การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธะไปตามลำดับ

วันที่ 15 กย. พ.ศ.2558

 

 การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธะไปตามลำดับ

ดังที่กล่าวมาโดยลำดับแล้ว ในเรื่องการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธะ คือ ผู้รู้ภายใน ต้องปฏิบัติ ตามทางสายกลาง อันมีข้อปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 นั้น จำเป็นต้องรวมองค์ทั้ง 7 เบื้องต้นตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ จนถึงสัมมาสติ ด้วยสัมมาสมาธิ เพื่อให้มีกำลังในการประหาณกิเลสได้ เหมือนการใช้แว่นแก้วรวมแสงจากพระอาทิตย์เพื่อให้เกิดความร้อนและสามารถนำไฟที่เกิดขึ้นนั้นไปเผาสิ่งต่างๆ ได้ เช่นเดียวกัน เมื่อพลัง บริสุทธิ์รวมหยุดเป็นจุดเดียวก็สามารถใช้ในการประหาณกิเลสได้ ดังนั้น สมาธิจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในการเดินทางสู่ผู้รู้ภายใน

จากหัวข้อที่กล่าวถึงการเข้าถึงพุทธะด้วยมัชฌิมาปฏิปทาในเชิงปฏิบัติ จะเห็นลำดับขั้นตอนของการดำเนินตามทางสายกลางด้วยการวางใจในกลางดวงและกาย จนถึงกายที่ละเอียดลุ่มลึกไปตามดับดับกิเลสเป็นชั้นๆ ไป ในส่วนของหัวข้อนี้จะขยายความเพิ่มเติมต่อจากหัวข้อดังกล่าว ในส่วนของการเข้าถึงพุทธะไปตามลำดับดังนี้

 

ขณะที่โยคาวจร10) บำเพ็ญมรรคมีองค์ 8 ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์และถูกต้องตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือส่งใจเข้าไปอยู่ในตัว ตั้งมั่นอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 แล้ว ใจจะปล่อยวางจากอารมณ์ภายนอก ครั้ง ปฏิบัติได้ถูกส่วน ก็จะเห็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์เกิดขึ้น ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ดวงใสนี้เรียกว่า ดวงปฐมมรรค หรือดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อย่างเล็กมีขนาดเท่าดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ดวงปฐมมรรคเกิดขึ้นจากการประชุมพร้อมกันของมรรคมีองค์ 8 หรือเรียกว่า มรรคสมังคี ซึ่งเป็นต้นทางเดินของใจไปสู่อายตนนิพพาน

เมื่อโยคาวจรดำเนินจิตบรรลุถึงดวงปฐมมรรคแล้ว ถ้าวางจิตนิ่งอยู่กับที่ จิตก็อาจจะถอนกลับมาสู่ อารมณ์ภายนอกดังเดิม ดังนั้นพระมงคลเทพมุนีจึงสอนมิให้วางจิตอยู่กับที่ แต่ให้ดำเนินจิตเข้าสู่กลางดวง ปฐมมรรคนั้น ไม่ช้ามรรคสมังคีก็จะขยายออกกว้าง จิตก็จะดำเนินสู่ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ตามลำดับ ดวงเหล่านี้มีลักษณะซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ เมื่อดำเนินจิตต่อไปอีกก็จะพบกายในกาย ตามหลักสติปัฏฐาน 4 ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ กายต่างๆ ที่เห็นอยู่ภายในนั้นหากเป็นกายที่ตกอยู่ในไตรลักษณะ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ก็จงปล่อยวางเสีย แล้วดำเนินจิตผ่านไปเรื่อยๆ จนเข้าถึงกายธรรม ซึ่งเป็นกายละเอียดที่สุด

 

กายต่างๆ อันตกอยู่ในไตรลักษณ์ และอยู่ระหว่างดวงปฐมมรรคกับกายธรรมนั้นได้แก่ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหม ละเอียด กายเหล่านี้ล้วนประกอบด้วยเบญจขันธ์ หรือขันธ์ 5 อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ส่วนกายธรรมนั้นมิได้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ จึงเรียกว่า ธรรมขันธ์ ด้วยเหตุว่า เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อันมีอยู่ในกายธรรมนั้น ถูกกลั่นจนใสสะอาดบริสุทธิ์ กระนั้นก็ตามธรรมกาย11) ยังถูกจำแนกออก เป็นหลายระดับด้วยกัน ด้วยเหตุว่ามีความบริสุทธิ์ต่างกัน
กายธรรมระดับต้นที่สุดซึ่งอยู่ถัดจากกายอรูปพรหมละเอียดเข้าไปนั้น คือ กายธรรมโคตรภู ถัดไปเป็นกายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระโสดาบันละเอียด กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระสกิทาคามีละเอียด กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอนาคามีละเอียด กายธรรมพระอรหัต กายธรรมพระอรหัตละเอียด รวมทั้งสิ้น 10 กายด้วยกัน

 

การละกิเลสออกเป็นชั้นๆ โยคาวจรผู้เจริญมรรคมีองค์ 8 ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ และถูกต้องตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาแล้วใจก็ว่างเว้นจากความยินดียินร้ายทั้งปวง มีแต่ความวางเฉยที่มีชีวิตชีวา และเต็มไปด้วยสติปัญญา อันจะทำให้เข้าถึงช่องทางไปสู่อายตนนิพพานได้ถูกต้อง ความวางเฉยเช่นนี้คือ สิ่งที่สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงสนับสนุน และทรงเรียกว่า อุเบกขา สภาวะจิตที่วางเฉยเช่นนี้คือ สภาวะที่ห่างจากกิเลส หรือที่เรียกว่า การละหรือการพ้นจากกิเลส ยิ่งพ้นกิเลสได้มากเพียงใด จิตก็ยิ่งสามารถดำดิ่งผ่านกายต่างๆ ไปได้มากเพียงนั้น กล่าวคือ กิเลสในกายมนุษย์นั้นประกอบด้วยอภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ เมื่อจิตบริสุทธิ์พ้นจากกิเลสทั้ง 3 ดังกล่าวแล้ว จิตก็จะเข้าถึงกายทิพย์

กิเลสในกายทิพย์นั้นประกอบด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ เมื่อจิตบริสุทธิ์พ้นจากกิเลสในกายทิพย์แล้ว ก็จะเข้าถึงกายรูปพรหม กิเลสในกายรูปพรหมนั้นประกอบด้วยราคะ โทสะ และโมหะ เมื่อจิตบริสุทธิ์พ้นจากกิเลสในกาย รูปพรหมแล้ว ก็จะเข้าถึงกายอรูปพรหม

กิเลสในกายอรูปพรหมนั้นประกอบด้วยกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย เมื่อจิตพ้นจาก กิเลสในกายอรูปพรหมแล้วก็จะเข้าถึงกายธรรมหรือเรียกว่า ธรรมกายเบื้องต้น อยู่ในระดับโคตรจิตเป็น โคตรภูบุคคล

 

ครั้นโคตรภูบุคคลเข้าฌานสมาบัติ เพ่งอริยสัจ 4 ในกายมนุษย์หยาบและมนุษย์ละเอียดเป็นอนุโลมและปฏิโลม แล้วจิตก็จะเข้าถึงกายธรรมพระโสดา เป็นพระโสดาบัน ถึงความเป็นพระอริยบุคคลผู้ สามารถละสังโยชน์ได้ 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส

ลำดับต่อไป กายธรรมพระโสดาบันจะเข้าฌานสมาบัติเพ่งอริยสัจ 4 ในกายทิพย์เป็นอนุโลมและปฏิโลม ถึงขีดสุดแล้วจะสามารถละกิเลสได้อีก 3 ประการ คือ ราคะ โทสะ โมหะชั้นหยาบ แล้วจิตจะเข้าถึงกายธรรมสกิทาคามี เป็นพระสกิทาคามี คือ พระอริยบุคคลผู้สามารถละกิเลสได้ 3 ประการคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กับทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง

ครั้นแล้ว กายธรรมพระสกิทาคามีจะเข้าฌานสมาบัติเพ่งอริยสัจ 4 ทำนองเดียวกันนั้น ในกายรูปพรหมต่อไป ถึงขีดสุดสามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้งหมด คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ เข้าถึงกายพระอนาคามี ครั้นแล้วกายธรรมพระอนาคามี ก็เข้าฌานสมาบัติเพ่งอริยสัจ 4 ทำนองเดียวกันนั้นต่อไป ถ้าสามารถละสังโยชน์เบื้องสูงได้หมด คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาจะเข้าถึงกายธรรมพระอรหัต การละสังโยชน์ทั้งหมดนั้น เป็นสมุจเฉท คือ เด็ดขาด โยคาวจรก็จะบรรลุถึงพระอรหัตตผล ปราศจากซึ่งอาสวะกิเลสทั้งปวง

 

สรุปว่า การละกิเลสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายมีลักษณะละออกไปเป็นชั้นๆ เป็นลำดับตามอรรถาธิบายดังกล่าวแล้ว

การรู้เห็นธรรมทั้งปวงด้วยญาณแห่งธรรมกาย หมายความว่า ขณะที่โยคาวจรเจริญสมถภาวนา ดำเนินจิตผ่านกายต่างๆ เข้าไปจนถึงกายธรรมโคตรภูแล้ว ใจของโยคาวจรก็จะรวมสนิทแนบแน่กับกายธรรมนั้น กลายสภาวะเป็นโคตรภูบุคคล ใจของกายธรรมนั้นประกอบด้วย ดวงเห็น จำ คิด รู้ ซ้อนๆ กันอยู่เช่นเดียวกับกายมนุษย์ แต่ทว่าใจของกายธรรมนั้น สามารถขยายแผ่เป็นวงกว้างออกไปโดยมีเส้นผ่าศูนย์เท่ากับหน้าตักของกายธรรม ตัวอย่างเช่น ถ้ากายธรรมโคตรภูมิมีหน้าตักกว้าง 5 วา ดวงใจของโคตรภูบุคคลก็สามารถแผ่ขยายออกเป็นดวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 วา และถ้าโยคาวจรบรรลุถึงกายธรรมในลำดับ ที่สูงขึ้นไปอีก ดวงใจของกายธรรมใหม่นั้น ย่อมขยายเป็นวงกว้างขึ้นอีก ตามส่วนแห่งหน้าตักของกายธรรมใหม่ ดวงใจที่สามารถขยายแผ่ออกไปเช่นนี้เรียกว่า “    ญาณ”
โดยเหตุที่ดวงใจของกายธรรมโคตรภูขยายกว้างออกไปเป็นญาณ จึงสามารถมองเห็นย้อนกลับมาดูกายต่างๆ ที่ผ่านไปทั้ง 8 กายอย่างชัดเจน นับตั้งแต่กายมนุษย์จนถึงกายอรูปพรหมละเอียด จึงประจักษ์แจ้งกายทั้ง 8 นั้นตกอยู่ในไตรลักษณ์ อันประกอบด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเห็นทั้งหมด นี้เรียกว่า เห็นด้วยตาแห่งกายธรรม การรู้ทั้งหมดนี้เรียกว่า รู้ด้วยญาณแห่งกายธรรม ณ ที่นี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิปัสสนา

ครั้นเมื่อโยคาวจรเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อไปอีก ก็ย่อมจะบรรลุถึงกายธรรมชั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงกายธรรมพระอรหัตละเอียด ย่อมบรรลุถึงภาวะแห่งสีติภูโต คือ เป็นผู้เย็นแล้ว อาสวะกิเลสสิ้นแล้ว กิจที่ต้องทำสิ้นสุดแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีกแล้ว

-------------------------------------------------------------------

10) หมายถึง ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร ผู้ประกอบความเพียร ผู้เจริญภาวนา
11) ธรรมกาย คือ กายตรัสรู้ธรรมของมนุษย์เราทุกๆ คน เป็นกายโลกุตระ ซึ่งอยู่เหนืออำนาจกิเกสทั้งปวงและมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่สักคนเดียว กายธรรมหรือธรรมกายนี้ คือตัวพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง พระธรรมคำสอนทั้งสิ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มต้นจากเมื่อพระองค์เข้าถึงกายธรรม กระทั่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรม จนแยกออกจากกันไม่ได้ ดังที่ทรงรับสั่งว่า ธมฺมกาโย อหํ อิตอปิ แปลว่า ตัวเราคือธรรมกาย ธรรมกายคือตัวเรา

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010608116785685 Mins