มัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัตินำไปสู่ความหลุดพ้น
ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ในเชิงพระปริยัติธรรมหรือเชิงทฤษฏีนั้น มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก วิภังคสูตร8) และพระพุทธเจ้าโปรดประทานพระธรรมเทศนาในทุกขนิโรธคมินีปฏิปทาอริยสัจ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีใจความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายหนทางธรรมปฏิบัติ คือ มรรคมีองค์ 8 นี้ สามารถดับทุกข์ให้สำเร็จซึ่งพระนิพพาน เป็นความจริงแท้แห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น เป็นประธาน พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 นี้ ทุกๆ พระองค์ เพราะว่า เป็นวิธีเผาผลาญกิเลส และให้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด
องค์ประกอบของมรรคมีองค์ 8
มรรคมีองค์ 8 ประการ ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ซึ่งสามารถย่อลงเป็นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีรายละเอียดดังนี้
1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ
กล่าวโดยปริยายเบื้องต่ำ ความเห็นชอบ คือ ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิต คือ ทานที่ให้แล้วมีผล การสงเคราะห์ที่ทำแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลคือวิบากของกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี โลกนี้โลกหน้ามี พ่อแม่มีคุณ เป็นต้น ความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเช่นนี้เป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น ถ้าบุคคลเห็นไม่ตรงแม้ในเรื่องเบื้องต้นเช่นนี้แล้ว ก็เป็นการยากที่จะก้าวหน้าในคุณธรรมอันสูงขึ้นไป
กล่าวโดยปริยายเบื้องสูง หมายถึง ความรู้หรือญาณในอริยสัจ 4 ดังบาลีว่า
“ กตมา จ ภิกฺขเว สมฺมาทิฏฺฐิ ยํ โข ภิกฺขเว ทุกฺเข ญาณํ ทุกฺขสมุทเย ญาณํ ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ ทุกฺขโรธคามินิยา ปฏิปทาย ญาณํ อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมาทิฏฐิ”
คำว่า ญาณ ในที่นี้หมายถึงญาณ 3 อันเป็นไปในอริยสัจ 4 กล่าว คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ บุคคลจะเป็นสัมมาทิฏฐิโดยสมบูรณ์นั้นจะต้องละกิเลสได้แล้วโดยสิ้นเชิง คือ รู้ในทุกขสมุทยอริยสัจ รู้ในทุกขนิโรธอริยสัจ รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ แล้วปฏิบัติถอนซึ่งอวิชชา และตัณหา เมื่อเป็นดังนั้นแล้วย่อมไม่เห็นคลาดเคลื่อนในปรากฏการณ์ต่างๆ เพราะรู้เบื้องหลังของปรากฏการณ์แล้วอย่างดี
2. สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ กล่าวโดยปริยายเบื้องต่ำ หมายถึง ความดำริชอบก็คือความคิดชอบ คือ คิดในทางมีคุณประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น วางแนวจิตของตนไว้ในทางที่ก่อประโยชน์ เช่น ตั้งใจในทางที่ดี ความคิดในการต่อสู้อุปสรรค คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบ่งบอกความสำคัญของความคิดว่า
” มโนปุพพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมย มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโต นํ ทุกฺขมนฺเวติ จกฺกํ ว วโห ปทํ”
แปลว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีความคิดเป็นประธาน สำคัญที่ความคิดย่อมสำเร็จได้ด้วยความคิด ถ้าคนคิดไม่ดีย่อมพูดไม่ดี ทำไม่ดี จากนั้นความทุกข์ก็ตามมา เหมือนล้อเกวียนที่ตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป
กล่าวโดยปริยายเบื้องสูง หรืออย่างละเอียดซึ่งมีพระพุทธพจน์เป็นอุทเทสดังนี้
“ กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมาสงฺกปฺโป โย โข ภิกฺขเว เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป อพฺยาปาทสงฺกปฺโป อวิหึสาสงฺกปฺโป อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเวสมฺมาสงฺกปฺโป”
แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ความดำริชอบคืออย่างไร ภิกษุทั้งหลาย คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน นี้แล เราเรียกว่า ความดำริชอบ
สามารถอธิบายขยายความเพิ่มเติมได้ดังนี้
1. ความดำริในการออกจากกาม (เนกขัมมสังกัปปะ)
ก. ทำไมจึงต้องมีความดำริในการออกจากกาม เบื้องต้นต้องทราบก่อนว่าอริยมรรคมีองค์ 8 โดยปริยายเบื้องสูงนี้เป็นทางดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพื่อความดับภพทั้งปวง ทั้งกามภพ รูปภพ และอรูปภพ การที่จะพ้นจากกามได้ก็ต้องออกจากกามด้วยการบำเพ็ญเนขัมมบารมีให้ต่อเนื่องไปทุกภพทุกชาติ
ข. คุณของการหลีกออกจากกามผู้มีปรีชาชาญ ย่อมได้ความปลอดโปร่งใจเป็นอย่างยิ่ง เกษมจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง (โยคฺกเขม) ย่อมรู้สึกตนว่าได้ประสบภาวะใหม่ ชีวิตใหม่ อยู่ในโลกใหม่อันเรืองรองด้วยปัญญา ได้พบความจริงว่า โลกใหม่นี้ดีกว่า สะอาดกว่า มีความสุขกว่าโลกเก่าเป็นอันมาก
2. ความดำริในความไม่พยาบาท (อัพยาปาทสังกัปปะ)
ก. ความหมายของความไม่พยาบาท คือ ความปองร้าย มุ่งให้ผู้อื่นถึงความพินาศ เช่น คิดอยู่ในใจว่า เมื่อไรหนอคนนั้นจะถูกรถชนตาย ตกน้ำตาย ถูกฆ่าตาย ทรัพย์สมบัติพินาศ หรือถูกปล้น อย่างนี้แหละเรียกว่า ความพยาบาท ความไม่พยาบาท คือ ความไม่มุ่งร้ายต่อผู้อื่น ไม่ปรารถนาร้ายแก่เขา กล่าวอย่างสั้นว่ามีความปรารถนาดีแก่เขา
ข. โทษของความพยาบาท ความพยาบาทเป็นไฟภายในอย่างหนึ่งที่มีอานุภาพเผาลนจิตใจของผู้สั่งสมมันไว้ ยิ่งมากเท่าใดก็จะยิ่งเผาเจ้าตัวให้เร่าร้อนมากเท่านั้น เมื่อออกจากตนเองก็ไปเผาคนอื่นให้เร่าร้อน สังคมเร่าร้อน
ค. คุณของความไม่พยาบาท ผู้มีปัญญาเห็นแจ้งดังนี้ จึงได้ดำริในการไม่พยาบาท คืออยู่ด้วยการให้อภัยในชีวิต ในทรัพย์สิน และในความรู้สึกของผู้อื่น คือไม่ทำลายชีวิต ไม่ทำลายทรัพย์สิน และความทำลายความรู้สึกของคนอื่น การให้อภัยจึงเป็นทานอันยิ่งใหญ่ อย่างหนึ่งเรียกว่า อภัยทาน ซึ่งเป็นทางดำเนินของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่
3. ความดำริในการไม่เบียดเบียน (อวิหิงสาสังกัปปะ)
ก. ความไม่เบียดเบียน คือการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเพื่อความสุขหรือเพื่อประโยชน์ของตน มีสาเหตุมาจากความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง ต่างกับความพยาบาทตรงที่ว่าพยาบาทนั้นเป็นการผูกเวรจองเวร ผูกใจเจ็บกระทำตอบแก่ผู้ที่ทำตนก่อน ส่วนความเบียดเบียนนั้น อาจทำได้ แม้แก่ผู้ที่ไม่เคยทำอะไรให้ตนเดือดร้อน
ข. โทษของการเบียดเบียน โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลมูล คือ ต้นตอหรือต้นเหตุแห่งความชั่ว บุคคลย่อมเบียดเบียนผู้อื่นเพราะมี โลภ หรือโกรธ หรือหลง อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจ หรือเพราะทั้ง 3 อย่างรวมกัน เมื่อคิดเบียดเบียนเขา ใจของตนก็เศร้าหมองเร่าร้อนเป็นทุกข์ นี่ก็จัดเป็นการเบียดเบียนตนเองให้ทุกข์ก่อนแล้วจึงยังความทุกข์นั้นไปสู่คนรอบข้างโดยทางตรง ส่วนทางอ้อมตัวเราก็เบียดเบียนตนเองไปแล้ว
ค. คุณของความไม่เบียดเบียน ทำให้เป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน เห็นซึ้งลงไปในความทุกข์ของผู้อื่น ความรู้สึกอันนั้นย่อมฉาบทามาที่ใบหน้า แววตา เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเข้าหา และมีความรักใคร่ใยดี เคารพนับถือ มีความสุข ความปราโมทย์เมื่อได้พบเห็น แม้ผู้มีใจกระด้างเมื่อได้สัมผัสกับความกรุณาของบุคคลเช่นนั้น ก็คลายความกระด้างลงกลายเป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน ควรแก่การปลูกฝังคุณธรรมอื่นๆ ลงไป
3. สัมมาวาจา คือ การพูดชอบ
มีพระพุทธพจน์เป็นอุทเทสดังนี้
“ กตมา จ ภิกฺขเว สมฺมาวาจา ยา โข ภิกฺขเว มุสาวาทา เวรมณี, ปิสุณาย วาจาย เวรมณี ผรุสาย วาจาย เวรมณี สมฺผปฺปลาปาเวรมณี อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมาวาจา”
แปลว่า “ ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจาเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย การเว้นการพูดเท็จ เว้นการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา เหตุไฉนจึงทรงสอนให้เว้นทุจริต คือ การพูดไม่ดี 4 อย่าง ทำไมไม่ทรงสอนให้พูดอย่างนั้นอย่างนี้ จึงจะเป็นสัมมาวาจา”
สัมมาวาจานั้น ได้แก่วจีสุจริต 4 ประการ คือ
1. มุสาวาทา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการโกหก มายา ล่อลวง สับปรับ ให้ผู้อื่นเสียทรัพย์สินสิ่งของ
2. ปิสุณาวาจา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการกล่าววาจาส่อเสียดให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนใจ ให้เคืองแค้นขัดใจ ให้ได้รับความฉิบหาย
3. ผรุสวาจา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการกล่าววาจาหยาบคาย
4. สัมผัปปลาปวาจา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการกล่าวคำตลกคะนอง เพ้อเจ้อ ไร้สาระ
4. สัมมากัมมันตะ คือ การงานชอบ
มีพระพุทธพจน์เป็นอุทเทสดังนี้ “ กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมากมฺมนฺโต ยา โข ภิกฺขเว ปาณาติปาตา เวรมณี, อทินฺนาทานา เวรมณี อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมากมฺมนฺโต”
แปลว่า “ ภิกษุทั้งหลาย สัมมากัมมันตะเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลายงดการเว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ(การกระทำชอบ)”
สัมมากัมมันตะนั้น ได้แก่ กายสุจริต 3 ประการ คือ
1. ปาณาติบาตา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตให้ถึงตาย
2. อทินนาทานา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการลอบลักทรัพย์ของผู้อื่น หรือการถือเอาของของ ผู้อื่นมาเป็นของตน โดยที่เจ้าของมิได้อนุญาต
3. กาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี หมายถึง เว้นจากการประพฤติผิดในกามต่อบุตรภรรยาหรือสามีของผู้อื่น
5. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอาชีวะ มุ่งเน้นถึงพระสาวกในบวรพุทธศาสนานี้ พึงปฏิบัติตนละเสียซึ่งมิจฉาอาชีวะ คือเลี้ยงชีพโดยมิชอบธรรม ประกอบด้วยอเนสนา คือ หลอกลวงด้วยการอวด อุตริมนุสสธรรม ออกปากขอต่อคนที่ไม่ควรขอ ใช้เงินลงทุนหาผลประโยชน์ ต่อลาภด้วยลาภ คือ ให้แต่น้อยเพื่อ หวังผลตอบแทนมาก เป็นหมอเวทมนตร์เสกเป่า เป็นหมอรักษาโรค เป็นต้น แม้ไม่ได้เป็นนักบวช แต่เป็นผู้ที่นับถือพระรัตนตรัยแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านยังทรงตรัสว่า
อุบาสก ผู้นับถือพระรัตนตรัย ไม่ควร ทำการค้าขาย 5 อย่างคือ
1. ค้าขายเครื่องประหาร
2. ค้าขายมนุษย์
3. ค้าขายสัตว์เป็นเพื่อทำเป็นอาหาร
4. ค้าขายน้ำเมา
5. ค้าขายยาพิษ
เพราะทรงเห็นว่าการค้าขายสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลัง และยังขัดต่อคำสอนของพระองค์อีกด้วย การเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรมให้เป็นที่สรรเสริญแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย
6. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ ความเพียรชอบ จัดเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง เป็นคุณธรรมที่ศาสดาของทุกศาสนายกย่อง นักปราชญ์ทั้งปวงสรรเสริญ ความเพียรเป็นคำกลางๆ และเป็นดาบสองคมอยู่สุดแล้วแต่บุคคลจะใช้ความเพียรไปในทางใด ถ้าใช้ไปในทางที่ชอบก็เป็นสัมมาวายาโม ก่อให้เกิดมีความสุข ความเจริญเป็นผล ถ้าใช้ไปในทางไม่ชอบเป็นมิจฉาวายาโม เช่น ความพยายามของโจรก็มีความทุกข์ ความต่ำทรามเป็นผล
วายามะ และ วิริยะ มีความหมายอย่างเดียวกัน ต่างแต่พยัญชนะเท่านั้น ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสาวก และนักปราชญ์ทั้งหลายได้สรรเสริญความเพียรไว้มาก อย่างเช่น ในขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่มที่ 33 หน้าที่ 595 กล่าวไว้ว่า
“ ท่านทั้งหลายเห็นความเกียจคร้านเป็นภัย เห็นความเพียรเป็นธรรมเกษม คือ ปลอดภัยแล้ว จงเป็นผู้มีความเพียรสม่ำเสมอเถิด นี่เป็นพุทธานุศาสนี (การพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า)”
องค์สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงทำความเพียรเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ ทรง ตั้งจตุรงคมหาปธาน ความเพียรอันประกอบด้วยองค์ 4 ว่า
“ เลือดและเนื้อ ในสรีระของเราจะเหือดแห้งไป เหลือแต่เอ็นและกระดูก ก็ช่างเถิด ถ้ายังไม่บรรลุผลที่เราต้องการ คือสัพพัญญุตญาณแล้วจะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด”
อย่างนี้เรียกว่า ทรงทำความเพียรแบบ “ มอบกายมอบชีวิต” ไม่ทรงอาลัยในชีวิต ในที่สุดพระองค์ก็ได้บรรลุผลสมความมุ่งหมาย คือ ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาวายามะที่ปรากฏในมัคควิภังคสูตร สูตรที่ว่าด้วยการจำแนกมรรค พระพุทธองค์ทรงนิทเทส (บทขยาย) สัมมาวายามะ ไว้ว่า
1. สังวรปธาน คือ เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น
2. ปหานปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
3. ภาวนาปธาน คือ เพียรให้กุศลที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น
4. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ดำรงอยู่และเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
รวมความว่า ทรงหนุนให้เพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วเพียรให้้ ความดีเกิดขึ้น เพียรรักษาความดีให้ดำรงอยู่และเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
7. สัมมาสติ คือ การระลึกชอบ มรรคข้อนี้ ในพระบาลีมัคควิภังคสูตร อธิบายว่า การระลึกในสติปัฏฐาน 4 คือระลึกในกาย เวทนา จิต และธรรม ให้รู้ตามเป็นจริง เพื่อไม่หลงในสิ่งเหล่านั้น เพื่อเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องของกาย เรื่องของความรู้สึก เรื่องของจิต และเรื่องของธรรมที่เกี่ยวกับจิต กล่าวคือ ปรากฏการณ์อันเกิดขึ้นกับจิต ให้รู้ว่าอย่างไหนทำให้จิตเสื่อม อย่างไหนทำให้จิตเจริญ
สติปัฏฐาน 4 นี้พระพุทธเจ้าทรงยกย่องมาก ทรงยกย่องไว้ตั้งแต่เริ่มต้นของสติปัฏฐานสูตรว่า
“ เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา”
เป็นอาทิ แปลว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก มีอยู่เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย (ผู้เดินไป) เพื่อล่วงพ้น หรือข้ามแดนแห่งความโศกความคร่ำครวญ รำพัน เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ น่ารู้ และเพื่อทำนิพพานให้แจ้งทาง ดังกล่าวนี้คือสติปัฏฐาน 4”
สัมมาสติ ความหมายในเบื้องต่ำ หมายถึง สติที่ระลึกนึกคิดในเรื่องบุญ เป็นต้นว่า คิดที่จะบำเพ็ญทาน รักษาศีล ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ระลึกถึงผู้มีพระคุณ เช่น บิดา มารดา ครูอาจารย์ เป็นต้น
ส่วนสัมมาสติ ความหมายโดยเบื้องสูงหมายถึง การบำเพ็ญสติปัฏฐาน ดังที่กว่ามาแล้วข้างต้น อันได้แก่การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลาย ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามสภาวะที่สิ่งนั้นเป็น อยู่ตามปกติมี 4 ประการ ในการอธิบายความหมายของสติปัฏฐาน 4 จะขอนำพระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนีมาประกอบการอธิบายขยายความ เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น
กายานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ การพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ คือ การเห็นกายต่างๆ ซึ่งซ้อนอยู่ภายในกายมนุษย์นี้ นับตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝัน จนกระทั่งถึงกายธรรมระดับต่างๆ
เวทนานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอกอยู่เนืองๆ การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนานี้ ในระดับต้นนั้น คือ การเห็นสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ของกายในกายที่ซ้อนกันอยู่ เวทนาภายนอกคือเวทนาของกายมนุษย์ เวทนาภายใน คือ เวทนาของกายภายใน ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดเข้าไปตามลำดับ
จิตตานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกอยู่เนืองๆ การพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เนืองๆ หมายถึง การรู้ชัดถึงสภาวะจิตตลอดเวลา เช่น ถ้าจิตระคนด้วยราคะ หรือ โทสะ หรือ โมหะ ก็รู้ชัดว่าจิตระคนด้วยกิเลสอย่างใด หรือถ้าจิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตหลุดพ้น ไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น จิตภายนอก คือ จิตของกายมนุษย์ ส่วนจิตภายใน คือ จิตของกายภายใน นับแต่กายมนุษย์ละเอียดเป็นต้นไป
ธัมมานุปัสสนา คือ การพิจารณาธรรมภายในและภายนอกอยู่เนืองๆ การพิจารณาเห็นธรรมภายใน คือ เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายภายในต่างๆ ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดเข้าไปตามลำดับ ส่วนการพิจารณา เห็นธรรมภายนอกนั้นคือ เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ หากปราศจากดวงธรรมเหล่านี้เสียแล้ว กายต่างๆ ก็มิอาจดำรงอยู่ได้
8. สัมมาสมาธิ คือ สมาธิชอบ สมาธิ เป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จทุกอย่าง แต่คนส่วนมากพอได้ยินคำว่า สมาธิ ใจก็นึกไปถึงฌาน วิปัสสนาชั้นสูง ความจริงแล้วสมาธิต้องใช้ในการงานทุกอย่าง ไม่ว่างานสูงต่ำอย่างไร จะต่างกันก็แต่ว่า จะต้องใช้สมาธิสูงต่ำเพียงใด สมาธิเพียงเบาบางหรือเข้มข้นเพียงไร
สมาธิ คือ ลักษณะที่จิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย วุ่นวายไปในอารมณ์อื่นอันเป็นเหตุภายนอก เหมือนเสาเรือนที่ปักลงมั่นคงย่อมรับน้ำหนักได้ดี ไม่โยกไม่คลอนฉันใด ดวงจิตที่มั่นคงด้วยกำลังสมาธิก็ฉันนั้น ย่อมไม่วอกแวกหวั่นไหว กระแสดวงจิตก็เหมือนกระแสน้ำ ถ้าพุ่งไปทางเดียวก็มีกำลังแรง เมื่อแยกไปหลายทาง กำลังแรงก็อ่อนลง สมาธินี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง กุศลธรรมทั้งปวง จะสำเร็จได้ก็ด้วยสมาธิจิตของเราเองเป็นสำคัญ สมาธิจิตนี้เป็นที่ประชุมไว้ ซึ่งกุศลธรรมทั้งปวง กองกุศลทั้งปวงจะมีผลมาก ก็ด้วยอาศัยสมาธิจิต สมาธิแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
ขณิกสมาธิ ได้แก่สมาธิจิตแห่งเราท่านทั้งปวงที่ตั้งมั่นได้ในระยะสั้นๆ ชั่วขณะช้างกระดิกหูเพียง ทีเดียว ก็ได้ชื่อว่า ขณิกสมาธิ
อุปจารสมาธิ ได้แก่ สมาธิจิตอันตั้งมั่นลงในที่ใกล้จะได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน อยู่แล้ว
อัปปนาสมาธิ ได้แก่ องค์ฌาน มีปฐมฌานเป็นต้น จิตที่ตั้งอยู่ในฌานทั้ง 4 นั้น ได้ชื่อว่า อัปปนาสมาธิ
ในพระธรรมเทศนาเรื่อง สมาธิ หลวงปู่วัดปากน้ำ กล่าวถึงสมาธิแบ่งเป็น สมาธิในปริยายเบื้องต่ำ และสมาธิในปริยายเบื้องสูง สมาธิในปริยายเบื้องต่ำ ถือเอาตามพระบาลีว่า อิธ อริยสาวโก แปลว่า พระอริยสาวกในพระธรรมวินัย โวสฺสคคารมฺมณํ กริตวา ทำให้ปราศจากอารมณ์ทั้ง 6 ทาง ตา (รูปารมณ์) ทางหู (สัทธารมณ์) ทางจมูก (คันธารมณ์) ทางลิ้น (รสรมณ์) ทางกาย (โผฏฐัพพารมณ์) ทางใจ (ธรรมารมณ์) ไม่ได้เกี่ยวแก่ใจเลย ได้สมาธิในความตั้งมั่น ได้ซึ่งความที่จิตเป็นหนึ่ง สมาธิในทางปฏิบัติ ผู้ได้ ผู้ถึง เห็นปรากฎ ชัดทีเดียว เริ่มแรกเป็นการกำหนด บริกรรมนิมิต คือสิ่งที่กำหนดในระยะแรกสุดเพื่อภาวนา บริกรรมนิมิต เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิด เมื่อจิตตั้งมั่นเริ่มเป็นอุปจารสมาธิ แทนขณิกสมาธิ จะเห็นบริกรรมนิมิต ติดอยู่ ภายในใจเป็นมโนภาพ แม้หลับตาก็จะเห็นชัดเหมือนยิ่งกว่าลืมตาเห็น คือ เมื่อบริกรรมนิมิต เปลี่ยนเป็นอุคคหนิมิต อุคคหนิมิตที่ตั้งมั่นยิ่งขึ้นเป็นอุปจารสมาธิอย่างสมบูรณ์ อุคคหนิมิตจะเปลี่ยนเป็นปฏิภาคนิมิตชัดเจน สามารถ เปลี่ยนขนาดรูปร่างได้ อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตเป็นนิมิต ที่ต้องทำให้เจริญ จำเป็นต้องรักษาให้ดีจนกว่า อัปปนาสมาธิจะเกิดขึ้นและสำเร็จเป็น “ ฌาน” ซึ่งเป็นสมาธิปริยายเบื้องสูง
สรุปว่า สัมมาสมาธิในเบื้องต่ำ หมายถึง ความตั้งใจแน่วแน่ไม่ย่อหย่อนแห่งจิตในขณะบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา สดับฟังพระธรรมเทศนา ความแน่วแน่แห่งจิตในขณะบำเพ็ญกุศลธรรมดังกล่าวแต่ละขณะ จัดเป็นขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิจึงถือว่าเป็นสัมมาสมาธิด้วย
สัมมาสมาธิในเบื้องสูง จึงหมายถึง สมาธิระดับอัปปนาสมาธิ คือ สภาวะที่จิตสงัดจากกิเลสกามและวัตถุกามแล้ว เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน พระอริยบุคคลทั้งหลายจะสำเร็จซึ่งมรรคผลนิพพานนั้นด้วยสมาธิจิตนี้เอง สมาธิจิตจึงเป็นที่สรรเสริญของพระอริยเจ้าทั้งปวง
สรุป
มรรคทั้ง 8 ประการนั้น เป็นปัจจัยเกื้อกูลกันจะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ ในเชิงทฤษฏีสามารถนำไปสู่การปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ที่เป็นรูปธรรมได้ด้วยการสั่งสมความดีมีทาน ศีล ภาวนา เพื่อสะสมให้ควบแน่นยิ่งขึ้นไป โดยจะพิจารณาเห็นเป็นหลักการตามนี้ว่า เมื่อบุคคลสร้างกุศลกรรม มีทานและศีล เป็นต้น จะก่อให้เกิดอานิสงส์ได้สมบัติ 3 ประการ เมื่อบุคคลมีปัญญาหยั่งรู้เช่นนี้แล้ว ก็จัดได้ว่า มีสัมมาทิฏฐิบังเกิดในสันดาน บุคคลผู้มีความดำริที่จะสร้างกุศลกรรม มีทานและศีล การมีความดำริที่จะเว้นจากวจีทุจริต กายทุจริต และมิจฉาอาชีวะ ในขณะที่บำเพ็ญกุศล ย่อมได้ชื่อว่าสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ การมีความดำริพากเพียรในการสร้างกุศลกรรม ย่อมได้ชื่อว่า สัมมาวายามะ บังเกิดขึ้นในสันดาน การมีความคิดที่คอยระลึกถึงการสร้างกุศลกรรมอยู่เป็นนิจกาล ได้ชื่อว่า สัมมาสติ บังเกิดขึ้นในสันดาน ความคิดที่จะยังจิตให้ตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียว คือ เอกัคคตา ย่อมได้ชื่อว่า มีสัมมาสมาธิ บังเกิดในสันดาน
มรรคมีองค์ 8 ประการนี้ ย่อมบังเกิดในภูมิทั้ง 4 คือ กามาพจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ เมื่อบังเกิดในโลกุตตรภูมิ ก็ได้ชื่อว่าโลกุตตรมรรค เมื่อบังเกิดในกามาพจรภูมิก็ได้ชื่อว่าโลกิยมรรค มรรคอันเป็นโลกีย์นั้น คือ สัตบุรุษผู้มีศรัทธาสร้างกุศลอันประกอบด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และสดับฟังพระธรรมเทศนาเป็นสำคัญ หมายความว่า ถ้าบุคคลบำเพ็ญทาน รักษาศีล บำเพ็ญเพียรภาวนา และสดับฟังพระธรรมเทศนาเวลาใดเวลานั้นก็ได้ชื่อว่า บำเพ็ญมรรคมีองค์ 8 ทั้งนี้เพราะมรรคทั้ง 8 ประการนี้เกิดขึ้นด้วยการทำกุศลทั้งปวงนั้นๆ ทุกครั้ง
-------------------------------------------------------------------
8) วิภังคสูตร, สังยุตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 30 หน้า 26.
GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต