การสร้างบารมีตอนปลาย

วันที่ 10 กย. พ.ศ.2558

 

การสร้างบารมีตอนปลาย

            สุเมธดาบสนั้น หลังจากที่ได้รับพยากรณ์แล้ว ได้พิจารณาพุทธการกธรรม ก็ได้เห็นบารมี 10 ประการแล้ว ออกบำเพ็ญบารมีจนตลอดชีวิตในสมัยของพระทีปังกรพุทธเจ้า และหลังจากนั้น ก็เวียนเกิดเวียนตายได้สร้างบารมีกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เป็นเวลาสี่อสงไขยกับแสนมหากัป เพื่อจะบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ประการนั้นให้บริบูรณ์ และเมื่อได้บำเพ็ญบารมีครบบริบูรณ์แล้วก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระสมณโคดมพุทธเจ้า ซึ่งในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงการสร้างบารมีกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในแต่ละพระองค์หลังจากได้รับ พุทธพยากรณ์แล้วพอสังเขปในบางชาติเท่านั้น และจะได้กล่าวถึงชาติสุดท้ายที่ได้บำเพ็ญบารมีที่ทำให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้สำเร็จ คือ ชาติที่เกิดเป็นพระเวสสันดร เป็นลำดับต่อไป

 

 การสร้างบารมีในสมัยของพระโกณฑัญญพุทธเจ้า

หลังจากที่เวียนตายเวียนเกิดมาหลายชาติแล้ว ในสมัยของพระโกณฑัญญะพุทธเจ้านี้ พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นกษัตริย์พระนามว่า วิชิตาวี ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม วันหนึ่งได้ถวายทานแด่ พระโกณฑัญญพุทธเจ้าพร้อมกับพระขีณาสพประมาณหมื่นโกฏิ และครั้งนั้นพระองค์ได้รับพยากรณ์จาก พระโกณฑัญญพุทธเจ้าว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตแน่นอน เมื่อได้รับพยากรณ์แล้ว ก็ได้สละราชสมบัติ ออกบวชในสำนักของพระโกณฑัญญะพุทธเจ้า ได้เรียนทั้งพระสูตรและพระวินัยทั้งปวง แล้วช่วยประกาศพระศาสนา พระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จถึงสมาบัติ 8 อภิญญา 5 ไปเกิดในพรหมโลก

 

การสร้างบารมีในสมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ในสมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้านี้ พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นชฎิล ชื่อว่า รัฏฐิกะ ได้ถวายผ้าพร้อมกับภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวก ครั้งนั้น พระปทุมุตตรพุทธเจ้าประทับนั่งท่ามกลางพระภิกษุสาวก ได้ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน จึงทำให้ชฎิลนั้นเกิดความปีติมาก แล้วได้อธิษฐานวัตรให้ยิ่งยวดขึ้นเพื่อที่จะบำเพ็ญบารมี 10 ให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นไป

 

 การสร้างบารมีในสมัยของพระวิปัสสีพุทธเจ้า

ในสมัยของพระวิปัสสีพุทธเจ้านี้ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญานาค มีฤทธิ์มาก มีบุญ มีความรุ่งเรือง ชื่อว่า อตุละ วันหนึ่งได้ไปเฝ้าพระวิปัสสีพุทธเจ้าพร้อมกับนาคหลายโกฎิ ได้บรรเลงดนตรีทิพย์ถวายแล้วทูลนิมนต์แล้วได้ถวายตั่งทอง ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วมุกดา ประดับด้วยอาภรณ์ทุกชนิดแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้าประทับนั่งกลางภิกษุสาวก แล้วได้ตรัสพยากรณ์ว่า ท่านจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังพระดำรัสของพระวิปัสสีพุทธเจ้าแล้ว ก็มีความยินดีและเกิดความตื้นตันใจเป็นอย่างมาก จึงได้อธิษฐานวัตรให้ยิ่งยวดขึ้น เพื่อที่จะบำเพ็ญบารมี 10 ให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นไป

 

การสร้างบารมีในสมัยของพระกกุสันธพุทธเจ้า

ในสมัยของพระกกุสันธพุทธเจ้านี้ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกษัตริย์พระนามว่า เขมะ ได้ถวายทานมากมายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวก มีบาตร จีวร ยาหยอดตา ชะเอมเครือและสิ่งประเสริฐทุกอย่างที่ภิกษุปรารถนา ครั้งนั้น พระกกุสันธพุทธเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ว่า ท่านจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังพระดำรัสของพระกกุสันธพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดความยินดีและความตื้นตันใจ ได้อธิษฐานวัตรให้ยิ่งยวดขึ้น เพื่อที่จะบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นไป

 

การสร้างบารมีในสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า

ในสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้านี้ พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นมาณพ ชื่อว่า โชติปาละ เป็นผู้มีการศึกษา ทรงจำมนต์ จบไตรเพท ถึงความสำเร็จในคัมภีร์ทำนายลักษณะและคัมภีร์อิติหาสะ ฉลาดในวิชาดูพื้นที่และอากาศ วันหนึ่งฆฏิการอุบาสก ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระกัสสปพุทธเจ้า ได้พาพระโพธิสัตว์ไปเข้าเฝ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ฟังธรรมแล้ว จึงได้ออกบวชในสำนักของพระพุทธองค์ เป็นผู้ปรารถความเพียร ฉลาดในวัตรน้อยใหญ่ ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ เล่าเรียนพระธรรมวินัยทั้งหมดแล้ว ช่วยประกาศพระศาสนาให้งดงาม ครั้งนั้น พระกัสสปพุทธเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ว่า ท่านจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังพระดำรัสของพระกัสสปพุทธเจ้าแล้ว ก็ทำให้จิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรให้ยิ่งยวดขึ้น เพื่อที่จะบำเพ็ญบารมีทั้ง 10 ประการให้บริบูรณ์ ยิ่งขึ้นไป และได้งดเว้นความประพฤติเสียหาย ทำกรรมที่ทำได้โดยยาก เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น

 

การสร้างบารมีในชาติที่เกิดเป็นพระเวสสันดร

การสร้างบารมีในชาติที่เกิดเป็นพระเวสสันดร7)

ในชาติที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระเวสสันดรนั้น เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในภัทรกัป หลังจากพระกัสสปพุทธเจ้าได้ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่ยังไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในตอนนี้ ซึ่งพระเวสสันดรโพธิสัตว์ถือได้ว่า เป็นผู้สร้างมหาทานบารมี ที่ได้ทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยากยิ่ง เพราะท่านได้รู้ว่าสิ่งที่บังเกิดขึ้นได้ยากยิ่งกว่านี้ยังมีอยู่ คือ การได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงได้ทำทานบารมีอย่างยิ่งยวดอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ไม่เคยท้อถอยหรือหวั่นไหวในสิ่งใดเลย

พระชาติที่ได้เกิดเป็นพระเวสสันดรโพธิสัตว์จึงเป็นเรื่องราวที่ถูกนำมาเล่ากันมากอย่างต่อเนื่องมาหลายครั้งในหมู่ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป แม้ในปัจจุบันก็ยังคงมีการนำเรื่องราวเหล่านี้มาเทศน์สอนกันอยู่ ที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ เรื่อง พระเวสสันดร หรือที่ทางภาคอีสานเรียกกันว่า เทศน์พระเวส สาเหตุที่ยังคงนำเรื่องราวของพระเวสสันดรมาเทศน์สอนกันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพราะพระชาตินี้ที่ได้ว่าเป็นแบบอย่างในการดำรงตนของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในการสร้างมหาทานบารมี โดยที่ไม่ได้หวั่นไหวในสิ่งทั้งหลายที่จะทำให้ตนท้อแท้ในการสร้างบารมีได้ ฉะนั้นนักศึกษาควรศึกษาแง่คิดมุมมองในการสร้างบารมีของพระเวสสันดร เพื่อจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติเป็นต้นแบบในการสร้างบารมีกันต่อไป

 

พระเวสสันดรโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดในพระครรถ์ของพระนางผุสดีผู้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสัญชัย ในกรุงเชตุดร โดยในขณะที่พระโพธิสัตว์อยู่ในครรถ์พระมารดา พระนางผุสดีทรงใคร่ปรารถนาจะสร้างมหาทานบารมี จึงรับสั่งให้สร้างโรงทาน 6 แห่ง คือ ที่ประตูเมืองทั้ง 4 แห่ง ที่กลางเมือง 1 แห่ง ที่ประตูพระราชวัง 1 แห่ง ทรงสละพระราชทรัพย์เป็นทาน 600,000 กหาปณะทุกวัน

พราหมณ์ผู้รู้นิมิตทั้งหลายได้ทูลพยากรณ์ว่า ที่พระนางทรงทำเช่นนี้ เพราะท่านผู้ยินดียิ่งในทานมาอุบัติในพระครรภ์ของพระราชเทวี และตั้งแต่ที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ ส่วยอากรของพระราชาก็ได้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยได้ แม้พระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้นต่างส่งเครื่องบรรณาการมาถวายพระเจ้าสญชัยทุกวัน ทั้งนี้ด้วยบุญญานุภาพของพระโพธิสัตว์นั้นเอง เมื่อพระนางผุสดีทรงพระครรภ์ครบ 10 เดือนบริบูรณ์ ทรงมี พระประสงค์จะชมเมือง จึงกราบทูลพระราชสวามี จากนั้นทรงรถที่นั่งอันประเสริฐทำประทักษิณพระนคร ในขณะนั้นลมกรรมชวาตก็ปั่นป่วน พระราชาจึงให้ทำพลับพลาสำหรับประสูติทันที

 

พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์แห่งพระมารดา เป็นผู้บริสุทธิ์ ลืมพระเนตรทั้งสองออกมา เมื่อออกมาก็เหยียดพระหัตถ์ต่อพระมารดาตรัสว่าข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันจักบริจาคทาน มีทรัพย์อะไรๆ บ้าง ครั้งนั้นพระชนนีตรัสตอบว่า

“    พ่อจงบริจาคทานตามอัธยาศัยของพ่อเถิด แล้ววางถุงกหาปณะพันหนึ่งในพระหัตถ์ที่แบอยู่ ”

ครั้งนั้น ในวันถวายพระนามพระโพธิสัตว์พระประยูรญาติทั้งหลาย ได้ขยายพระนามว่า เวสสันดร เพราะประสูติในถนนแห่งพ่อค้าพร้อมกันนั้น ในวันที่ท่านประสูติ ช้างพังเชือกหนึ่งซึ่งสามารถเหาะได้ ได้นำลูกช้างเผือกขาวปลอดมาถวายแล้วก็จากไป เมื่อทรงอายุได้ 4 ขวบ พระราชาทรงให้ทำเครื่องประดับสำหรับพระราชกุมารราคาแสนหนึ่ง พระราชกุมารผู้มีใจรักในการให้ทาน พอรับมาประดับได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็เปลื้องเครื่องประดับนั้นแก่นางนมทั้งหลาย ไม่ทรงรับเครื่องประดับที่เหล่านางนมถวายคืนอีก เหล่านางนมก็กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นแด่พระราชา พระราชาก็ให้ทำเครื่องประดับชิ้นใหม่แด่พระโอรส

 

เมื่อพระชนมพรรษา 8 ชันษา พระราชกุมารได้เสด็จขึ้นไปยืนอยู่ปราสาท ทรงดำริว่า เราให้ทานภายนอกอย่างเดียว ทานนั้นหายังเราให้ยินดีไม่ เราใคร่จะให้ทานภายใน แม้ถ้าใครๆ พึงขอหทัยของเรา เราจะพึงให้ผ่าอุระประเทศนำหทัยออกให้แก่ผู้นั้น ถ้าเขาขอจักษุทั้งสองของเรา เราก็จะควักจักษุให้ ถ้าเขาขอเนื้อในสรีระ เราจะเชือดเนื้อจากสรีระทั้งสิ้นให้จนหมด ถ้าแม้ใครๆ พึงขอโลหิตของเรา เราก็จะให้โลหิต หรือว่าใครๆ พึงกล่าวกะเราว่า ท่านจงเป็นทาสของข้า เราก็ยินดียอมตัวเป็นทาสของผู้นั้น

เมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนมพรรษาได้ 16 ชันษา ก็ทรงศึกษาศิลปวิทยาทุกอย่าง พระราชบิดาทรงเห็นสมควรว่า ถึงเวลาแล้วที่จะประทานราชสมบัติแก่พระบรมโพธิสัตว์ จึงทรงปรึกษาพระนางผุสดีและ พระประยูรญาติ จากนั้นก็ได้นำราชกัญญานามว่า มัทรี ผู้เป็นราชธิดาของพระเจ้าลุงจากมัททราชสกุล ให้เป็นอัครมเหสี ให้เป็นใหญ่กว่าสตรีหมื่นหกพัน จากนั้นก็ทรงมอบราชสมบัติให้กับพระเวสสันดร

 

พระเวสสันดรทรงอาศัยความเป็นผู้มีโชคนี้ ทรงได้สละทรัพย์วันละหกแสนกหาปณะ ตั้งแต่ครองราชสมบัติไม่เคยขาดเลย และพระองค์ยังประทับบนคอช้างเพื่อเสด็จทอดพระเนตรโรงทานทั้งหมดเดือนละ 6 ครั้งเป็นประจำอีกด้วย ทำให้ชื่อเสียงอันดีงามของท่านขจรขจายออกไปทั่วชมพูทวีป สมัยต่อมา พระนางมัทรีประสูติพระโอรส ชื่อชาลีราชกุมาร เมื่อพระราชกุมารนั้นทรงเดินได้ พระนางก็ทรงประสูติพระธิดาพระนามว่า กัณหาชินา

สมัยนั้น ในกาลิงครัฐเกิดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล การเก็บเกี่ยวไม่ดี ข้าวยากหมากแพง ทำให้ชาวเมืองอดอยาก แถมยังมีโจรชุกชม ฝ่ายพระราชาทรงแก้ปัญหาด้วยการทรงสมาทานศีล รักษาอุโบสถศีล 7 วัน ถึงกระนั้น ฝนก็ยังไม่ตก ชาวเมืองจึงกราบทูลให้พระราชาทรงส่งพราหมณ์ไปขอช้างมงคลของ พระเวสสันดร ก็จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เมื่อพระราชาทรงสดับเช่นนี้ ก็เลือกพราหมณ์ 8 คน แล้วรีบส่งไปขอมงคลหัตถีที่กรุงเชตุดรทันที เมื่อพราหมณ์ทั้ง 8 ท่านไปถึงกรุงเชตุดร ก็ได้ปลอมแปลงเป็นยาจกขอทาน ผู้น่าสงสาร นุ่งเสื้อผ้าเก่าๆ ขาดวิ่น เนื้อตัวเปื้อนฝุ่นธุลีไปนั่งรอพระเวสสันดรที่โรงทาน

 

เช้าตรู่วันนั้น เมื่อพราหมณ์ทั้ง 8 เห็นพระเวสสันดรออกตรวจโรงทานก็เข้าไปนั่งล้อมรอบช้างมงคล พระเวสสันดรจึงตรัสถามพราหมณ์ทั้ง 8 จึงทราบว่า พราหมณ์ทั้ง 8 ต้องการได้ช้างมงคลไปยังกาลิงครัฐ พระองค์จึงได้ให้ช้างมงคลตัวนั้นแก่พราหมณ์ พวกพราหมณ์พอขอช้างได้แล้ว ก็พากันแห่ไปท่ามกลางพระนคร พอมหาชนเห็นช้างมงคลเข้า ก็ถามจึงทราบว่าพระเวสสันดรบริจาคมา ก็พากันวิพากวิจารณ์และโกรธ พระโพธิสัตว์มาก จึงรวมตัวกัน ตั้งแต่ราชบุตรจากทุกตระกูล พ่อค้า ชาวนา พราหมณ์ ต่างก็พากันมาชุมนุม ร้องเรียนพระเจ้าสัญชัยให้ทรงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกเมืองสีพี ไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด8)

พระเจ้าสัญชัยสดับคำร้องเรียนเช่นนั้นแล้ว ก็เห็นว่า ไม่สามารถต้านกำลังของชาวเมืองได้ จึงรับสั่งให้พระเวสสันดรพักได้อีกหนึ่งคืน พอเวลาเช้าก็จะให้ออกจากเมือง ถึงกระนั้นพระเวสสันดรก็ไม่ได้หวั่นไหวอะไรเลย ไม่รู้สึกท้อพระทัย หรือเดือดร้อนกับการสร้างมหาทานทานบารมีของพระองค์ มีแต่เกิดความปีติโสมนัสที่จะได้สร้างทานบารมี ในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่จะออกเดินทางไปอยู่ที่เขาวงกต จะต้องทำมหาทานให้ ยิ่งๆ ขึ้นไป

 

พระองค์จึงได้รับสั่งให้มหาอำมาตย์ชื่อ คุตตะ มาเข้าเฝ้า แล้วรับสั่งให้จัดแจงสัตตสตกมหาทาน9) ซึ่งมหาเสนาคุตตะก็สามารถจัดหามาได้โดยไม่ยากอะไร

ในคืนนั้น พระเวสสันดรจึงไปหาพระนางมัทรี แล้วบอกให้นางทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังสอนให้นางหมั่นทำทานเป็นประจำ ให้เลี้ยงดูลูกทั้งสองให้ดีและให้บำรุงกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ด้วย ความเคารพ แต่พระนางมัทรีก็ได้อ้อนวอนขอติดตามไปด้วย พระองค์จึงต้องให้นางติดตามไปด้วย

 

พระเวสสันดรทรงบริจาคสัตตะสะตะกะมหาทานตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นสมปรารถนาแล้ว ก็เสด็จกลับพระราชนิเวศน์ เพื่อถวายบังคมลาพระชนกพระชนนีและเหล่าพระประยูรญาติทั้งหมด ฝ่ายพระนางมัทรี ก็ขออนุญาตออกบวชด้วย แต่พระเจ้าสัญชัยก็ทรงห้ามเอาไว้ แต่พระนางก็หาเหตุผลที่จะติดตาม พระเวสสันดรให้ได้ ทำให้พระเจ้าสัญชัยอนุญาตให้ติดตามไปได้ นอกจากนี้พระนางยังนำพระโอรสและธิดาทั้งสองไปด้วย พระนางกล่าวยืนยันว่า

“    หากหม่อมฉันทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ทารกทั้งสองก็จักเป็นสุขเพียงนั้น”

เมื่อพระเวสสันดรอำลาพระประยูรญาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ออกเดินทางทันที พระนางผุสดี ราชมารดาทรงทราบว่า พระโอรสมีพระทัยยินดีในการบริจาคเหนือสิ่งอื่นใด จึงให้จัดเกวียนหลายเล่มที่ เต็มด้วยรัตนะ 7 ประการ พร้อมด้วยอาภรณ์ต่างๆ มากมายตามไปส่ง ฝ่ายพระเวสสันดรก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับ ที่มีอยู่ในพระวรกาย พระราชทานแก่เหล่ายาจกผู้มาขอถึง 18 ครั้ง ได้พระราชทานสิ่งที่เหลืออยู่จนหมด และเมื่อเดินทางไปได้ไม่นาน ก็มีพราหมณ์ 4 คน มาไม่ทันรับสัตตะสะตะกะมหาทาน จึงเข้าไปพระนคร ครั้นได้ทราบว่าพระเวสสันดรบริจาคทานเสร็จและได้ออกนอกพระนครไปแล้ว จึงรีบติดตามมาเพื่อขอม้า 4 ตัว เมื่อมาถึง พระเวสสันดรก็ไม่ทำให้พราหมณ์ทั้ง 4 ผิดหวัง ได้พระราชทานม้าทั้ง 4 ตัวไป ส่วนพระองค์เองก็ทรงจูงมือชาลีผู้เป็นพระโอรส พระนางมัทรีทรงจูงมือพระธิดากัณหาออกเดินทางมุ่งหน้า สู่เขาวงกต

 

เมื่อพบเจอใครที่เดินสวนทางมา ก็ไต่ถามทางไปเขาวงกต เพราะเป็นสถานที่อยู่ห่างไกลมาก คนที่ชำนาญทางได้แนะนำว่า ตั้งแต่เชตุดรราชธานี ถึงภูเขาชื่อสุวรรณคิรี ประมาณ 5 โยชน์ ตั้งแต่ สุวรรณคิรีถึงแม่นํ้าชื่อโกนติมารา 5 โยชน์ เดินทางไปอีก 5 โยชน์ ก็จะพบภูเขาอัญชนคีรี แล้วไปอีก 5 โยชน์จะเป็นบ้านพราหมณ์ชื่อตุณณวิถนาลิทัณฑ์ ไปอีก 10 โยชน์ก็จะถึงมาตุลนคร รวมตั้งแต่เชตุดรนครถึง แคว้นนั้น เป็น 30 โยชน์ แต่ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ว่า เทวดามาช่วยย่นหนทางให้ ทำให้กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ เสด็จถึงมาตุลนคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นเจตรัฐ โดยใช้เวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น

เมื่อกษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์เสด็จถึงเจตรัฐในเวลาเย็น สมัยนั้น มีเจ้าครองนครอยู่ในมาตุลนครถึง 6 หมื่นองค์ เมื่อชาวเมืองรู้ว่า พระเวสสันดรพระนางมัทรี และพระโอรสพระธิดาเสด็จมาด้วยเท้าเปล่า ก็เกิดความสงสัยและพากันมาเข้าเฝ้า แล้วไปแจ้งข่าวให้พระยาเจตราชทั้ง 6 หมื่นทราบ พระองค์ท่านได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เหมือนหมู่ญาติรอคอยบุคคลที่จากไปนาน ด้วยความใจจดใจจ่อ พระยาเจตราชทูลถามพระเวสสันดรถึงเหตุที่พระองค์เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ เมื่อพระยาเจตราชทั้ง 6 หมื่นทราบ ต่างก็ทรงสงสารพระองค์ยิ่งนัก ที่ทำดีแต่ไม่มีใครเห็นความดี จึงพร้อมใจกันกราบทูลให้พักที่เจตรัฐนี้ และจะไปบอกพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ให้ยกโทษ

 

แต่พระเวสสันดรทรงห้ามปรามเจ้านครเหล่านั้น ที่พระองค์ต้องถูกเนรเทศออกนอกเมือง เป็นเพราะความไม่เข้าใจของชาวเมืองสีพี หาใช่เป็นความผิดของพระราชบิดาไม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระยาเจตราชทั้งหลายก็ยังยินยอมพร้อมใจที่จะถวายราชสมบัติ ให้กับพระเวสสันดรได้เป็นเจ้าครองนคร ปกครองดูแลพวกตน แต่ท่านก็ไม่ได้ปรารถนา เพียงแต่ขอพักอาศัยที่นครนี้เพียงคืนเดียวเท่านั้น วันรุ่งขึ้นก็จะพากันออกเดินทางต่อไป เพื่อบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าตามลำพัง จากนั้นกษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ก็เสด็จออกเดินทางไกล โดยมีกษัตริย์ 6 หมื่นพระองค์พร้อมด้วยเหล่าอำมาตย์ ข้าราชบริพารมากมายเสด็จตามไปส่งถึง 15 โยชน์ นับเป็นการออกบวชอย่างมีเกียรติ ด้วยอานุภาพบุญของพระองค์ แม้จะเป็นหนทางไกลแต่ก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็ถึงปากทางเข้าป่าใหญ่ พระยาเจตราชแต่งตั้งนายพรานคนหนึ่งชื่อ เจตบุตร รักษาทางเข้าป่าใหญ่ เอาไว้ จะได้ไม่มีใครมารบกวนหรือประทุษร้ายกษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ได้ เมื่อรับสั่งนายพรานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ชักชวนกันเสด็จกลับพระนคร

ขณะนั้น พระอาสน์ของท้าวสักกเทวราชแสดงอาการร้อน ท้าวสักกะทรงพิจารณาแล้วทรงถึงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงรับสั่งให้วิสสุกรรมเทพบุตรสร้างอาศรมที่เขาวงกต วิสสุกรรมเทพบุตรจึงเนรมิตบรรณศาลา 2 หลัง ที่จงกรม 2 แห่ง ที่พักกลางคืนที่พักกลางวัน และได้ตระเตรียมบริขารไว้ให้ จากนั้นก็จารึกอักษรไว้ว่า “    ท่านผู้หนึ่งผู้ใด ใคร่จะบวช ก็จงใช้บริขารเหล่านี้ พร้อมกับห้ามเหล่าอมนุษย์ หมู่เนื้อหมู่นก ที่มีเสียงดังรบกวนไม่ให้เข้ามาใกล้”

 

เมื่อพระเวสสันดรเดินทางมาถึงภูเขาวงกตแล้ว เห็นสถานที่ซึ่งวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ ก็ทรงทราบเหตุนั้น จึงได้ถือเพศบรรพชิตพร้อมกับพระนางมัทรีและพระราชโอรสพระราชธิดาอาศัยอยู่ในบรรณศาลานี้ โดยมีพระนางมัทรีทำหน้าที่อุปัฏฐากดูแลพระเวสสันดรและพระโอรสพระธิดาได้อย่างสมบูรณ์คอยดูแล บำรุงปฏิบัติอย่างดี และนำผลไม้จากป่ามาถวาย ซึ่งเมื่อมาอยู่ในที่นี้ พระเวสสันดรก็ได้ทำกติกาห้ามไม่ให้พระนางมัทรีเข้ามาหาพระองค์ในเวลาไม่สมควร

นอกจากนี้ยังมีพราหมณ์เฒ่าคนหนึ่ง ชื่อว่า ชูชก เป็นชาวบ้านพราหมณ์ชื่อทุนนวิฏฐะ ในกาลิงครัฐ เที่ยวภิกขาจาร ได้ทรัพย์มา 100 กหาปณะ ก็ฝากไว้กับเพื่อนสนิท จากนั้นก็ได้ออกไปแสวงหาทรัพย์อีก เมื่อไปนาน พราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนก็ใช้ทรัพย์นั้นจนหมด เมื่อชูชกกลับมาทวงก็ไม่สามารถจะให้คืนได้ จึงยกธิดาชื่อนางอมิตตตาปนาให้ชูชก ชูชกจึงได้นางอมิตตตาปนามาเป็นภรรยาสาว แล้วพากันไปอยู่ที่บ้านในกาลิงครัฐ นางก็ได้ปฏิบัติพราหมณ์ด้วยดีเสมอมา

 

พวกพราหมณ์หนุ่มๆ เห็นนางอมิตตตาปฏิบัติต่อสามีแก่เป็นอย่างดี ก็ตำหนิภรรยาของตนเองว่า ทำหน้าที่สู้นางอมิตตตาไม่ได้ พวกนางจึงเกิดความอิจฉา และหาทางที่จะล้อเลียนพูดจาเหน็บแนมนาง อมิตตตา ให้นางได้รับความไม่สบายใจ พอนางอมิตตตาไปท่านํ้า ก็ถูกพวกภรรยาของพราหมณ์หนุ่มกล่าว เมื่อนางอมิตตตาได้รับการบริภาษและถูกดูหมิ่นเช่นนั้น ก็กระดากอาย จึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้สามีแก่ฟัง ชูชกหลงใหลในตัวนาอมิตตตาอยู่แล้ว จึงได้ปลอบโยนและเอาใจภรรยาสาว โดยไม่ให้นางไปตักน้ำมาให้ตนอีก ตนจะไปตักมาเอง แต่นางอมิตตตากลับปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้เกิดในตระกูลที่ใช้สามีให้ตักน้ำ จึงให้ชูชกไปขอทาสจากพระเวสสันดรมาให้ตน ถ้าหามาไม่ได้ก็จะไม่อยู่กับชูชกอีก

พอชูชกได้ฟังเช่นนั้นก็ตกใจ กลัวว่าภรรยาสาวจะไม่อยู่กับตนเอง จึงตัดสินใจออกเดินทางไปขอทาสและทาสีจากพระเวสสันดร เพื่อเอาอกเอาใจบำรุงบำเรอนางอมิตตตาภรรยาสาว โดยไม่เห็นแก่ความยากลำบากเมื่อชูชกเดินทางเข้าไปในนครเชตุดร ได้ไต่ถามประชาชนที่มาประชุมกันตามสถานที่ต่างๆ จึงทราบว่าพระเวสสันดรถูกขับไล่ไปอยู่เขาวงกต และรู้ว่าพระเวสสันดรไม่ได้เสด็จไปตามลำพัง แต่ยังมีพระนางมัทรี พระโอรสและธิดาติดตามไปด้วย จึงตั้งใจว่าจะไปขอกัณหาชาลีราชกุมาร แล้วมุ่งหน้าไปทางเขาวงกตตามลำพัง

 

เมื่อไปถึงทางเข้าป่าใหญ่ ชูชกก็ถูกฝูงสุนัขล่าเนื้อวิ่งเข้าใส่หมายจะขยํ้าคอกัดให้ตาย ชูชกเห็นก็รีบวิ่งหนีขึ้นต้นไม้เอาตัวรอดอย่างทุลักทุเล ฝ่ายพรานเจตบุตรที่เหล่าพญาเจตราชแต่งตั้งให้อารักขา พระเวสสันดรนั้น ก็คิดจะฆ่าชูชก เพราะเห็นลักษณะท่าทางแล้วเหมือนผู้ไม่ประสงค์ดี แต่ด้วยความเป็นผู้มีไหวพริบ จึงพูดโกหกพรานว่า ตนเป็นราชทูตที่พระเจ้าสัญชัยส่งมาเชิญพระเวสสันดรเสด็จกลับพระนคร ทำให้พรานเจตบุตรเชื่ออย่างสนิทใจ และเกิดปีติยินดี จึงได้ชี้บอกทางที่อยู่ของพระเวสสันดรอย่างละเอียด แล้วก็ออกเดินทางต่อไปจนถึงสำนักของอัจจุตฤาษี

เมื่อเดินทางไปถึง ก็เข้าไปสนทนากับอัจจุตฤาษีไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชูชกก็เลียบเคียงถามถึงที่อยู่ของพระเวสสันดร ท่านดาบสได้ฟังคำถามเช่นนั้น ก็เกิดความสังหรณ์ใจคิดว่า ชูชกคงจะไม่ได้มาดีอย่างแน่นอน จึงไม่ยอมบอกให้ทราบ แต่ด้วยความมีไหวพริบ ชูชกจึงแสร้งพูดประจบประแจงถึงประโยชน์ที่ตนมาในครั้งนี้ อัจจุตฤาษีฟังเช่นนั้น หลงเชื่อถ้อยคำของชูชก จึงได้เหยียดมือชี้ไปทางที่ประทับของพระเวสสันดร พร้อมกับแนะนำเส้นทางอย่างละเอียดถี่ถ้วน ชูชกครั้นรู้แล้วก็ขอบคุณพระฤาษี จากนั้นก็รีบออกเดินทางทันที พราหมณ์ชูชกเดินทางมาถึงสถานที่ที่พระโพธิสัตว์ประทับอยู่เห็นว่า ตอนนี้เป็นเวลาเย็นแล้ว จึงยังไม่เดินทางเข้าไปขอพระโอรสพระธิดา จึงพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวขอในเวลาเช้า

 

ในคืนนั้นเอง เวลาใกล้รุ่ง พระนางมัทรีได้ทรงพระสุบินว่า เห็นชายคนหนึ่งถืออาวุธเข้ามาทำร้ายนาง ทำให้นางสะดุ้งตื่น แล้วรีบเข้าไปหาพระเวสสันดร แต่เมื่อไปถึงก็ถูกพระเวสสันดรต่อว่า ในการมาในเวลาอันไม่สมควร พระนางมัทรีจึงได้บอกว่าตนฝันร้าย แล้วเล่าเรื่องที่ทรงฝันร้ายให้ฟัง พระเวสสันดรเมื่อสดับถ้อยคำนั้นก็รู้ว่าพรุ่งนี้ทานบารมีของพระองค์จะเต็มรอบ จึงทรงสรรหาถ้อยคำที่ทำให้นางเบาพระทัยแล้วทรงให้กลับไปที่อาศรมทำภารกิจตามปกติ

เมื่อสว่างแล้ว พระนางมัทรีก็ทรงถือกระเช้าไปหาผลไม้ในป่าตามที่เคยปฏิบัติทุกวัน ฝ่ายชูชกคิดว่า บัดนี้พระนางมัทรีคงจะเสด็จเข้าป่าไปแล้ว จึงมุ่งหน้าไปยังอาศรมของพระเวสสันดร เมื่อพระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นการมาของชูชกแล้ว ก็ทราบว่าจะต้องมาขออะไรจากพระองค์แน่ จึงได้ทำการต้อนรับ แล้วถามถึงเหตุที่มาในครั้งนี้ ชูชกจึงได้ขอพระราชทานพระราชโอรสและพระราชธิดา พระเวสสันดรได้ทรงสดับคำของชูชกเช่นนั้น ก็ทรงเกิดความปีติโสมนัส จึงได้เอ่ยปากที่จะยกพระราชโอรสและพระราชธิดามอบให้กับชูชก และชวนให้ชูชกอยู่ค้างคืนหนึ่งก่อน แต่ชูชกก็รู้ว่าถ้าค้างคืน ก็จะไม่ได้พระราชโอรสและพระราชธิดา จึงได้กล่าวถ้อยคำยกใจพระเวสสันดร เพื่อจะได้ตัดใจยกลูกทั้งสองให้ตน

 

พระชาลีราชกุมารและพระกัณหาชินาราชกุมารีรู้ว่า พระบิดาจะต้องบริจาคตัวให้กับชูชกอย่างแน่นอน ก็ขนลุกชูชัน ตกใจกลัวหวาดหวั่นไปตามๆ กัน จึงพากันลงไปยืนอยู่ในสระโบกขรณี เอาใบบัววางไว้บนพระเศียร ยืนขาสั่น นํ้าตาไหลอาบแก้มอยู่ในนํ้า ฝ่ายชูชกไม่เห็นสองกุมาร จึงพูดรุกรานกระทบกระเทียบพระโพธิสัตว์ พระเวสสันดรจึงได้ลุกออกไปดู ก็ทราบว่าพระโอรสพระธิดาเสด็จไปยืนอยู่ในสระโบกขรณี จึงตรัสบอกให้พระราชโอรสและพระราชธิดาเข้าใจถึงเหตุในการบริจาคทานครั้งนี้ให้กับชูชก ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็เข้าใจ จึงได้ขึ้นมาจากสระโบกขรณี และร้องไห้ด้วยความรักในพระโพธิสัตว์ พระองค์จึงได้พูดปลอบโยนบุตรทั้งสอง แล้วทรงกำหนดราคาพระราชกุมารพระราชกุมารีในการไถ่ตัว แล้วทรงจับพระเต้าน้ำ หลั่งน้ำลงในมือชูชก พร้อมกับตรัสบอกถึงความรักพระสัพพัญญุตญาณของพระองค์

พระโพธิสัตว์เจ้าครั้นทรงบำเพ็ญบุตรทานแล้ว ก็เกิดความปีติโสมนัสในใจ ฝ่ายชูชกเข้าไปป่า เอาฟันกัดเถาวัลย์ถือมาผูกพระหัตถ์ขวาของพระชาลีกุมารรวมกันกับพระหัตถ์ซ้ายของพระกัณหาชินากุมารี ถือปลายเถาวัลย์ไว้ แล้วเฆี่ยนตีต่อหน้าพระพักตร์ของพระเวสสันดร สั่งให้ทั้งสองหยุดร้องไห้ จากนั้นก็ฉุดดึงพระกุมารทั้งสองออกจากป่าไป ในขณะนั้นเทพบุตร 3 องค์ จึงจำแลงกายเป็นราชสีห์ เป็นเสือโคร่งและเป็นเสือเหลือง นอนกั้นทางเสด็จกลับอาศรมของพระนางมัทรีเอาไว้ จนกว่าดวงอาทิตย์จะอัสดงคต เพื่อจะให้ทานบารมีของพระโพธิสัตว์ได้สำเร็จบริบูรณ์ ฝ่ายพระนางมัทรีหวั่นพระหฤทัยอยู่ พร้อมกับในวันนี้ก็มีเหตุลางสังหรณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น เสียมหลุดจากพระหัตถ์ กระเช้าหลุดจากบ่า พระเนตรเบื้องขวาเขม่น พฤกษาชาติที่มีผลก็เหมือนกับไม่มีผล พฤกษาชาติที่ไม่เคยมีผลก็เหมือนกับว่ามีผลดก ทิศทั้งสี่ก็กำหนดไม่ได้ ยิ่งเมื่อมาเจอกับสัตว์ร้ายที่นอนขวางทางอยู่ข้างหน้า พระนางก็ตกพระทัยได้แต่อ้อนวอน แต่สัตว์ร้ายทั้ง 3 ก็ไม่ยอมลุกขึ้นไปไหน จวบจนพลบคํ่าจึงหลีกเข้าป่าไป ฝ่ายพระนางมัทรีก็รีบเดินทางกลับอาศรมทันที

 

เมื่อกลับมาถึงก็มองไม่เห็นพระโอรสพระธิดา ก็รีบเสด็จไปเฝ้าพระเวสสันดร ทูลถามถึงพระกุมารกุมารีทั้งสอง ซึ่งพระเวสสันดรไม่ได้ให้คำตอบ แต่กลับต่อว่าที่นางกลับมามืดค่ำอย่างนี้ พระนางมัทรีจึงได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้ให้ฟัง เมื่อพระเวสสันดรได้สดับแล้ว จึงบอกว่าพระองค์ได้บริจาคกัณหาชาลีให้กับ ชูชกแล้ว เมื่อนางได้ฟังเช่นนั้น ก็สลบล้มลงเพราะความโศกที่บุตรทั้งสองต้องพรากจากไป พระเวสสันดรเห็นเช่นนั้น จึงเข้าไปประครองนางแล้วแก้ไขให้พระนางตื่นขึ้นมา เมื่อผ่านไปได้ไม่นาน พระนางก็ได้สติรู้สึกตัวขึ้นมา ก็รีบขอขมาพระโพธิสัตว์พร้อมกับอนุโมทนาบุญในทานที่พระองค์ได้บริจาคบุตรทั้งสองเป็นทาน

ในวันต่อมา ท้าวสักกเทวราชได้ทรงจำแลงเพศเป็นพราหมณ์ไปเฝ้าพระเวสสันดร เพื่อขอพระนางมัทรี ซึ่งพระโพธิสัตว์ก็ได้ยกให้พระนางมัทรีแก่พราหมณ์จำแลง ท้างสักกเทวราชจึงได้กล่าวชมเชยสรรเสริญ พระโพธิสัตว์และพระนางมัทรี พร้อมทั้งให้พระเวสสันดรของพรได้ 8 ข้อ พระโพธิสัตว์ก็ขอพรครบทั้ง 8 ข้อ ซึ่งท้าวสักกเทวราชได้ให้คำยืนยันว่าพรทั้ง 8 ข้อจะสำเร็จแน่นอน

 

ฝ่ายพราหมณ์ชูชกพากุมารทั้งสองพระองค์ เดินทางไกลจนกระทั่งถึงกรุงเชตุดร ในขณะนั้นเอง พระเจ้าสัญชัยทอดพระเนตรไปทางถนน ทรงเห็นสองกุมารกุมารีซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คนหนึ่ง เหมือนพระชาลี คนหนึ่งเหมือนกัณหาชินา เกิดความสงสัยขึ้นมา แต่ก็คิดไม่ถึงว่า กุมารและกุมารีนี้จะ เป็นหลานของพระองค์เอง จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์ไปเชื้อเชิญเข้ามาใกล้ๆ เมื่อมาแล้ว จึงได้ไต่ถามพราหมณ์ชูชก ครั้นทราบความจริง จึงนึกสงสัยถึงการบริจาคบุตรเป็นทานของพระเวสสันดร แต่พระชาลีราชกุมารก็ได้อธิบายให้พระเจ้าสัญชัยฟังอย่างละเอียด และยังบอกถึงค่าตัวของตนที่พระเวสสันดรได้กำหนดเอาไว้

พระเจ้าสัญชัยจึงพระราชทานทรัพย์เพื่อเป็นค่าไถ่แก่ชูชก และเลี้ยงต้อนรับอย่างดี ทำให้ชูชกซึ่งไม่ได้ประมาณในการบริโภคอาหาร จึงท้องแตกตาย พระเจ้าสัญชัยจึงโปรดให้ขนทรัพย์ทั้งหมดคืน พระคลังหลวง เนื่องจากไม่มีญาติมารับเอาทรัพย์นั้นไป หลังจากนั้น พระเจ้าสัญชัยก็ได้เตรียมการที่จะเสด็จไปเขาวงกต ซึ่งเมื่อเตรียมการเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เดินทางไปรับด้วยพระองค์เองพร้อมกับกองทัพ เมื่อเสด็จไปถึงที่อยู่ของพระเวสสันดร ก็ได้สนทนากันอย่างร่าเริงเบิกบานด้วยความคิดถึง และขอร้องให้พระเวสสันดร กลับไปกรุงเชตุดร เมื่อพระเวสสันดรปฏิเสธก็ได้พากันหมอบลงขอร้อง ทำให้พระเวสสันดรต้องเสด็จกลับพระนครพร้อมกองทัพ เมื่อพระองค์เสด็จกลับถึงกรุงเชตุดรแล้ว ก็ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วย ทศพิธราชธรรม ทรงบำเพ็ญทานบารมีจนตลอดพระชนมชีพ จากนั้นก็ได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสันดุสิตเทวราชเป็น จอมเทพในสวรรค์ชั้นดุสิต

 

นี้คือผลแห่งการทำทานอย่างทุ่มเทแบบสุดกำลังของพระโพธิ์สัตว์ ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันนั้น เมื่อถึงคราวบุญส่งผล นอกจากจะส่งผลดีให้เฉพาะตัวท่านแล้ว ยังส่งผลถึงเหล่าประชาราษฎร์และสรรพสัตว์อีกมากมายนับไม่ถ้วน เพราะพระองค์มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทุกอย่างที่พระองค์คิด ทุกสิ่งที่พระองค์ทำ ทุกถ้อยคำที่พระองค์พูด ต่างก็เป็นไปเพื่อสันติสุขของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง สมควรที่พวกเราจะยึดเอาท่านเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปกันทุกคน

พระชาตินี้เป็นพระชาติสุดท้ายที่พระองค์เกิดมาเพื่อสร้างบารมีในการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อพระองค์ได้กลับมาเกิดอีกในครั้งต่อไป ก็จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บารมีของพระองค์จึงเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ในพระชาตินี้ พร้อมที่จะมาเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อไปได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องรอเวลาในการเสด็จมาตรัสรู้ แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมแก่การมาบังเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเสด็จมายังสรรพสัตว์ให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต และหลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้ออกไปได้อย่างเช่นกับพระองค์

 

บทสรุป

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดในบทเรียนนี้ นักศึกษาคงจะเข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ก่อนที่พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า จะตั้งความปรารถนาเพื่อมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งอย่างพวกเราทั่วไป แต่ด้วยประสบการณ์และการสั่งบุญบารมีมาตลอดจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ จึงทำให้พระองค์เกิดปัญญา มองเห็นว่า โลกใบนี้มีแต่ความทุกข์ที่มนุษย์ต้องวนเวียนอยู่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น พระองค์จึงเกิดความคิดที่จะหลุดพ้นออกไปจากวัฏสงสารนี้ และจะไม่ไปเพียงลำพังพระองค์เดียว แต่จะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นออกไปด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ได้เนมิตตกนามที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ความเป็นมนุษย์ว่า พระโพธิสัตว์ คือ สัตว์ที่ปรารถนาจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อพระโพธิสัตว์ปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะต้องเร่งสั่งสมบารมีอย่างต่อเนื่อง โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องสั่งสมบารมีทั้งหมด 20 อสงไขยกับแสนมหากัป โดยแบ่งระยะเวลาในการสั่งสมบารมีเป็น 3 ช่วง คือ การดำริไว้ในใจที่จะปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่กล้าบอกใคร ต้องสร้างบารมี 7 อสงไขยกับแสนมหากัป ต่อมาเริ่มมีความกล้ามากขึ้นที่จะเปล่งวาจาออกมาบอกแก่คนอื่นให้ได้ยิน ต้องสร้างบารมีเป็นเวลา 9 อสงไขยกับแสนมหากัป เมื่อได้สร้างบารมีมาอย่างต่อเนื่องจนได้คุณลักษณะพร้อมที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะได้รับพุทธพยากรณ์ และจะต้องสร้างบารมีต่อไปอีก 4 อสงไขยกับแสนมหากัป จึงได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

เมื่อพระโพธิสัตว์ได้รับการพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าในอนาคตจะได้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน ได้ยกฐานะจากอนิยตโพธิสัตว์เป็นนิยตโพธิสัตว์แล้ว พระองค์ก็สามารถที่จะกำจัดกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้เลย แต่ด้วยน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ไม่ต้องการจะพ้นทุกข์ไปเพียงคนเดียว จึงได้สร้างบารมี 10 ทัศ มีทานบารมี เป็นต้น ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเพียรพยายามอย่างยิ่ง แม้จะพบอุปสรรคมากมาย พระองค์ก็ไม่เคยท้อถอย ยังคงสั่งสมบารมีด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยวต่อไป จนในพระชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นพระเวสสันดร ทรงสร้างมหาทานอย่างยิ่งใหญ่ที่ทำให้พระสัมมาสัมโพธิญาณของพระองค์เต็มเปี่ยม และแล้ววันเวลาที่จะทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ ซึ่งนักศึกษา สามารถศึกษาเนื้อหาต่อไปในบทที่ 5

-------------------------------------------------------------------

7) เวสสันดรชาดก, ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 64 หน้า 608.
8) สาเหตุที่ชาวเมืองไม่ยินดีในการบริจาคช้างของพระเวสสันดร เพราะช้างมงคลเชือกนี้ เป็นช้างที่ประดับด้วยเครื่องอลังการราคา 4 แสนที่เท้าทั้ง 4 ข้าง เครื่องอลังการประดับที่ 2 สีข้างของช้างด้านละ 2 แสน ข่ายคลุมหลัง 3 ชนิด คือ ข่ายแก้วมุกดา ข่ายแก้วมณี และก็ข่ายทองคำ ราคา 3 แสน กระดึงเครื่องประดับที่ห้อยลงมาตามสีข้างทั้งสอง ราคา 2 แสน ผ้ากัมพลลาดบนหลังราคา 1 แสน เครื่องประดับใช้คลุมกระพองราคา 1 แสน สายรัด 3 สายราคา 3 แสน พู่เครื่องประดับที่หูทั้งสองข้าง ราคา 2 แสน ปลอกเครื่องประดับงาทั้ง 2 ราคา 2 แสน วลัยเครื่องประดับทาบทึ่งวงราคา 22 แสน เกยสำหรับขึ้น ราคา 1 แสน อ่างบรรจุของบริโภคราคา 1 แสน ทั้งหมด 24 แสน นอกจากนี้ยังมีมณีที่กำพู่ฉัตรและที่ยอดฉัตร สร้อยมุกดาที่ขอช้าง สร้อยมุกดาผูกคอช้าง กระพอง และที่ตัวพญาช้างเอง รวมแล้วเป็นเครื่องประดับที่หาค่าไม่ได้ ซึ่งชาวเมืองถือว่าช้างนี้เป็นช้างคู่บ้านคู่เมืองไม่ใช้เป็นเพียงของพระเวสสันดรเท่านั้น จึงไม่พอใจกับการบริจาคมงคลหัตถีในครั้งนี้
9) คำว่า สัตตสตกมหาทานในที่หมายถึง การให้ทานวัตถุ 7 ชนิดๆ ละ 700 มีช้าง 700 เชือก ล้วนประดับด้วยคชาลังการ มีเครื่องรัดกลางตัว ที่ทำด้วยทองบริสุทธ์ คลุมด้วยเครื่องประดับทอง มีนายหัตถาจารย์ถือโตมรนั่งประจำ มีม้า 700 ตัว ล้วนประดับประดาด้วยอัศวาภรณ์ เป็นม้าอาชาไนย เป็นพาหนะว่องไว มีนายอัศวาจารย์ขี่ประจำ สวมเกราะถือธนู มีรถ 700 คัน ซึ่งแข็งแรงมั่นคง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง เสือโคร่ง ประดับด้วยสรรพาลังการหลายอย่าง มีคนขับประจำ มีสตรี 700 นาง คนหนึ่งๆ อยู่ในรถ สวมสร้อยทองคำประดับกาย แต่ละนางล้วนมีเครื่องประดับประดาสีเหลืองอร่าม นุ่งห่มผ้าสีเหลือง ประดับอาภรณ์สีเหลือง มีดวงตาโตสวย ยิ้มแย้มก่อนจึงพูด มีรูปร่างสวยงาม แม่โคนมอีก 700 ตัว ซึ่งล้วน เป็นหัวหน้าโคได้คัดเลือกเป็นพิเศษ สามารถรีดน้ำนมได้วันละหม้อ ทาสหญิงอีก 700 และก็ทาสชายอีก 700 คน ทั้งหมดล้วนได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีพร้อมเครื่องดื่มและโภชนาหารหาประมาณมิได้

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012510081132253 Mins