มัชฌิมาปฏิปทาในทางปฏิบัติ

วันที่ 15 กย. พ.ศ.2558

 

 มัชฌิมาปฏิปทาในทางปฏิบัติ

มัชฌิมาปฏิปทาในทางปฏิบัติ9)

มัชฌิมาปฏิปทาที่กล่าวถึงในหัวข้อ 8.2.2 นั้นเป็นเรื่องของภาคทฤษฏีที่ทำให้เราได้เข้าใจความหมายของมรรคมีองค์ 8 ได้ในระดับหนึ่ง แต่ในเชิงปฏิบัตินั้น พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีได้ปรารภไว้ในพระธรรมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แสดงไว้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2498 ว่า เรื่องกลางนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งยิ่งนัก ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเข้าใจกันเลย แท้จริงแล้วธรรมที่เรียกว่า ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้น หมายถึง การส่งใจเข้าไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายมนุษย์ เราจะหาศูนย์กลางกายของเราได้โดยจินตนาการว่าขึงเส้นดายสองเส้น เส้นหนึ่งขึงจากสะดือตรงไปทะลุสันหลัง อีกเส้นหนึ่งจากสีข้างด้านซ้ายตรงไปทะลุด้านขวา ณ จุดที่เส้นด้ายตัดกันซึ่งขนาดเล็กเท่ากับปลายเข็ม คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ 6 เหนือจุดตัดขึ้นมาสองนิ้วมือ คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7


ณ ฐานที่ 7 นี้คือศูนย์กลางกายอันเป็นที่ตั้งถาวรของใจ นอกจากนี้ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ยังเป็นที่สถิตของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ดวงธรรมนี้มีขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่มีลักษณะใสบริสุทธิ์ เมื่อแรกที่คนเรามาเกิด เราก็เอาใจหยุดอยู่ตรงกลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นี้ เวลาหลับ ใจก็อยู่ตรงกลางดวงธรรมนี้ เวลาตาย ใจเราก็อยู่ตรงกลางดวงธรรมนี้ เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นี้แหละ เป็นทั้งที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ และที่ตื่น ของมนุษย์ทุกคน

 

พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี ได้อรรถาธิบายต่อไปว่า การที่เราสามารถน้อมใจไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้นั่นแหละได้ชื่อว่า มัชฌิมา พอหยุดได้ก็หมดดีหมดชั่ว คือ จัดเป็นดีก็มิได้ จัดเป็นชั่วก็มิได้ จัดเป็นบุญก็มิได้ จัดเป็นบาปก็มิได้ ต้องจัดเป็นกลาง พอหยุดได้แล้ว ย่อมห่างจากหนทางที่สุดทั้งสองอย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ห่างจากที่สุดทั้งสองนี้ี้ คือทางไปทางถึงอรหัตผลนั่นเอง นี่เป็น ความหมายของพระบาลีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับสั่งว่า ตถาคเตนอภิสมฺพุทฺธา แปลว่า พระตถาคตเจ้ารู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง

 

เมื่อเราทำใจให้หยุดนิ่ง อยู่ตรงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นี้ ถือได้ว่ามีใจเป็นปกติ ครั้นปฏิบัติได้ถูกส่วน นั่นคือ มรรคทั้ง 8 ประการ มาประชุมพร้อมกันตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ก็จะปรากฏดวงใสขึ้น เรียกว่า ดวงปฐมมรรค หรือ ดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใสบริสุทธิ์ประดุจคันฉ่อง ขนาดเท่าดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ ปรากฏขึ้นมาตรงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้น เมื่อหยุดนิ่งอยู่กลางดวง ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อไปอีก พอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงศีล มีขนาดเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน เมื่อหยุดอยู่กลางดวงศีลอีก พอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงสมาธิ เมื่อหยุดอยู่กลางดวงสมาธิ พอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงปัญญา เมื่อหยุดอยู่กลางดวงปัญญา พอถูกส่วน ก็จะเข้าถึงดวงวิมุตติ เมื่อหยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ ก็จะเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เมื่อหยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนเข้าก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ ละเอียด
ทั้งหมดนี้คือลำดับขั้นการปฏิบัติอันเป็นกลาง ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และปฏิบัติแล้วด้วยพระปัญญาอันยิ่ง เมื่อใจเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้ว จึงเป็นอันหมดหน้าที่ของกายมนุษย์หยาบ ลำดับไปย่อมเป็นหน้าที่ของกายมนุษย์ละเอียด

ใจของกายมนุษย์ละเอียด ก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด พอถูกส่วนก็จะเห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อหยุดอยู่กลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงศีล เมื่อหยุดอยู่กลางดวงศีล พอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงสมาธิ เมื่อใจหยุดอยู่กลางดวงสมาธิ พอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงปัญญา เมื่อใจหยุดอยู่กลางดวงปัญญา พอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงวิมุตติ เมื่อหยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ พอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เมื่อหยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนก็จะเข้าถึงกายทิพย์

 

เราคงจะได้เห็นแล้วว่า ลำดับขั้นการส่งใจเข้าไปใน กลางŽ จากดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ไปจนถึงกายมนุษย์ละเอียด และจากดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดไปจนถึงกายทิพย์นั้น มีลักษณะและขึ้นตอนทำนองเดียวกัน คือ ต้องวางใจหยุดนิ่งอยู่กลางศูนย์กลางกายฐานที่ 7 พอถูกส่วนก็เห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อใจหยุดอยู่กลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอถูกส่วนก็เข้าถึงดวงศีล เมื่อวางใจในทำนองเดียวกันพอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะตามลำดับ

โดยการส่งใจในทำนองเดียวกันนี้ ใจของกายทิพย์ก็จะเข้าถึงกายทิพย์ละเอียดเข้าไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจของกายทิพย์ละเอียด ครั้นแล้วใจของกายทิพย์ละเอียดก็จะเข้าถึงกายรูปพรหมเข้าไปติดแน่นอยู่กับใจของกายรูปพรหม ต่อจากนั้น ใจของกายรูปพรหมก็จะเข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด จากกายรูปพรหมละเอียดก็จะเข้าถึงกายอรูปพรหม จากกายอรูปพรหมก็จะเข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียด จากกายอรูปพรหมละเอียดก็จะเข้าถึงกายธรรม หรือธรรมกายนั่นเอง

 

การดำเนินจิตเข้าไปภายในเช่นนี้ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ตามเห็นกายในกาย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จึงอาจจะเปรียบได้กับการเดินทางของเราในปัจจุบัน เป็นต้นว่าจะต้องเริ่มจาการโดยสารจักรยานยนต์รับจ้างออกจากบ้าน เพื่อไปลงเรือข้างฟากแม่น้ำ แล้วโดยสารรถยนต์ เพื่อไปต่อรถไฟ หรือเครื่องบินต่อไป จนกระทั่งบรรลุจุดหมายปลายทาง

เราพอจะเข้าใจแล้วว่า ดวงและกายต่างๆ นับตั้งแต่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ จนถึงกายธรรมนั้น เป็นทางผ่านของใจและมีลักษณะซ้อนกันอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นั่นเอง

-------------------------------------------------------------------

9) ทตฺตชีโว ภิกขุ, ธรรมจักกัปปวัตนสูตร, หน้า 134.

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04634731610616 Mins