ระดับของบารมี

วันที่ 09 กย. พ.ศ.2558

 

 ระดับของบารมี

            เมื่อพระบรมโพธิสัตว์พิจารณาเห็นพุทธการกธรรม ที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณให้แก่รอบแล้ว ก็สร้างบารมีทั้ง 10 ประการนี้อย่างยิ่งยวดเป็นเวลานานหลายภพหลายชาติ จนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ และด้วยเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีอย่างยาวนาน ซึ่งในแต่ละบารมีก็มีความยิ่งหย่อนในแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ฉะนั้นจึงได้มีการแบ่งระดับของบารมีออกไปตามความยิ่งหย่อนของการบำเพ็ญ

บารมีแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ บารมีอย่างต่ำเรียกว่า บารมี บารมีอย่างกลางเรียกว่าอุปบารมี และบารมีอย่างสูงสุดเรียกว่า ปรมัตถบารมี ซึ่งอาจสรุปบารมีทั้ง 3 ระดับได้อย่างนี้

1. บารมีที่ทรงบำเพ็ญเป็นปกติธรรมดา เช่น ในการบริจาคทรัพย์จะมากน้อยเพียงใด ก็ยังจัดเป็นบารมีในระดับที่ 1 เรียกว่า บารมี

2. บารมีที่ทรงบำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้น เช่น บริจาคทรัพย์แล้ว ยังยอมบริจาคอวัยวะเลือดเนื้อในร่างกาย เช่น ดวงตา จัดเป็นบารมีในระดับที่ 2 เรียกว่า อุปบารมี

3. บารมีที่ทรงบำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก เช่น บริจาคทรัพย์ บริจาคอวัยวะเลือดเนื้อในร่างกายแล้ว ยังยอมบริจาคชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการบริจาคอย่างอุกฤษฏ์ จัดเป็นบารมีประเภทสูงสุดอย่างยิ่ง เรียกว่า ปรมัตถบารมี

 

เพราะเหตุนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงพิจารณาบารมีทั้ง 30 ประการ คือ บารมี 10 อุปบารมี 10 และปรมัตถบารมี 10 ทบทวนไปมาจนครบทั้ง 30 ประการ อุปมาเหมือนคนหมุนเครื่องยนต์หีบน้ำมันจากเมล็ดพืชหมุนกลับไปกลับมา เพื่อคั้นเอาเฉพาะนํ้ามัน หรืออุปมาเหมือนเอาเขามหาเมรุให้เป็นโม่กวนมหาสมุทรในจักรวาล ฉะนั้น ซึ่งการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูบารมีทั้ง 30 ทัศโดยละเอียดเช่นนี้ ก็เพื่อจะกลั่นและกรองเอาเฉพาะสุดยอดหัวเชื้อบารมี ที่จะทำให้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์ทรงมีความตั้งใจที่มุ่งมั่นในการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ แม้หนทางจะยาวนานเพียงใดและไม่ได้ราบเรียบสะดวกสบายเลย แต่ก็ทรงสร้างบารมีอย่างไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด ตั้งแต่การสั่งสมบุญ ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ใช้ชำระสันดานให้มีคุณภาพดีขึ้น เป็นความประพฤติที่ดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ จนกระทั่งมีจิตใจที่กล้าแข็งขึ้น จึงได้สร้างบารมี ซึ่งหมายถึง บุญที่ทำอย่างมากด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน อย่างไม่หวั่นไหว จนบารมีครบทั้ง 30 ประการ โดยบารมีที่ทรงกระทำเริ่มตั้งแต่บารมีทั้ง 10 จนครบ 30 ประการนั้น พอสรุปได้ในเชิงการนำมาปฏิบัติได้อย่างนี้

1. ทานบารมี เป็นการวางแผนแห่งการเสียสละ มีอะไรหรือได้อะไรมาก็ปันกันกินปันกันใช้ กำจัดความเห็นแก่ตัว เพื่อเตรียมเสบียงข้ามชาติ จะได้ไม่ต้องอดอยากยากจนอีก

2. ศีลบารมี เป็นการวางแผนแห่งความสำรวมระวังตน ระแวงระวังภัยไม่ให้เดือดร้อนคนอื่นและตนเอง ไม่รังแกหรือเบียดเบียนใคร ทำตนไม่ให้มีเวรมีภัยกับใคร เพื่อป้องกันการเบียดเบียนกระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน

3. เนกขัมมบารมี เป็นการวางแผนแห่งการตัดความกังวลน้อยใหญ่และควบคุมกามคุณทั้งหลายไม่ให้กำเริบได้ จะได้ไม่ต้องห่วงหน้ากังวลข้างหลังด้วยการเสียสละครอบครัวไม่เป็นภาระในการครองเรือน

4. ปัญญาบารมี เป็นการวางแผนแห่งการแสวงหาความรู้และสร้างเสริมปัญญา ฝึกการเป็น นักวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์ เพื่อให้ความรู้และปัญญานั้นงอกงามจนถึงที่สุดเพื่ออาศัยปัญญานั้นกำจัดกิเลสให้หมดไปจากจิตใจของตนได้

5. วิริยบารมี เป็นการวางแผนแห่งการฝึกหัดดัดตนจนกระทั่งมีความประพฤติปฏิบัติดีพร้อมบริบูรณ์ ทั้งกาย วาจาและใจ ใครจะตำหนิไม่ได้ โดยกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะปรับปรุง โดยมีสติสัมปชัญญะควบคุมด้วย

6. ขันติบารมี เป็นการวางแผนแห่งการต่อสู้หักหาญกับอุปสรรคน้อยใหญ่ทุกๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นการอดทนต่อดินฟ้าอากาศ อำนาจกิเลส อำนาจบีบคั้น ความเจ็บป่วยไข้ จะอดทนแบบใจเย็นๆ จนกว่าจะชนะ และไม่ยอมถอยหลังแม้แต่ก้าวเดียว

7. สัจจบารมี เป็นการวางแผนแห่งความเป็นคนซื่อตรง ที่มีความจริงจังและความเด็ดเดี่ยวในการทำความดีนั้นไปจนกว่าจะสำเร็จ นอกจากนี้ยังฝึกให้เป็นคนที่มีความจริงใจกับทุกคน ไม่ได้เลือกที่รักผลักที่ชัง และรักษาสัจจะของตน พูดแล้วรักษาคำพูดของตน คบคนด้วยความจริงใจ เมื่อเขามีสุขก็ร่วมสุข เขามีทุกข์ก็ร่วมกันแก้ไข เหมือนกับสุภาษิตจีนที่กล่าวว่า “    มีสุขร่วมเสพมีทุกข์ร่วมต้าน”

8. อธิษฐานบารมี เป็นการวางแผนแห่งความฉลาดรอบคอบในการทำความดี มีการตั้งเป้าหมายอย่างดี แล้วก็ปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนตั้งเป้าหมายด้วยความเด็ดเดี่ยว เพื่อทำความดีให้ได้ตาม ที่ตั้งเป้าหมายไว้ จนกว่าจะสำเร็จ

9. เมตตาบารมี เป็นการวางแผนแห่งความรักให้แก่คนทั้งโลก มีความรักใคร่ปรารถนาดี มีไมตรีจิตซึ่งกันและกัน เห็นใครมีความทุกข์หรือลำบาก ก็เข้าไปช่วยเหลือเหมือนญาติร่วมสายโลหิตเดียวกัน

10. อุเบกขาบารมี เป็นการวางแผนแห่งความเที่ยงธรรม มีใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอมั่นคง ไม่มีอคติ รักษาความยุติธรรมเท่าชีวิต

บารมีทั้ง 10 ประการ ใน 3 ระดับ จึงเป็นการวางแผนเพื่อฝึกนิสัยที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง และกำจัดนิสัยไม่ดีหรือความคุ้นในสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากใจของตนเอง ซึ่งการวางแผนนี้ ไม่ได้วางแผนเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น แต่เป็นการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นขั้นตอน เป็นการวางแผนผังชีวิตในระยะยาวโดยตั้งกันข้ามภพข้ามชาติ เมื่อวางผังของชีวิตแล้ว ก็มุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างบารมี ซึ่งเปรียบเสมือนเรือแพ เข็มทิศ และเสบียงที่จะข้ามห้วงแห่งวัฏสงสาร แม้เส้นทางสายนี้จะไม่ได้ราบเรียบสะดวกสบาย บางครั้งอาจจะพบอุปสรรคปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ อดทนพยายามเพื่อเป้าหมายของชีวิตจนกว่าจะสำเร็จได้

 

สรุป

บารมีทั้ง 10 ประการนี้จะต้องทำอย่างยิ่งยวด ทำแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และทำอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ไม่เฉพาะบุคคลที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แม้บุคคลที่จะเป็นพระอรหันต์ หรือแม้แต่คนธรรมดาสามัญอย่างเรา ก็จะต้องสร้างบารมีให้ได้อย่างเต็มที่ด้วย ถ้าไม่ทำเรื่องจะไปบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นอย่างไปหวัง หรือถ้าใครยังทำไม่ได้ ชาตินี้ก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ เรื่องชาติหน้าไม่ต้องพูดถึง แต่ถ้าทำได้ดีแล้ว ชีวิตนี้จะไม่มีตกต่ำ เพราะความดีได้ฝังเข้าไปอยู่ในใจ ความตกต่ำจะไม่บังเกิดกับเรา แม้ว่าชาติก่อนๆ จะได้เคยทำความชั่วมาก็ตาม คือ ถ้าทำกรรมชั่วไม่หนักมาก ผลกรรมนั้นจะมาแบบผ่อนส่งไม่หนักหนาสาหัสเกินไป ก็เพราะเรากระทำดีมากๆ ในชาตินี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรรมนั้น ยังตามมาไม่ทัน

-------------------------------------------------------------------

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012517952919006 Mins