บารมี 10 มีอะไรบ้าง

วันที่ 09 กย. พ.ศ.2558

 

บารมี 10 มีอะไรบ้าง

            พุทธการกธรรมหรือบารมี 10 ทัศที่ทำให้บุคคลได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอยู่ทั้งหมด 10 ประการ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ซึ่งรายละเอียดของบารมีแต่ละอย่างมีดังนี้

1. ทานบารมี คือ การให้ การบริจาคหรือสละสิ่งของต่างๆ ของตนแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นบารมีอันดับแรกที่จะต้องกระทำก่อนบารมีอย่างอื่น เพราะพระพุทธองค์มีความปรารถนาที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณและจะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นจากทะเลแห่งความทุกข์ไปสู่ฝั่งพระนิพพานด้วย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีทีมงานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและมีทุน คือเสบียง เพื่อการหล่อเลี้ยงทีมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงเริ่มต้นทำทานบารมีเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาไปกับการแสวงหาปัจจัยสี่ ทำให้บำเพ็ญบารมีอย่างอื่นได้ง่ายและยังกำจัดความตระหนี่ในใจได้อีก

ทานบารมีจึงเป็นพื้นฐานในการสร้างบารมีอย่างอื่นได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงมีความยินดีในการบำเพ็ญทานเป็นเนืองนิตย์ ไม่ว่าจะกำเนิดเป็นอะไรก็ตาม ย่อมมีใจรักในการบริจาคทาน อุปมาเหมือนกับบุคคลควํ่าหม้อน้ำที่มีนํ้าอยู่เต็ม ให้นํ้าในหม้อไม่เหลือแม้สักหยดหนึ่งฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยินดีในการบริจาคทาน ฉันนั้นพระองค์สามารถให้ได้ทั้งหมดไม่มีเหลือทั้งทรัพย์ ยศ บุตรและภรรยาหรืออวัยวะน้อยใหญ่ ตลอดจนเลือดและชีวิต พระองค์ให้สิ่งที่เขาต้องการอยากได้ทั้งหมดแก่ยาจกผู้มาขอ ดังเช่นที่พระองค์กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    เอาเถอะ เราจะเลือกเฟ้นธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งทางโน้นและทางนี้ ทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง ทั้งสิบทิศตลอดถึงธรรมธาตุ ครั้นเมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่อย่างนั้น จึงได้เห็นทานบารมี ข้อที่ 1เป็นเส้นทางใหญ่ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในกาลก่อน ประพฤติตามคลองธรรมสืบกันมาแล้ว ท่านจงสมาทานบารมีข้อที่ 1 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นทานบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ หม้อน้ำเต็มเปี่ยม ใครผู้ใดผู้หนึ่งคว่ำปากลง น้ำย่อมไหลออกหมด น้ำย่อมไม่ขังอยู่ในหม้อนั้น แม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นยาจกไม่ว่าจะต่ำทราม สูงส่งและปานกลาง จงให้ทานให้หมด เหมือนหม้อน้ำที่เขาคว่ำปากลงไว้ฉะนั้น”3)


2. ศีลบารมี คือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย สะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นบารมีอันดับที่ 2 ที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องทำเป็นอันดับต่อไป เพราะเป็นการรักษาต้นทุนการเกิดเป็นมนุษย์ไว้ เพื่อจะได้สร้างบารมีได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นเมื่อมีเสบียงแล้ว ก็จำเป็นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะได้วนเวียนอยู่แต่ใน มนุสสภูมิ และเทวภูมิเท่านั้น เมื่อถึงเวลาก็ลงมาสร้างบารมีได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอนและไม่เสียเวลา แต่ถ้าหากศีลไม่บริสุทธิ์ อาจพลาดไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกายหรือสัตว์นรกได้ ทำให้หมดโอกาสในการสร้างบารมีอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ศีลยังเป็นเหมือนเกราะคุ้มกันภัย ที่จะกลั่นกาย วาจาและใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ทำให้ใจผ่องแผ้วมีสมาธิตั้งมั่นได้ง่าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงบำเพ็ญศีลบารมี สมาทานรักษาศีลอยู่เป็นวัตรให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่เสมอ ตลอดเวลาในทุกชาติที่เกิดมา สร้างบารมี โดยที่ไม่ให้ศีลของตนบกพร่องได้ แม้จะต้องเสียสละชีวิตเพื่อรักษาศีลของตนไว้ก็ยอม อุปมาเหมือนกับจามรี4) ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาขนหางของตน ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาศีลของตนฉันนั้น ดังเช่นที่พระองค์กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีประมาณเท่านี้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้อย่างอื่นอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นศีลบารมีข้อที่ 2 ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานศีลบารมีข้อที่ 2 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นศีลบารมี หากท่านปรารถนาเพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณ จามรีหางคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ปลดขนหางออกไม่ได้ ก็ยอมตายในที่นั้น แม้ฉันใด ท่านจงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ในภูมิทั้ง 4 จงรักษาศีลไว้ทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนหาง ฉันนั้นเถิด”5)


3. เนกขัมมบารมี คือ การออกบวช การหลีกออกจากกาม ซึ่งเป็นบารมีที่จะช่วยให้มีความอิสระในการสร้างบารมีอย่างอื่นได้สะดวก เพราะกามคุณ คือสิ่งที่ครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ติดในวัฏสงสาร แม้มีทรัพย์สมบัติมากและได้อัตภาพมนุษย์แล้ว แต่ถ้าเสียเวลาไปกับเรื่องกามคุณ ก็จะทำให้เสียเวลาและ เสียกำลังทรัพย์ที่หามาได้ไปกับกามคุณ นอกจากนี้ยังทำให้ใจเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องกามคุณ ทำให้สร้างบารมีได้ไม่เต็มที่และไม่สามารถที่จะหลุดออกจากคุกแห่งความทุกข์นี้ไปได้

ดังนั้น เพื่อความสะดวกสบายเป็นอิสระ และไม่ต้องมัวกังวลใจกับเรื่องกามคุณ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาและเสียกำลังทรัพย์ในการสร้างบารมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ย่อมพยายามแสวงหาทางออกจากกาม ออกจากชีวิตการครองเรือน โดยมุ่งบำเพ็ญเนกขัมมะ ประพฤติพรหมจรรย์ตลอดมา ทำให้ใจปรารถนาที่จะออกจากคุกแห่งความทุกข์ คือวัฏสงสารนี้ อุปมาเหมือนนักโทษที่ติดอยู่ในเรือนจำ ปรารถนาจะออกจากที่คุมขังฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมปรารถนาออกไปให้พ้นจากคุก คือ การเวียนว่ายตายเกิด ด้วยการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีฉันนั้น ดังเช่นที่พระองค์กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้จักไม่มีเพียงเท่านี้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ คราวนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเนกขัมมบารมีข้อที่ 3 ที่ท่านผู้แสวงหา คุณใหญ่แต่ในกาลก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำแล้ว ท่านจงสมาทานเนกขัมมบารมี ข้อที่ 3 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นเนกขัมมบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ บุรุษอยู่มานานในเรือนจำ ลำบากเพราะความทุกข์ มิได้ทำความยินดีให้เกิดในเรือนจำ นั้น แสวงหาความพ้นออกไปอย่างเดียว ฉันใด ท่านจงเห็นภพทั้งปวงเหมือนเรือนจำ เป็นผู้มุ่งหน้าออกบวช เพื่อพ้นจากภพนั้นเถิด”6)


4. ปัญญาบารมี คือ ความรอบรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ความเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นบารมีที่สั่งสมความรู้ ตั้งแต่ความรู้จากการได้ยินได้ฟังที่เป็นสุตมยปัญญา จากสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ความรู้จากการพินิจพิจารณาไตร่ตรองทดลองด้วยตนเอง ซึ่งเป็นจินตมยปัญญารวมไปถึงความรู้แจ้ง คือ ภาวนามยปัญญา อันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา หลายภพหลายชาติ ความรู้เหล่านี้จะทำให้สามารถที่จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารไปได้

ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ย่อมฝึกฝนเพิ่มพูนปัญญาบารมีอยู่เสมอ โดยแสวงหาความรู้จากคนทุกชนชั้น เพื่อจะนำความรู้ที่ได้จากคนเหล่านั้นมากำจัดอาสวกิเลสได้ แม้จะต้องเอาชีวิตแลกเพื่อได้มาซึ่งความรู้ ก็ยินยอมโดยไม่เสียดายชีวิต อุปมาเหมือนกับพระภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ไม่เลือกว่าจะเป็นตระกูลสูง ตํ่า หรือปานกลางฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมปรารถนา ที่จะไต่ถามผู้รู้อยู่ตลอดกาลเนืองนิตย์ฉันนั้น ดังเช่นที่พระองค์กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    ก็พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีเพียงเท่านี้ เราจักเฟ้นหาธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ เราเมื่อค้นหาอยู่ในคราวนั้น ก็ได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ 4 ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานปัญญาบารมีข้อที่ 4 นี้ กระทำให้มั่นก่อนจงถึงความเป็นปัญญาบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุ พระโพธิญาณ ภิกษุเมื่อขออยู่ ไม่เว้นตระกูลต่ำ สูง และปานกลาง ย่อมได้อาหารเป็นเครื่องยังชีพ ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ท่านเมื่อไต่ถามชน ผู้รู้อยู่ตลอดกาลทั้งปวง ถึงความเป็นปัญญาบารมี จักได้บรรลุ พระสัมโพธิญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน”7)


5. วิริยบารมี คือ ความเพียร ความแกล้วกล้าไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามด้วยความอุตสาหะที่จะสร้างบารมีอย่างไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อแท้ ซึ่งเป็นบารมีที่จะทำให้เคยชินกับความดี ไม่รู้จักความชั่วเลย เพราะคำว่า วิริยะ มาจากคำว่า วีระ แปลว่า กล้า หมายถึง ความกล้าที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง สิ่งใดที่ไม่ดีเคยชินกับสิ่งนั้น ก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น และกล้าที่จะละเว้นหรือหลีกเลี่ยงความไม่ดีทั้งหลายที่เคยทำไว้ แล้วปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เพิ่มขึ้นไป ให้คิด พูด ทำในความดีล้วนๆ ไม่ว่าความดีนั้นจะยากแค่ไหน พระองค์ก็กล้าที่จะทำให้ได้จนสำเร็จ แม้จะแลกด้วยชีวิตก็ยอมทำโดยไม่กังวลเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น จึงทำความเพียรให้เพิ่มพูนอย่างยิ่งยวด มีความกล้าหาญที่จะประกอบกุศลกรรม ทำความดีทุกอย่าง อย่างไม่ลดละ เพื่อการบรรลุประโยชน์อันสูงสุดตามที่พระองค์ได้ปรารถนาไว้ คือ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ อุปมาเหมือนพญาราชสีห์ เป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในอิริยาบถทั้งปวงฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเป็นผู้มีความเพียรมั่น ไม่ย่อหย่อนในการทำความดีทั้งปวงฉันนั้น ดังเช่นที่พระองค์กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    ก็พุทธธรรมทั้งหลาย จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเฟ้นหาธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ครั้งนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ 5 ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานวิริยบารมีข้อที่ 5 นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความเป็นวิริยบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ พญาราชสีห์มฤคราช เป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในการนั่ง การยืน และการเดิน ประคองใจไว้ในกาลทุกเมื่อแม้ฉันใด ท่านก็ ฉันนั้นเหมือนกัน จงประคองความเพียรไว้ให้มั่นตลอดทุกภพ ถึงความเป็นวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้”8)


6. ขันติบารมี คือ ความอดทนอดกลั้นต่ออุปสรรคความยากลำบากต่างๆ ซึ่งเป็นบารมีที่จะทำให้มีกำลังใจต่อการสร้างบารมี ไม่ท้อถอยต่อเป้าหมายที่ปรารถนาได้ เพราะการสร้างบารมีไม่ใช่ว่าจะสะดวกสบายเสมอไป แต่บางครั้งอาจถูกเย้อหยันจากคนที่ไม่เข้าใจ หรืออาจถูกกลั่นแกล้งต่างๆ ซึ่งอาจทำให้หมดกำลังใจในการสร้างบารมีได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความอดทนในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจ เพื่อรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวในปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น อีกทั้ง ไม่หลงใหลในคำสรรเสริญเยินยออันจะเป็นเหตุให้ประมาท จะต้องมีความหนักแน่นทั้งนินทาและสรรเสริญ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงเพิ่มพูนความอดทนอย่างยิ่งยวด อดทนในการทำความดี ไม่กลัวต่อความลำบาก ตรากตรำจากดินฟ้าอากาศ อดทนต่อทุกขเวทนาคือความเจ็บป่วยไข้ อดทนต่อการกระทบกระทั่งสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อดทนต่อสิ่งเย้ายวนใจ โดยไม่ปล่อยใจให้ยินดียินร้ายไปตามกระแสแห่งกิเลส อุปมาเหมือนกับแผ่นดิน แม้บุคคลทั้งหลายจะทิ้งสิ่งของที่สกปรกลงแผ่นดิน แต่แผ่นดินไม่เคยขัดเคืองฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมอดทนต่อการสรรเสริญ และนินทาฉันนั้น ดังเช่นที่พระองค์กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ในคราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ 6 ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ชั้นก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ 6 นี้ กระทำให้มั่นก่อน มีใจไม่ลังเลในขันติบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ ธรรมดาแผ่นดินย่อมอดกลั้นสิ่งทั้งปวง ที่เขาทิ้งลงสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ไม่กระทำการขัดเคือง เพราะการกระทำนั้น แม้ฉันใด แม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนต่อการนับถือและการดูหมิ่นของคนทั้งปวง ถึงความเป็นขันติบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้”9)


7. สัจจบารมี คือ ความจริง พูดจริง ทำจริง ในสิ่งที่ตั้งใจไว้ และจริงใจ ไม่แปรผันจากความซื่อตรง ซึ่งเป็นบารมีที่เกิดจากการตั้งใจมั่น ตั้งใจจริงที่จะสร้างบารมีให้เต็มที่ ไม่โลเล เมื่อคิดสิ่งใดแล้วก็ต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จตามที่คิดหรือพูดเอาไว้ ไม่ยอมให้สิ่งใดมาขวางได้ ดังนั้น เมื่อมีลาภ ยศ สรรเสริญ คำยกย่องชมเชย หรือเจออุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่อาจเป็นเหตุให้ใจหวั่นไหวออกนอกเส้นทางความดีที่ได้ตั้งใจไว้ได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบำเพ็ญสัจจบารมี เพื่อไม่ให้ยอมออกนอกเส้นทาง แม้จะมีใครมาข่มเหงรังแกหรือจะฆ่า ก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมออกนอกเส้นทางที่ตนตั้งใจไว้ คือ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงเพิ่มพูนรักษาความสัตย์จริง มีความซื่อตรง เที่ยงตรง ไม่แปรผันยักย้าย จนกว่าทุกอย่างที่ได้กล่าวมา สำเร็จสมความปรารถนา อุปมาเหมือนกับดาวประกายพรึก เมื่อเคยขึ้นประจำอยู่ทางทิศใด ก็ย่อมโคจรขึ้นประจำอยู่ในทิศนั้น ไม่ว่าฤดูกาลไหนๆ ก็ย่อมขึ้นเที่ยงตรงไม่เปลี่ยนแปลงฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะไม่ออกไปนอกทางสัจจะที่ได้เคยตั้งไว้ ดังเช่นที่พระองค์กล่าวไว้ เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    ก็พุทธธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ คราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นสัจจ บารมีข้อที่ 7 ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานสัจจบารมีข้อที่ 7 นี้ กระทำให้มั่นก่อนมีคำพูดไม่เป็นสองในข้อนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้ ธรรมดาดาวประกายพรึกเป็นดุจคันชั่ง คือเที่ยงตรงในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ไม่ว่าในสมัย ฤดู หรือปีก็ตาม ย่อมไม่โคจรและเวียนออกนอกวิถีโคจร แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ออกไปนอกทางสัจจะทั้งหลาย ถึงความเป็นสัจจบารมีแล้ว จักบรรลุ พระสัมโพธิญาณได้”10)


8. อธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่ ซึ่งเป็นบารมีที่เกิดจากการตั้งเป้าหมาย เพื่อจะได้ตั้งมั่นอยู่กับ เป้าหมายที่ตนได้ปรารถนาไว้ แม้จะมีอุปสรรคหรือปัญหาหรือมีบุคคลใดมาอิจฉาริษยา ขัดขวางต่อการทำความดี ก็ไม่หวั่นไหว แต่ตรงกันข้ามกลับมีมุทิตาจิตตอบ ไม่คิดทำร้ายใคร และตราบใดที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งความปรารถนาไว้ ก็ไม่ยอมล้มเลิกในการสร้างบารมี แม้อุปสรรคนั้นจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม ก็ไม่ยอมเลิกราเป็นอันขาด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีจิตใจที่มั่นคงแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวในการสร้างบารมี ย่อมตั้งจิตตอกยํ้าปรารถนาพุทธภูมิซํ้าแล้วซํ้าเล่า อุปมาเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบ ไม่หวั่นไหวโยกคลอนด้วยแรงลมที่พัดมาจากทิศทั้ง 4 ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ย่อมตั้งจิตอธิษฐานตอกยํ้าซํ้าแล้วซํ้าเล่า จนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมาย ฉันนั้น ดังเช่นที่พระองค์กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ในคราวนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็น อธิษฐานบารมีข้อที่ 8 ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานอธิษฐานบารมีข้อที่ 8 นี้ กระทำให้มั่นก่อน ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้ ภูเขาหินไม่หวั่นไหว คงตั้งอยู่ตามเดิม ไม่สะเทือนเพราะลมแรงกล้า คงตั้งอยู่ในที่ของตนเอง แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานในกาลทั้งปวง ถึงความเป็นอธิษฐานบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้”11)


9. เมตตาบารมี คือ ความรักความปรารถนาดี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ ซึ่งเป็นบารมีที่ทำให้มีจิตใจที่เมตตา มีความรักและปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู เพราะคิดว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็ตกอยู่ในความทุกข์ ที่หวังพึ่งพิงอยากเข้าใกล้ ดังนั้นจึงต้องมีจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์ทุกชีวิต เป็นผู้มีมหากรุณา ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง แม้บุคคลใดที่คิดเบียดเบียนประทุษร้าย ท่านก็มีความเมตตาต่อบุคคลนั้น แผ่ความปรารถนาดีไปยังทุกที่ให้ได้รับความชุ่มชื่นเบิกบาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเพิ่มพูนสั่งสมเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ เพศ วัย หรือเผ่าพันธุ์ใดๆ ด้วยคิดว่าสัตวโลกคือ หมู่ญาติ โดยปรารถนาที่จะพาข้ามวัฏสงสารไปให้หมด อุปมาเหมือนกับนํ้าย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดีและคนเลวโดยเสมอกัน และสามารถชำระล้างมลทิน คือธุลีได้ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมมีจิตเมตตาสมํ่าเสมอในชนที่เกื้อกูล และไม่เกื้อกูลแก่ตนฉันนั้น ดังเช่นที่พระองค์กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    ก็พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ ที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ คราวนั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ 9 ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำท่านจงสมาทานเมตตาบารมีข้อที่ 9 นี้ กระทำให้มั่นก่อนจงเป็นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนด้วยเมตตา ถ้าท่านปรารถนาเพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณ ธรรมดาน้ำย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดีและคนเลวโดยเสมอกัน ชะล้างมลทินคือธุลีออกได้ แม้ฉันใดแม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญเมตตาให้สม่ำเสมอในชนที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูลท่านถึงความเป็นเมตตาบารมีแล้วจักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้”12)


10. อุเบกขาบารมี คือ การวางใจเป็นกลาง การวางใจสงบ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปตามความยินดียินร้ายหรือเกลียดชัง ซึ่งเป็นบารมีที่ทำให้จิตใจรักความยุติธรรมในสรรพสัตว์ และทำให้เป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่ลำเอียงด้วยอำนาจอคติต่างๆ ทั้งในเรื่องของคน สัตว์ สิ่งของ ต้องวางใจเป็นกลางในธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือเป็นความทุกข์ก็ตาม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีใจวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง 8 ประการ คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา มีสุข มีทุกข์ อุปมาเหมือนแผ่นดินที่คนทิ้งสิ่งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง แผ่นดินย่อมไม่แสดงอาการใดๆ มีเเต่นิ่งเฉยไม่หวั่นไหวฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็วางใจเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลายได้ฉันนั้น ดังเช่นที่พระองค์ได้กล่าวไว้เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบสว่า

“    ก็พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ คราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ 10 ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานอุเบกขาบารมีข้อที่ 10 นี้ กระทำให้มั่นก่อน ท่านเป็นผู้มั่นคงประดุจตาชั่ง จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ ธรรมดาแผ่นดินย่อมวางเฉย ในของไม่สะอาดและของสะอาดที่คนทิ้งลง เว้นจากความโกรธและความยินดีทั้งสองนั้น ฉันใดแม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นประดุจตาชั่งในสุขและทุกข์ในกาลทุกเมื่อ ถึงความเป็นอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้”13)


เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลใดที่ได้ตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ อย่าได้ท้อแท้ หมดหวังหรือถอดถอนใจไปก่อน แต่ควรที่จะพยายามทำตามแผนที่ตั้งไว้ให้ได้จนกว่าจะสำเร็จ และแผนที่ตั้งไว้ต้องเป็นไปเพื่อการสร้างบารมี ซึ่งถ้ากล่าวบารมีโดยย่อ ก็คือ การละชั่ว ทำความดี และการทำใจให้ผ่องใส ที่ทุกคนต้องทำทุกวันสั่งสมไปเรื่อยๆ อย่างเต็มที่เต็มกำลังด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แล้วในที่สุดก็จะสำเร็จสมปรารถนาที่ตั้งใจไว้ เฉกเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงอดทนเพียรพยายามจนสามารถบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้

-------------------------------------------------------------------

3) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 48.
4) สัตว์ชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในประเทศทิเบต
5) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 50.
6) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 51.
7) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 52.
8) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 53.
9) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 54.
10) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 55.
11) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 56.
12) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 57.
13) สุเมธกถา, ขุททกนิกายอปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 58.

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037438734372457 Mins