมกาย คือ อะไร?
นับแต่ครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ประสูติ ในวันเพ็ญเดือน 6 ใน วันนั้นเรียกว่า วันบังเกิดแห่ง ”รูปกาย หรือ กายเนื้อ” ของ พระโพธิสัตว์ หลังจากนั้นที่โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ พระมหาสมณะได้ทิ้งชีวิตปฏิบัติธรรมอย่างเด็ดเดี่ยว ใต้โพธิบัลลังก์เพื่อแสวงหาความจริงของชีวิต จนพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือน 6 นั่นเอง วันนั้นเป็นวันที่เรียกว่า วันบังเกิดแห่ง “ธรรมกาย หรือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรม” ดังนั้น ธรรมกาย คือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าถึง แล้วทำให้ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์บริบูรณ์ขึ้นมานั่นเอง
หลังจากนั้น 45 พรรษาของการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้เทศนาสั่งสอนให้คนทั้งหลายได้รู้จักธรรมกาย และหนทางปฏิบัติให้เข้าถึงซึ่งธรรมกาย อันเป็นทางเอกสายเดียว และเป็นทางสายกลางที่จะให้มวลมนุษย์ได้เข้าถึงความสุขอันยิ่งใหญ่ หรือ พระนิพพานได้ แต่หลังจากนั้นเพียงประมาณ 500 ปีหลังพุทธปรินิพพาน วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกาย ได้หายสาบสูญไปเหลือเพียงแต่คำว่า ธรรมกาย ให้คนรุ่นหลังได้ตีความไปต่างๆ นานา แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วธรรมกายคืออะไร
จนในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ที่พระอุโบสถ วัดโบสถ์(บน) ต.บางคูเวียง พระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ซึ่งก็คือหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่าน ได้สละชีวิตเป็นเดิมพัน ขอนั่งสมาธิแม้ตายก็ไม่ลุกจากที่ หากไม่เข้าถึงธรรมที่พระบรมศาสดาได้เข้าถึง ในที่สุดแห่งความพยายามท่านได้เข้าถึงธรรม ณ ที่นั้น และได้เผยแผ่ธรรม ตลอดจนวิธีปฏิบัติ อันเป็นแม่แบบและต้นแบบ ตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ อย่างถูกต้องตามร่องรอยของพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิตของท่าน
พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อ / หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสูญหายไปเมื่อประมาณพ.ศ. 500 กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยการสละชีวิตปฏิบัติธรรมถึง 2 คราจนเข้าถึงพระธรรมกาย
ท่านได้ศึกษาวิชชาธรรมกายจนเกิดความเชี่ยวชาญ แล้วได้มุ่งมั่นเผยแผ่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกาย จนตลอดอายุขัยของท่าน หลวงปู่วัดปากน้ำเป็นตัวอย่างของพระภิกษุผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นพระนักปฏิบัติธรรม และเป็นพระนักพัฒนา พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ คือ จอมทัพธรรม ผู้นำในการสร้างบารมีเพื่อไปสู่ที่สุดแห่งธรรมโดยท่านตั้งความปรารถนาจะค้น คว้าวิชชาธรรมกายไปให้ถึงที่สุด ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากการเป็นบ่าว เป็นทาสของพญามาร เอาชนะให้ได้เด็ดขาด
การค้นพบวิชชาธรรมกาย
ในพรรษาที่ 11 หลวงปู่วัดปากน้ำได้ไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียงอ.บางกรวย จ.นนทบุรี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ท่านได้มีความคิดที่จะกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตั้งแต่เช้าตรู่ โดยปรารภว่า
“เราบวชมาจวนจะครบ 12 พรรษาแล้ว วิชชาของพระพุทธเจ้าเรายังไม่ได้บรรลุเลย ทั้งที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดเลยสักวันทั้งคันถธุระและวิปัสนาธุระ อย่าเลย ควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนาเสียที”
หลวงพ่อวัดปากน้ำตั้งใจกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์
เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำกลับจากบิณฑบาตแล้ว ท่านก็รีบจัดการภารกิจต่างๆ ให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่มีเรื่องกังวลใจ เสร็จแล้วก็ได้เข้าเจริญภาวนาในอุโบสถ โดยตั้งใจว่าหากไม่ได้ยินเสียงกลองเพลจะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจแล้วก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” เรื่อยไปจนกระทั่งความปวดเมื่อย และอาการกระสับกระส่ายเริ่มติดตามมา จิตก็ซัดส่ายกระวนกระวายจนเกือบจะหมดความอดทน แต่ได้ตั้งสัจจะไว้แล้วจึงทนนั่งต่อไป เมื่อไม่สนใจความปวดเมื่อยของสังขาร ในที่สุดใจก็ค่อยๆ สงบลงทีละน้อยแล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก
วันที่หลวงปู่วัดปากน้ำบรรลุธรรมกาย
เย็นวันนั้นหลังจากได้ฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนสหธรรมิกแล้ว ท่านได้รีบทำภารกิจส่วนตัวสรงน้ำให้ร่างกายสดชื่นดีแล้ว จึงเข้าไปในอุโบสถแต่เพียงรูปเดียว เมื่อกราบพระประธานแล้วก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า
“ขอให้พระองค์ทรงพระเมตตาโปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้าแม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของข้าพระองค์ฯจักเกิดโทษแก่พระศาสนาก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ฯด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต”
ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงธรรมกาย
เมื่อได้ตั้งสัตยาธิษฐานแล้วท่านก็เริ่มนั่งหลับตา ขณะนั้นมีมดอยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่ง กำลังไต่ขึ้นมารบกวนท่าน จึงหยิบขวดน้ำมันก๊าดขึ้นมา เพื่อจะทากันมด แต่แล้วก็คิดได้ว่า ชีวิตของเรา เราได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีก จึงวางขวดน้ำมันก๊าดลง เจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรคหรือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อได้รู้เห็นธรรมะแล้วท่านจึงได้เข้าใจว่า
“พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึก รู้นึก รู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้เป็นไม่เห็นเด็ดขาด”
เมื่อมองเรื่อยไปก็เห็นดวงใหม่ผุดซ้อนขึ้นมาแทนที่ดวงเก่า แต่ใสสว่างมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เห็นกายต่างๆ ตามลำดับจนกระทั่งถึง ธรรมกาย
ทำไมเราต้องเคารพ และบูชาพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ?
เนื่องจากพวกเราที่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ไม่ว่าจะมีความรู้ทางโลก มีความรู้ทางธรรมมากมายเพียงใด ก็คงจะทราบกันดีว่า เมื่อได้ลงมือศึกษาพระไตรปิฎกจะพบว่า การศึกษาจนกระทั่งแตกฉาน แล้วสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในภาคปฏิบัตินั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะว่าคำพูดแต่ละคำที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ล้วนเป็นถ้อยคำที่ลึกซึ้ง มีความหมายได้หลายนัย หากเอาความรู้ของเราที่มีอยู่ไปวินิจฉัย แล้วนำมาปฏิบัติ ก็ยากที่จะบังเกิดผลได้ ด้วยเหตุนี้เองการที่ผู้ใดผู้หนึ่ง จะศึกษาธรรมะให้ได้เข้าใจลึกซึ้ง ชัดเจน และสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติ ให้เกิดผลได้จริงแล้ว เรื่องสำคัญคือ "ต้องได้ครูดี" เพราะว่าถ้ายังหาครูดีไม่เจอ เมื่ออ่านธรรมะแล้ว ธรรมะนั้นจะผ่านตาแต่ไม่ผ่านใจ แล้วตีความหมายผิดเพี้ยน หรือว่ามีความลึกซึ้งไม่เพียงพอที่จะนำไปปฏิบัติก็ได้ จนในที่สุดอาจจะทำให้ต้องเดือดร้อนตามมาในภายหลัง
ขยายวิชชาธรรมกายสู่ชาวโลก
นอกจากจะค้นวิชชาธรรมกายกลับมาได้แล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ ยังเมตตานำวิชชาธรรมกาย ไปสอนผู้อื่น เพื่อให้มนุษย์ในยุคนั้น ได้รู้จักวิชชาธรรมกายตามท่านอีกด้วย เพราะฉะนั้น การที่พวกเราได้มารู้จักคำว่า "ธรรมกาย" รู้จักวิธีที่จะทำให้ถึงธรรมกายในตัว รู้จักเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ทั้งๆ ที่ยังปฏิบัติไปไม่ถึง จนทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะทุ่มเทในการปฏิบัติธรรมกันอย่างนี้ พวกเราเป็นหนี้พระคุณของท่านอย่างยิ่งทีเดียว
พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา เมื่อถึงคราวปฏิบัติธรรม ท่านก็เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไปค้นเอาวิชชาธรรมกายย้อนกลับมาให้พวกเรา... ถึงคราวอบรมลูกศิษย์ลูกหา ท่านก็ได้วางกฎ วางระเบียบ เอาไว้ เป็นขั้น เป็นตอน อย่างละเอียดชัดเจน และเนื่องจากการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงธรรมกายในตัวนี้ ไม่ใช่ทำได้ง่าย ท่านจึงได้เคี่ยวเข็ญลูกศิษย์ ขนาบแล้วขนาบอีก อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ใครที่ปฏิบัติได้จริง ก็เท่ากับเป็นพยานให้กับพระพุทธศาสนาไปด้วยในตัว
ส่วนญาติโยมที่มาทำบุญต่างก็พากันปลื้มใจ ว่าได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ เพราะบุญที่เกิดขึ้นสามารถเห็นผลได้ทันตาเลยทีเดียว นอกจากท่านจะทุ่มเทอบรมลูกศิษย์ลูกหา ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ภายในประเทศแล้ว ท่านยังทุ่มเทเผยแผ่ไปสู่ต่างประเทศ จนกระทั่งมีชาวต่างชาติเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นครั้งแรกของประเทศไทยอีกด้วย
ที่สำคัญ ก่อนจะลาโลกท่านได้สั่งเอาไว้ว่า ชาวโลกที่บารมีแก่กล้า พอที่จะเข้าถึงธรรมกายในตัว ยังมีอยู่อีกมาก แต่ว่าได้กระจัดกระจายไปทั่วโลก ซึ่งถ้าไม่มีใครไปสอนวิชชาธรรมกายให้ เขาก็จะไม่รู้บุญ รู้บาป เดี๋ยวจะตกนรกไปเสียอีก เพราะฉะนั้น แม้ท่านจะละโลกไปแล้ว ก็ขอให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย ตั้งใจนำวิชชาธรรมกายเผยแผ่ไปทั่วโลกให้ได้
กำหนดการพิธีกรรม
พิธีบูชาครูผู้ค้นพบวิชชาธรมกาย
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
ภาคเช้า
ตักบาตร บริเวณบ้านแก้วเรือนทองของคุณยายฯ สภาธรรมกายสากล
06.40 น. เริ่มพิธีตักบาตร
08.30 น. เสร็จพิธีตักบาตร
ภาคสาย
ปฏิบัติธรรม ณ ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล
9.30 น. ปฏิบัติธรรม
11.00 น. พิธีกล่าวคำถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน
14.35 น. พิธีบูชาครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
15.00 น. พิธีจุดเทียนใจ ไฟนิรันดร์อนันตชัย
15.30 น. ถวายปัจจัย/ ฟังโอวาท
16.30 น. เสร็จพิธี