มรรคมีองค์ 8 เกิดขึ้นพร้อมกัน

วันที่ 15 กย. พ.ศ.2558

 

 มรรคมีองค์ 8 เกิดขึ้นพร้อมกัน

มรรคทั้ง 8 ประการนี้ เมื่อบังเกิดย่อมบังเกิดพร้อมกันทั้ง 8 ประการ ดังพระอัญญาโกณฑัญญะเถรเจ้า ได้ฟังพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วสำเร็จพระโสดาปัตติผลฉะนั้น มรรคทั้ง 8 อันยังจิตให้บรรลุ โสดาปัตติผลนั้น เกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 8 ประการ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ อันได้แก่ปัญญานั้น ตรัสรู้อริยสัจทั้ง 4 ประการโดยรู้แจ้งว่า อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นั้น ชื่อทุกขอริยสัจ เพราะเป็นเหตุที่เกิดแห่งทุกข์ทั้งปวง รู้แจ้งว่า ตัณหาอันก่อให้เกิดอุปาทานขันธ์นั้น ชื่อ ทุกขสมุทัยอริยสัจ รู้แจ้งว่า อาการที่ดับตัณหาได้เด็ดขาดมิให้บังเกิดขึ้นอีกได้นั้น ชื่อทุกขนิโรธอริยสัจ รู้แจ้งว่า มรรคทั้ง 8 นั้น ชื่อทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

 

ส่วนสัมมาสังกัปปะ คือ วิตก หรือดำริ ก็สามารถละเสียได้เด็ดขาด ซึ่งมิจฉาวิตก 3 ประการ

อันได้แก่ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก

สัมมาวาจานั้น ก็สามารถละเสียได้เด็ดขาด ซึ่งมิจฉาวาจา 4 ประการ อันได้แก่ มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปวาจา

สัมมากัมมันตะนั้น ก็สามารถละเสียได้เด็ดขาด ซึ่งมิจฉากัมมันตะ 3 ประการ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร

สัมมาวายามะ คือ วิริยะนั้น ก็สามารถละมิจฉาวายามะได้เด็ดขาด อันได้แก่อกุศล อันบังเกิดแล้วให้ขาดไปจากสันดาน ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นอกุศลที่ยังไม่บังเกิด มิให้บังเกิดขึ้นได้ ยังกุศลอันมิเคยบังเกิดมาก่อน คือ โสดาปัตติมรรคจิตให้บังเกิดขึ้น และยังกุศลอันบังเกิดแล้วให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป

สัมมาสติ อันเป็นไปในอารมณ์ทั้ง 4 ก็พิจารณารูปขันธ์ว่า ตกอยู่ใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาเห็นว่า เวทนาขันธ์นั้นเองที่เป็นทุกข์ พิจารณาเห็นว่า วิญญาณขันธ์ คือ จิตนั้นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ดับเกิดอยู่ตลอดเวลา พิจารณาเห็นสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์ว่าเป็นอนัตตา คือ ควบคุมไม่ได้

 

มรรคทั้ง 8 นี้ บังเกิดพร้อมกันในโสดาปัตติมรรคจิตและกระทำกิจต่างๆ กันดังนี้ คือ สัมมาสังกัปปะ เป็นปัจจัยแก่สัมมาทิฏฐิ มีอุปมาดุจมืออันเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ คือ เมื่อบุคคลจะมองดูสิ่งต่างๆ เช่น เงินและทอง ก็ใช้มือหยิบเงินและทองนั้นพลิกกลับไปกลับมา จักขุคือดวงตานั้นมองดูแล้ว ก็รู้ว่าเงินและทอง นั้นดีหรือไม่ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การที่สัมมาสังกัปปะเป็นปัจจัยแก่สัมมาทิฏฐิ ก็มีอุปมาฉันนั้น คือ สัมมาสังกัปปะยังให้เกิดดำริอารมณ์อยู่เนืองๆ สัมมาทิฏฐิจึงทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์นั้นว่าธรรมหมู่นี้เป็นกามาวจร ธรรมหมู่นี้เป็นรูปาวจร ธรรมหมู่นี้เป็นอรูปาวจร แล้วก็นำไปพิจารณาต่อในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัมมาสังกัปปะ เป็นเสมือนพนักงานนำเสนอ ดำริอารมณ์ให้กับสัมมาทิฏฐิในทำนองเดียวกับมือ ซึ่งจับเงินและทองพลิกกลับไปกลับมาให้จักขุมองฉะนั้น

สัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะ ก็เป็นเหตุปัจจัยให้แก่สัมมาอาชีวะ ด้วยเหตุว่าเมื่อกายกรรม วจีกรรม สุจริตแล้ว การเลี้ยงชีพย่อมสุจริตตามไปด้วย

ส่วนสัมมาวายามะและสัมมาสติ ก็เป็นเหตุปัจจัยให้แก่สัมมาสมาธิ อุปมาเสมือนบุรุษ 3 คนเป็น สหายกัน ชวนกันเข้าไปในอุทยาน ครั้นบุรุษคนที่หนึ่งเห็นดอกจำปาก็ปรารถนาจะได้ดอกไม้นั้น แต่ต้นจำปา นั้นอยู่สูงสุดเอื้อม สหายคนที่หนึ่งจึงก้มหลังให้เหยียบ สหายอีกคนหนึ่งก็น้อมกายลงให้จับ บุรุษนั้นก็เหยียบหลังสหายคนหนึ่ง และจับบ่าสหายอีกคนหนึ่ง จึงสามารถเก็บดอกจำปามาได้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด สัมมาวายามะก็เปรียบเสมือนบุรุษผู้ก้มหลังให้เหยียบ สัมมาสติเปรียบเสมือนบุรุษผู้น้อมบ่าลงให้จับ สัมมาสมาธิ นั้นเปรียบประดุจบุรุษผู้เหยียบหลังสหายแล้วเก็บดอกจำปาได้ การที่สัมมาวายามะกับสัมมาสติเป็นปัจจัยให้แก่ สัมมาสมาธิ ซึ่งมุ่งเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ย่อมอุปมาดุจบุรุษทั้ง 3 คนที่เป็นสหายกัน

 

สรุป

มรรคมีองค์ 8 เป็นธรรมอันอุดมล้ำเลิศประเสริฐยิ่งของพระอริยเจ้า เปรียบประดุจบรมจักรพรรดิ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระเดชานุภาพอันสูงส่ง เหล่าอริราชทั้งมวล ย่อมสยดแสยง ไม่อาจต้านทานต่อราชฤทธิ์ของพระองค์ได้ มรรคมีองค์ 8 เป็นที่รวมแห่งโพธิปักขิยธรรมทั้งปวง แม่น้ำน้อยใหญ่บรรดามีในโลกนี้ ย่อมหลั่งไหลลงสู่มหาสมุทรทั้งสิ้น ฉันใด มรรคมีองค์ 8 นี้ก็เป็นองค์ประชุมแห่งโพธิปักขิยธรรมทั้งปวง อันประกอบด้วยสติปัฏฐาน 4 สัมมัปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 และโพชฌงค์ 7 ฉันนั้น

องค์มรรค 8 ประการนี้ ถ้าจะจัดโดยขันธ์ ก็อาจจะจัดได้เป็น 3 ขันธ์ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจัดอยู่ในปัญญาขันธ์ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดอยู่ในสีลขันธ์ ส่วนสัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิจัดอยู่ในสมาธิขันธ์ อธิบายว่า ผู้เป็นอริยสาวก (สาวกพุทธะ) ก็พึ่งกำจัดอวิชชาคือตัวโมหะ อันเป็นเหตุให้ลุ่มหลงเสียด้วยปัญญาขันธ์ กำจัดโทสะคือตัวพยาบาทเสียด้วยสีลขันธ์ และกำจัดโลภะเสียด้วยสมาธิขันธ์

เพราะฉะนั้น มัชฌิมาปฏิปทาอันประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนในการประหารกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจ นำไปสู่ความหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสที่ครอบงำเข้าสู่ความเป็นพุทธะไปตามลำดับ

-------------------------------------------------------------------

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.051377284526825 Mins