พราหมณ์บัณฑิตพยากรณ์พระลักษณะอันประเสริฐ

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2558

 

 พราหมณ์บัณฑิตพยากรณ์พระลักษณะอันประเสริฐ

ชนชาวนครทั้งสอง ได้พาพระมหาบุรุษไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันนั้นนั่นแล หมู่ทวยเทพในชั้นดาวดึงส์ร่าเริงยินดีว่า พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะมหาราชอุบัติแล้วในนครกบิลพัสดุ์พระราชกุมารนี้จักประทับนั่ง ณ โคนโพธิพฤกษ์แล้วจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สมัยนั้น ดาบสชื่อ กาฬเทวิล ผู้ได้สมาบัติ 8 เป็นผู้คุ้นเคยกับราชสกุลของพระเจ้าสุทโธทนะ ทราบข่าวจากเทพชั้นดาวดึงส์ว่า พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะประสูติแล้ว ทราบว่าโอรสพระองค์นั้น จักประทับนั่งที่โพธิมัณฑสถาน แล้วจักเป็นพระพุทธเจ้าประกาศพระธรรมจักร ดาบสจึงได้ลงจากเทวโลกเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ กราบทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ได้ยินว่า พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว อาตมาภาพอยากเห็นพระราชบุตรนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้พาพระราชกุมารผู้ประดับตกแต่งแล้ว มาทรงอุ้มไปเพื่อให้นมัสการพระดาบส แต่พระบาทของพระมหาบุรุษ กลับไปประดิษฐานอยู่บนชฎาของดาบส จริงอยู่บุคคลอื่นที่ชื่อว่า พระมหาสัตว์จะพึงไหว้โดยอัตภาพนั้น ย่อมไม่มี

 

ถ้าผู้ไม่รู้ อาจจะพึงวางศีรษะของพระโพธิสัตว์ลงแทบบาทมูลของพระดาบส ก็ถ้าหากทำเช่นนั้น ศีรษะของพระดาบสนั้นจะแตกออกเป็น 7 เสี่ยง พระดาบสคิดว่า เราไม่ควรจะทำตนของเราให้พินาศ จึงลุกจากอาสนะ ประคองอัญชลีต่อพระโพธิสัตว์ พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุอัศจรรย์นั้นจึงทรงไหว้โอรสของพระองค์ ดาบสกาฬเทวิลเห็นลักษณะสมบัติของพระโพธิสัตว์ ก็ทราบด้วยอนาคตังสญาณว่า พระโอรสนี้ จักได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย พระราชบุตรนี้เป็นอัจฉริยบุรุษ

ต่อแต่นั้น พระประยูรญาติทั้งหลายคิดว่า ในวันที่ 5 พวกเราจักโสรจสรงเศียรเกล้าของพระโพธิสัตว์ แล้วเฉลิมพระนามแด่พระองค์ ดังนี้แล้ว ฉาบทาพระราชมณเฑียรด้วยคันธชาติ 4 ชนิด ให้โปรยดอกไม้มีข้าวตอกเป็นที่ 5 ให้หุงข้าวมธุปายาสล้วนๆ นิมนต์พราหมณ์ 108 ผู้จบไตรเพทให้นั่งในพระราชมณเฑียร ให้พราหมณ์เหล่านั้นบริโภคมธุปายาสและโภชนะอย่างดี ถวายสักการะมากมาย แล้วให้พราหมณ์บัณฑิต 8 ท่าน มีรามพราหมณ์ เป็นต้น เป็นผู้ตรวจดูพระลักษณะของมหาบุรุษ

บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น 7 ท่านพยากรณ์เป็นสองส่วนว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้ เมื่อยู่ครองฆราวาสวิสัยจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อผนวชจักได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่พราหมณ์ ชื่อ โกณฑัญญะ ซึ่งมีอายุน้อยกว่าพราหมณ์เหล่านั้นทุกคน ได้พยากรณ์เป็นส่วนเดียวว่า ท่านผู้นี้ไม่มีเหตุที่จะดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัย จักเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงปราศจากกิเลสโดยส่วนเดียวเท่านั้น

 

ครั้งนั้น พระประยูรญาติ เมื่อถือพระนามของพระโพธิสัตว์นั้น จึงเฉลิมพระนามว่า สิทธัตถะ เพราะทรงทำความสำเร็จแก่โลกทั้งปวง พระราชาทรงสดับคำของพราหมณ์บัณฑิตเหล่านั้นแล้วตรัสถามว่า บุตรของเราเห็นอะไรจึงจะผนวช พราหมณ์เหล่านั้นทูลว่า เห็นนิมิต 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระราชาจึงตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า จำเดิมแต่นี้ไปพวกท่านจงอย่าได้ให้นิมิตเหล่านั้นเข้าไปในสำนักแห่งบุตรของเรา เราไม่ต้องการให้บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้า เราต้องการเห็นบุตรของเราครอบครองราชสมบัติจักรพรรดิปกครองทวีปใหญ่ทั้ง 4 ซึ่งมีทวีปเล็กสองหมื่นเป็นบริวารห้อมล้อมด้วยบริษัทอันมีปริมณฑล 36 โยชน์ เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงมีรับสั่งให้วางอารักขาไว้ในที่ทุกๆ คาวุตในทิศทั้งสี่ เพื่อจะห้ามมิให้บริษัท 4 มีคนแก่เป็นต้น เข้ามาปรากฏในสายตาของพระกุมาร

พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกลับถึงเรือนของตนแล้ว ต่างพากันเรียกบุตรมาสั่งว่า นี่แนะพ่อทั้งหลาย พวกเราแก่แล้ว จะทันได้เห็นพระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณหรือไม่ก็ไม่รู้ ฉะนั้นเมื่อพระราชกุมารนี้ทรงผนวช บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พวกเจ้าพึงบวชในศาสนาของพระองค์เถิด พราหมณ์แม้ทั้ง 7 คนเหล่านั้น ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุขัยก็ตายไปตามยถากรรม โกณฑัญญะมาณพเท่านั้นไม่มีโรคภัยไข้เจ็บยังมีชีวิตอยู่

 

ภายหลังเมื่อพระโพธิสัตว์เติบโตเจริญวัยขึ้นแล้ว บุตรพราหมณ์เหล่านั้นได้ทราบว่า พระมหาบุรุษทรงผนวชแล้ว โกณฑัญญพราหมณ์จึงได้กล่าวชักชวนบุตรของพราหมณ์เหล่านั้น ให้บวชตามคำสั่งของบิดา พวกเขาเหล่านั้นสามคนไม่บวช ที่เหลือสี่คนบวชตามพระมหาบุรุษ โดยตั้งให้โกณฑัญญะพราหมณ์เป็นหัวหน้า พราหมณ์ทั้ง 5 คนนั้น จึงมีชื่อว่า พระปัญจวัคคีย์

ครั้งนั้น ตระกูลพระประยูรญาติแปดหมื่นตระกูล ประชุมกันในมงคลสถาน พระญาติแต่ละตระกูลก็ทูลปฏิญญาถวายโอรสตระกูลละองค์ ด้วยคิดว่า ถ้าพระสิทธัตถะกุมารนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า ก็จักมีขัตติยสมณะ คอยแวดล้อมจาริกไป แต่ถ้ากุมารนี้จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็จักมีขัตติยกุมาร คอยแวดล้อมตามเสด็จไป

ฝ่ายพระนางเจ้ามายาผู้เป็นพระมารดา พอประสูติพระราชโอรสแล้วได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุทโธทน จึงทรงมอบพระราชโอรสนั้นให้พระนางปชาบดีโคตมี (พระมาตุจฉา) ดูแลต่อมา

ผู้เป็นบัณฑิตเมื่อเห็นลักษณะอันประเสริฐของพระราชโอรส อันเกิดจากการสั่งสมความดีงามมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ย่อมทราบว่า เป็นลักษณะของผู้มีบุญที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเห็นถึงความสำคัญในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาที่จะได้เห็น ได้อยู่ใกล้ชิด แม้ตนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ย่อมปรารถนาให้บุตรได้อยู่ใกล้

-------------------------------------------------------------------

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012062549591064 Mins