คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันที่ 08 กย. พ.ศ.2558

 

คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้มีใจประเสริฐสูงกว่ามนุษย์และเทวาทั้งหลาย ตลอดจนสูงกว่าทุกสิ่งในภพ 3 นอกจากจะทรงมุ่งทำตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏแล้ว พระองค์ยังมีใจใหญ่คิดที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นตามไปด้วย ใจของพระพุทธองค์เปี่ยมล้นด้วยมหากรุณามาตั้งแต่ครั้งเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามลำดับเพื่อความกระจ่างชัดของเนื้อหายิ่งๆ ขึ้นไปตั้งแต่ความยากในการที่จะพรรณนาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความหมายของคำว่า พุทธคุณ และพุทธคุณ 9 ประการ

ก. ความยากในการพรรณนาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์ที่สุดของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายตลอดทั่วทั้งภพ 3 และการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นย่อมยังตลอดทั่วทั้งภพ 3 ให้สว่างไสว ดับความเร่าร้อนของกิเลส ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย มีหนทางพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร เสมือนบุคคลที่หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด เพื่อให้คนที่มีตาดีได้มองเห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกได้รับรู้รับทราบในพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีอย่างมากมายเกินกว่าที่บุคคลใดจะพรรณนาได้หมด เหมือนดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า

“    พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากมาย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพึงกล่าวคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากกล่าวคุณของกันและกันไปตลอดทั้งกัป กัปพึงสิ้นไปในระหว่างเป็นเวลาช้านาน พระคุณของพระตถาคตหาสิ้นไม่”1)

เนื่องจากคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เหนือจินตนาการและการคาดเดาด้วยปัญญาของมนุษย์ ซึ่งไม่อาจจะพรรณนาออกมาได้หมดสิ้น เหมือนน้ำในมหาสมุทร จะใช้ความพยายามอย่างไร ก็ไม่อาจทำให้น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้งไปได้ นอกจากพระดำรัสที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้แล้ว ยังมีพระอรหันตสาวก ผู้ที่มีปัญญามากที่สุดในบรรดาพระอรหันตสาวกทั้งหลาย คือพระสารีบุตร ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระสมณโคดมพุทธเจ้า ได้กล่าวพรรณนาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้อย่างมากมาย ดังใจความตอนหนึ่งว่า

“    พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านได้พรรณนาไว้นั้น เป็นสิ่งที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับพระคุณที่มีอยู่จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุปมาเหมือนบุรุษคนหนึ่งพึงเอาบ่วงเข็มตักเอาน้ำจากแม่น้ำใหญ่ชื่อจันทรภาคา ซึ่งกำลังไหลท่วมสถานที่ถึง 18 โยชน์ คือ ข้างนี้ 9 โยชน์ ข้างโน้นอีก 9 โยชน์ น้ำที่บุรุษมิได้ตักไปมีมากกว่าน้ำที่บุรุษเอาห่วงเข็มตักไป ก็หรือบุรุษพึงเอานิ้วมือจับเอาฝุ่นจากแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นที่เหลือนั้นแลมีมากกว่าฝุ่นที่บุรุษนั้นเอานิ้วมือจับได้มา ก็หรือบุรุษพึงชี้นิ้วไปยังมหาสมุทร น้ำที่เหลือนั้นแลมีมากกว่าน้ำตรงที่บุรุษชี้นิ้วไป และบุรุษพึงชี้นิ้วไปยังอากาศ ส่วนอากาศที่เหลือมีมากกว่าอากาศตรงที่บุรุษชี้นิ้วไป พระพุทธคุณทั้งหลายที่พระเถระไม่เห็นนั้นแล พึงทราบว่ามีมากกว่าพระพุทธคุณที่พระเถระได้เห็นแล้ว”2)

จากคำกล่าวของพระสารีบุตรนั้น แสดงให้เห็นว่า พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากมายสุดประมาณ เหมือนน้ำที่อยู่นอกรูเข็ม แต่ถ้อยคำที่ท่านได้กล่าวไว้นั้น เปรียบเสมือนน้ำที่ไหลเข้าไปในรูเข็ม ซึ่งมีปริมาณเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด ถ้าจะกล่าวพระพุทธคุณของพระองค์เพียงอย่างเดียวตลอดชีวิต ก็ไม่อาจที่จะพรรณนาไปได้หมดแค่เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่ถ้าบุคคลใดมีปัญญามาก ก็สามารถที่จะพรรณนาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มาก แต่ถ้าบุคคลใดมีปัญญาน้อย ก็จะสามารถพรรณนาพระคุณของพระพุทธองค์ได้น้อย

ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีคุณประโยชน์อย่างมากมายต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายบนโลกใบนี้ ซึ่งยากที่จะพรรณนาให้หมดไปได้อย่างง่ายดาย เมื่อเทียบกับพระคุณของพระพุทธองค์ที่ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อสร้างบารมีมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต เพื่อจะได้หลุดพ้นออกจากคุกใบนี้ ไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้ในที่สุด สิ่งเหล่านี้ทำให้พระพุทธองค์เป็นผู้ทรงคุณค่า เป็นที่เทิดทูนบูชาของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย ซึ่งพระคุณของพระพุทธองค์ที่ได้สั่งสมมานั้น เรียกว่า พระพุทธคุณ

 

ข. ความหมายของคำว่า พระพุทธคุณ

            คำว่า คุณ มีความหมาย 2 อย่าง หมายถึง ความดี ความงาม และหมายถึง คุณประโยชน์ เมื่อกล่าวถึงความดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็หมายถึง ความบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ที่ปราศจากกิเลสทั้งปวง เป็นความบริสุทธิ์ใจของพระพุทธองค์ที่เรียกว่า พระวิสุทธิคุณ นอกจากนี้ ความมีปัญญาที่ทรงมีความฉลาดรอบรู้ในธรรมทั้งปวง ก็เป็นความดีของพระพุทธองค์ เพราะเป็นปัญญาที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระพุทธองค์เอง โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาสอนที่เรียกว่า พระปัญญาธิคุณ ส่วนคุณประโยชน์ของพระพุทธองค์ หมายถึง ความมีเมตตากรุณาที่คิดช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ โดยการสั่งสอนให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิตแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและจะได้ไม่ทำบาปอกุศลให้เกิดขึ้นอีกต่อไป แล้วในไม่ช้าก็จะเป็นเหมือนอย่างพระพุทธองค์ คือ หมดกิเลสเข้าพระนิพพานในที่สุด ซึ่ง คุณประโยชน์นี้เรียกว่า พระกรุณาธิคุณ

ดังนั้น คำว่า พระพุทธคุณ จึงหมายถึง ความดีและคุณประโยชน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคุณงามความดีและคุณประโยชน์ทั้งสองอย่างนี้ เป็นคุณความดีของพระพุทธองค์เอง ไม่ใช่เป็นคุณความดีของคนอื่น และคุณความดีนั้นยิ่งใหญ่มาก จนทำให้ท้าวสักกเทวราชผู้ยิ่งใหญ่และเหล่าเทวาทั้งหลาย แม้แต่พรหมรวมทั้งมนุษยทั้งหลายก็ให้ความเคารพพระพุทธองค์ เพราะเหตุที่พระพุทธองค์ได้ทุ่มเทสร้างบารมีด้วยกำลังกายและกำลังใจ จนชาติสุดท้ายได้สละราชสมบัติออกบรรพชา แล้วก็ทรงทุ่มเททำความเพียรอย่างแรงกล้าจนหมดสิ้นอาสวกิเลสบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในที่สุด

 

ค. พุทธคุณ 9 ประการ

            คุณงามความดีและคุณประโยชน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่า พระพุทธคุณ ที่มนุษย์และเทวาทั้งหลายต่างกล่าวสรรเสริญ มีทั้งหมด 9 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 อรหํ แปลว่า ไกล หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสหรือพ้นจากกิเลส เพราะทรงกำจัดกิเลสทั้งหลายให้หมดไปจากใจได้ โดยไม่เหลือแม้กระทั่งเศษเสี้ยวของกิเลส ทำให้พระพุทธองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนกับแท่งทองชมพูนุท3) และมีใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวในอิฏฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์ที่มากระทบ คือ ไม่ทรงยินดีในสิ่งที่น่าปรารถนา และไม่ทรงยินร้ายในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาเปรียบเหมือนกับเสาเขื่อนที่มั่นคง ไม่คลอนแคลนหรือหวั่นไหวต่อพายุที่มาจากทิศทั้ง 4

เมื่อพระพุทธองค์ไม่เคยหวั่นไหวต่อสิ่งใด เพราะสามารถกำจัดกิเลสอาสวะได้จนหมดสิ้น ไม่เหลือแม้กระทั่งเศษเสี้ยว จึงมีนัยที่แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นผู้ควร หมายถึง เป็นผู้ที่เหล่ามนุษย์และเทวา ทั้งหลายสมควรแก่การเคารพ เทิดทูนบูชาอย่างยิ่ง และเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์เป็นผู้ไกลจากกิเลส เพราะพระพุทธองค์เป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหวจากกิเลสทั้งปวงที่จะมากระทบใจได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บุคคลใดมาพบเจอพระพุทธองค์ ก็รู้ว่าท่านผู้นี้คือ บุคคลที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ เทิดทูนบูชาไว้ในใจ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดที่แท้จริง

 

ประการที่ 2 สัมมาสัมพุทโธ มาจากคำ 3 คำ คือ คำว่า สัมมา คำว่า สัม และคำว่า พุทโธ คำว่า พุทโธ แปลว่า รู้ เข้าใจ4) หมายความว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ที่ทั้งรู้ทั้งเห็นอย่างถูกต้อง โดยอาศัยธรรมจักษุ ซึ่งสิ่งทั้งหลายที่พระองค์รู้เห็นนั้น ตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่คาดคะเนหรืออนุมานเอา เพราะพระพุทธองค์ เป็นผู้ที่มีดวงตาธรรม คือ ตาภายใน เห็นเหตุในทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง และการตรัสรู้ของพระพุทธองค์มีขั้นตอนเป็นไปตามลำดับ เมื่อเป็นเช่นนี้พระพุทธองค์จึงทรงมีความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงทุกประการ ซึ่งเป็นไปตามเนื้อความในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรตอนหนึ่งที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 แล้ว ก็ทำให้ธรรมะเหล่านี้เกิดขึ้นแก่เรา คือ จักขุ ญาณัง ปัญญา วิชชา อาโลโก5) ซึ่งคุณพิเศษทั้ง 5 อย่างนี้ จะเกิดขึ้นมาตามลำดับ อะไรที่เป็นความมืดมน หรือลี้ลับของโลกและชีวิต ก็ถูกเปิดเผยขึ้น พระองค์จึงเป็นเหมือนประทีปธรรมเอกของโลกและจักรวาล ที่นำความสว่างไสวมาสู่ใจของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

ดังนั้น เมื่อพระพุทธองค์ดำเนินทางสายกลางคือ มรรคมีองค์ 8 จนสามารถตรัสรู้ธรรม รู้เห็น เหตุเกิดของสรรพสิ่งตามความจริง จึงทำให้เข้าใจในสรรพสิ่งตามความเป็นจริงทุกอย่าง และทำให้กำจัดกิเลสอาสวะได้หมดสิ้น พร้อมกับทรงรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พร้อมทั้งเหตุทั้งผลอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ความรู้เช่นนี้จึงไม่มีบุคคลใดที่จะสามารถมาติเตียนพระพุทธองค์ได้ เพราะว่าการที่บุคคลใดจะทำอะไรหรือเรียนอะไรก็ตาม ย่อมต้องเห็นก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าไม่ได้เห็นแล้วก็ยากที่จะรู้และเข้าใจในสิ่งที่ตนเองทำหรือเรียนในสิ่งนั้น ความรู้ที่พระพุทธองค์รู้นั้น จึงสามารถแปลได้ว่า ทั้งรู้ทั้งเห็น ไม่ใช่รู้เพียงอย่างเดียว

คำว่า สัม มาจากคำว่า สัง แปลว่า ด้วยตนเอง6) เป็นคำนำหน้า พุทโธ จึงหมายความว่า พระพุทธ-องค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่ต้องให้บุคคลใดมาสอน หรือไม่ได้ไปคัดลอกเลียนแบบใคร เพราะพระพุทธองค์ทรงรู้เห็นด้วยตนเอง

คำว่า สัมมา แปลว่า โดยชอบ ถูกต้อง7) เป็นคำนำหน้า สัมพุทโธ จึงหมายความว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองในสิ่งที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น และในสิ่งที่ตรัสรู้ยังเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทุกประการ เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้น มีเหตุผลรองรับกันเสมอ ไม่ได้มีความคลาดเคลื่อนกัน เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงรู้เหตุและผล รู้ว่าอะไรเป็นเหตุและรู้ว่าอะไรเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำเหตุเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น คำว่า สัมมาสัมพุทโธ จึงมีความหมายว่า เป็นผู้ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เองโดยชอบหรือโดยถูกต้อง คือ เป็นผู้ที่ทั้งรู้ทั้งเห็นในธรรมทั้งหลาย และรู้อีกว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นผู้ที่ทั้งรู้ทั้งเห็นในเหตุและผลของธรรมทั้งหลายตรงตามความเป็นจริงด้วยพระองค์เอง โดยไม่ได้มีบุคคลใดมาสอนให้ ดังที่พระอัสสชิกล่าวกับพระสารีบุตรว่า ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้8)

 

ประการที่ 3 วิชชาจรณสัมปันโน มาจากคำ 2 คำ คือ วิชชาและจรณะ คำว่า วิชชา หมายเอาวิชชา 8 คือ วิปัสสนาญาณ ความเห็นแจ้ง เห็นวิเศษ หมายถึง พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งในสภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง เช่น เห็นขันธ์ 5 ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา และยังทำให้สรรพสัตว์ ทั้งหลายต้องติดอยู่ในวัฏสงสารและต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งการเห็นแจ้งนั้น ไม่ใช่จะมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ แต่พระพุทธองค์ทรงรู้เห็นได้ด้วยตาธรรม คือ ตาภายใน

มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ คือ จะนึกให้เป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามที่นึกได้

อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เนรมิตกายคนเดียวเป็นหลายคนได้

ทิพพโสต มีหูทิพย์ มีญาณพิเศษที่จะฟังอะไรก็ได้ยินตามที่ปรารถนา

เจโตปริยญาณ คือ รู้วาระจิตของผู้อื่น

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ความรู้ที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้ว่า ชาติไหน เกิดเป็นอะไร

ทิพพจักษุ คือ ตาทิพย์ พระองค์ทรงสามารถมองเห็นทุกสิ่งได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลอย่างไร และระลึกชาติหนหลังของสัตว์อื่นได้

อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำลายอาสวะให้หมดสิ้น คือ ทรงขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ไม่มีเหลือในขันธสันดานของพระองค์เลยแม้แต่นิดเดียว ดังที่ได้ตรัสกับสคารวมาณพว่า เมื่อจิตเราเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นไม่มีŽ

การที่พระพุทธองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา 8 ประการนี้ จึงทำให้พระองค์สามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป และยังสั่งสอนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้รู้เห็นจนสามารถกำจัดกิเลสไปได้หมดเหมือนอย่างกับพระองค์ วิชชา จึงเป็นความรู้ที่สามารถจะกำจัดความมืด คือ อวิชชา ให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร

คำว่า จรณะ หมายถึง ความประพฤติอันงดงาม มี 15 ประการ ได้แก่ ศีลสังวร คือ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ อินทรีย์สังวร คือ ความสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โภชเนมัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรที่ทำให้เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ อุปักโม ปัญญาและรูปฌาน 4 สิ่งเหล่านี้แสดงถึงว่า พระพุทธองค์ทรงมีศีลาจารวัตรที่งดงาม ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง 15 ประการมามากมายหลายภพหลายชาติ จึงทำให้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจรณะทั้ง 15 ประการ เป็นพื้นฐานที่ทำให้พระองค์มีความหนักแน่น มั่นคงอย่างต่อเนื่องในการสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามความปรารถนาที่ตั้งใจไว้

เพราะฉะนั้น คำว่า วิชชาจรณสัมปันโน จึงหมายความว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะพระองค์ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง 15 ประการมาหลายภพหลายชาติ จึงทำให้พระองค์มีวิชชาที่รู้ในสิ่งที่สามารถกำจัดความมืด คือ อวิชชา และบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ด้วยพระองค์เอง

 

ประการที่ 4 สุคโต แปลว่า ผู้เสด็จไปดีแล้ว เสด็จไปสู่ที่ดี เสด็จไปโดยชอบ ผู้ทรงละกิเลสด้วย อรหัตตมัคคญาณแล้วไม่ทรงกลับมาสู่กิเลสนั้นอีก เสด็จไปจากสงสารแล้วไม่กลับมาอีก หรือผู้เสด็จไปเพื่อยังประโยชน์ของตนและผู้อื่นให้สำเร็จด้วยดี9) หมายความว่า พระพุทธองค์ทรงประพฤติดีทั้งทางกาย วาจา ใจ อย่างสม่ำเสมอมาหลายภพหลายชาติ โดยดำเนินไปตามเส้นทางของศีล สมาธิและปัญญา จนสามารถกำจัดกิเลสที่อยู่ในใจได้อย่างหมดสิ้น แล้วบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้ และเมื่อดับขันธปรินิพพานก็ไปสู่ พระนิพพาน ซึ่งพระพุทธองค์ไม่ทรงกลับมาสู่กิเลสที่พระองค์ละได้แล้วอีก

นอกจากนี้ คำว่า สุคโต ยังแปลว่า ไปสู่ที่ไหนดีที่นั่น หมายความว่า ไปทำประโยชน์เกื้อกูลให้ ความสุขแก่ที่นั่น ดังเช่นเมื่อคราวที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปยังกรุงเวสาลี เพื่อขจัดทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้หมดไป ทำให้เมืองเวสาลีสะอาดหมดจดและชาวเมืองเวสาลีก็กลับมามีความสุขกันอีกครั้งหนึ่ง

เพราะเหตุที่พระพุทธองค์ทรงประพฤติดีทั้งทางกาย วาจา และใจมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ ชาติที่เกิดมาสร้างบารมี จึงทำให้พระพุทธองค์สามารถกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นและไปสู่พระนิพพาน โดยที่ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป นอกจากนี้ยังทำให้พระพุทธองค์ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ใด สรรพสัตว์ทั้งหลายก็จะเกิดความชุ่มเย็นด้วยบุญญาบารมีของพระองค์ที่สั่งสมมา และทำให้สถานที่นั้นสะอาดหมดจด มีแต่ความสุขความเจริญ มนุษย์และเทวดาทั้งหลายก็เข้าถึงธรรม มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด

 

ประการที่ 5 โลกวิทู แปลว่า ทรงรู้แจ้งโลก หมายความว่า ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในภพ 3 คือโลกทั้ง 3 มีสังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก

สังขารโลก คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ หรือที่เรียกว่า ขันธ์ 5 หมายถึง สังขารร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลายที่ประกอบด้วยกายกับใจ ซึ่งมีอาหาร10) เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สรรพสัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่ได้

สัตวโลก คือ เห็น จำ คิด รู้ หรือที่เรียกว่า ใจ หมายถึง สรรพสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในภพ 3 ยังมีจิตซัดส่ายไปในสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็น หรือได้สัมผัสทางรูป รส กลิ่น เสียงหรือวัตถุสิ่งของก็ตาม ก็ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดไปในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น

โอกาสโลก คือ สถานที่ที่รองรับซึ่งกันและกัน หรือที่เรียกว่า ภพ 3 หมายถึง สถานที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ทั้งหลาย และยังเป็นสถานที่สร้างกรรมดีและกรรมชั่ว นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่เสวยผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้กระทำไว้ครั้นเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้สภาพความเป็นไปของสัตวโลกทั้งหมด ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่อย่างไร จะตายจะเกิดได้อย่างไร จะคิดดีคิดชั่วอย่างไร และต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไร หรือแม้แต่ภพภูมิ จักรวาลที่อาศัยอยู่นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสรุปได้ว่า โลกทั้งโลกก็คือคุกขังสรรพสัตว์Ž ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงทำให้พระพุทธองค์ ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ชื่อว่าความลับไม่มีในโลกใบนี้สำหรับพระพุทธองค์ เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงชื่อว่า โลกวิทู หมายถึง ผู้รู้แจ้งซึ่งโลก เพราะเหตุที่พระพุทธองค์สั่งสมบารมีมาอย่างยาวนาน จนทำให้พระพุทธองค์เกิดปัญญาแทงตลอด สามารถรู้ในทุกสิ่งได้ ไม่มีอะไรจะมาปิดบังพระองค์ได้เลย จึงทำให้ความรู้แจ้งทุกอย่างในโลกก็เกิดขึ้นตามมาได้ในที่สุด

 

ประการที่ 6 อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบเหมือนสารถีผู้ฝึกสอนคนเป็นอย่างดี จะหาผู้อื่นเสมอเหมือนไม่ได้ โดยสอนให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะพระพุทธองค์ ทรงฝึกโดยไม่ต้องใช้อาชญา แต่พระองค์ทรงรู้จักอุบายในการสอนมากมายให้เหมาะกับบุคคลนั้นๆ ตามสมควรแก่บารมีของแต่ละคน ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ว่า พระพุทธองค์ทรงใช้อุบายสอนให้เหมาะสมกับอุปนิสัยของแต่ละคนที่ควรฝึกได้ เช่น การปลอบโยน การบังคับ การยกย่อง ทำให้บุคคลเหล่านั้นละมานะ-ทิฏฐิได้ เชื่อฟังในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนได้ จนสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด และผู้ที่พระองค์ฝึกให้แล้ว ก็จะได้ผลแห่งการฝึกตามสมควรแก่บารมีของแต่ละคนที่ได้สั่งสมมา

 

ประการที่ 7 สัตถา เทวมนุสสานัง หมายถึง ทรงเป็นพระบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะตั้งแต่แรกที่ทรงสร้างบารมี พระพุทธองค์ก็มีมหากรุณาธิคุณ ตั้งความปรารถนาที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ไปสู่พระนิพพาน พระองค์จึงไม่ได้เทศนาสอนเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ทรงเทศนาสอนให้กับเทวดา พรหม อรูปพรหมหมดทุกชั้น ตลอดจนถึงสัตว์เดรัจฉาน ตามแต่กำลังบุญของแต่ละท่านจะรับได้ ดังที่ปรากฏตามพุทธกิจ 5 ประการ11) คือ เวลาย่ำรุ่งพิจารณาเวไนยสัตว์ที่จะพึงโปรดว่าจะมีบุคคลใดบ้าง มีอินทรีย์แก่กล้า มีบุญบารมีพอที่จะได้บรรลุธรรม พระพุทธองค์ก็เสด็จไปโปรด เวลาเช้าบิณฑบาตโปรดสรรพสัตว์ให้ได้บุญบารมีเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป เวลาเย็นแสดงธรรมโปรดสาธุชนที่มาฟังธรรม เวลาพลบค่ำทรงให้โอวาทภิกษุแก้ไขปัญหาพาไปสู่จุดหมาย คือพระนิพพาน เวลาเที่ยงคืนแก้ปัญหาของเทวดาที่มาจากสวรรค์ชั้นต่างๆ ซึ่งพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดเทวดาให้ได้บรรลุธรรมกันเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ไม่เคยเบื่อหน่ายในการสอนเลย และยังทุ่มเทในการฝึกทั้งมนุษย์และเทวดา ทั้งหลายอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายทั้งในโลกนี้ โลกหน้าและการบรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่หัวใจแห่งความเป็นครูของพระองค์ทรงต้องการให้ทั้งมนุษย์และ เทวดาได้รับผลอย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจอย่างนี้ ทรงสั่งสอนทั้งมนุษย์และเทวดา ดังนั้น จึงได้พระนามว่า เป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

 

ประการที่ 8 พุทโธ หมายถึง ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว12) ผู้รู้ คือ ทรงรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่ง ทั้งปวง ทั้งรู้ทั้งเห็น นอกจากเห็นแล้วรู้แล้วยังกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปได้ เพราะพระพุทธองค์ทรงรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ว่า มีความทุกข์เป็นพื้นฐานของชีวิต ความทุกข์นั้นเกิดจากอะไร จะดับด้วยวิธีการใด ดับแล้วจะไปไหน เป็นอยู่อย่างไร ทรงรู้เห็นตลอดหมด และยังมีพระมหากรุณาธิคุณ นำความรู้ที่ได้รู้ได้เห็นมาแนะนำสั่งสอน ซึ่งเป็นความรู้อันบริสุทธิ์ ที่ออกมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ ผู้ที่รู้แล้วก็ทำให้บริสุทธิ์ตามพระองค์ไปด้วย มีความสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน

ผู้ตื่น คือ ตื่นแล้วจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย มนุษย์ส่วนใหญ่ยังหลับอยู่ คนหลับก็เหมือนคนที่ตายไปชั่วขณะ หลับใหลเพราะกิเลสเข้าไปบังคับบัญชา พระพุทธองค์ทรงพ้นจากการบังคับบัญชาของกิเลส ทรงรู้วิธีที่จะเอาชนะกิเลส จึงกำจัดกิเลสในตัวได้หมดสิ้น แล้วทรงสอนผู้อื่นให้รู้เรื่องการดับทุกข์อย่างแท้จริง ทั้งทำได้ด้วยสอนได้ด้วย ครูทำได้อย่างไร ก็สอนให้ลูกศิษย์ทำได้อย่างนั้น ไม่มีศาสดาใดในโลกเสมอเหมือนพระองค์

ผู้เบิกบาน คือ พระพุทธองค์ทรงมีพระทัยผ่องแผ้วสะอาดบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนดอกประทุมชาติที่เบ่งบานเต็มที่ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้รู้แจ้งธรรมะอันบริสุทธิ์ ตื่นแล้ว พ้นแล้วจากอาสวกิเลสทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้จึงทำให้พระองค์เบิกบาน เนื่องจากได้ทรงทำพุทธกิจที่ตั้งใจไว้สำเร็จแล้ว

 

ประการที่ 9 ภควา13) มีความหมาย 2 นัย

ความหมายแรก แปลว่า หัก หมายถึงพระพุทธองค์ทรงหักวัฏสงสารได้ กล่าวคือ อวิชชา ตัณหาและอุปาทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ไม่ให้ออกจากภพ 3 ได้ แต่เมื่อพระพุทธองค์ทรงหักได้แล้ว ก็สามารถที่จะออกจากภพ 3 ไปสู่พระนิพพานได้ในที่สุด

ความหมายที่ 2 แปลว่า แจก หมายถึง พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมทั้งหลายให้เห็นชัดเจน เข้าใจได้ง่าย และง่ายต่อการนำไปปฏิบัติที่เหมาะสมกับสติปัญญาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่พระองค์ทรงทำได้อย่างนี้เพราะเหตุที่ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเป็นสัพพัญญู รู้แจ้งธาตุธรรมทั้งปวง จึงทำให้สามารถจำแนกธรรมทั้งหลายได้อย่างชัดเจนเหมาะกับสติปัญญาของสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ได้รู้เห็นและรับปฏิบัติสืบๆ กันมา และทรงประกาศพรหมจรรย์ คือแบบแห่งการปฏิบัติอันประเสริฐ บริสุทธิ์บริบูรณ์ อันไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและในที่สุด

เมื่อได้ศึกษาจากพระพุทธคุณทั้ง 9 แล้ว จะเห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ อันยิ่งใหญ่ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ทรงยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ดำรงอยู่ในอริยภูมิอันประเสริฐ ทรงเป็นที่พึ่งอันเกษมอย่างสูงสุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทรงขับไล่อวิชชา คือความไม่รู้ ให้ออกไปจากขันธสันดานของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้รู้เรื่องราวความเป็นจริงของโลกและชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง คุณความดีและคุณประโยชน์เหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ได้รับการเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุดจากเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานมาได้ประมาณสองพันกว่าปีแล้ว แต่ถึงกระนั้น พระพุทธคุณอันไม่มีประมาณ ก็มิได้เลือนหายไปจากใจของพุทธบริษัททั้ง 4 เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ยังคงปรากฏอยู่ตราบถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังทำให้เราเข้าใจภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชัดเจนอีกว่า พระองค์ทรงเป็นใคร ทรงดำเนินชีวิตมาอย่างไร จึงทำให้พระองค์สมความปรารถนาที่ตั้งใจไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ศึกษาพระพุทธคุณ ทั้ง 9 ประการแล้ว ก็สามารถที่จะสรุปเนื้อหาของพระพุทธคุณมาเป็นความหมายของคำว่า “    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ได้อย่างถูกต้อง

-------------------------------------------------------------------

1) จังกีสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมนิกายบัณณาสก์, มก. เล่ม 21 หน้า 367.
2) สัมปสาทนียสูตร, ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค, มก. เล่ม 15 หน้า 214.
3) ประเทศไทย เรียกว่า ชมพูนุท แต่ในที่อื่นกล่าวไว้ว่า บ่อทองเกิดขึ้นในที่ระหว่างผลหว้าตกที่ฝั่งทั้งสองของแม่น้ำที่ไหลผ่านต้นหว้าใหญ่ เรียกว่า ชมพูนุท แปลว่า เกิดที่ฝั่งแม่น้ำต้นหว้า. (จากหนังสือ 45 พรรษาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เล่ม 2, พระสาสนโสภณ, หน้า 103.
4) พระมหาสมปอง มุทิโต, คัมภีร์อภิธานวรรณนา, กรุงเทพ : โรงพิมพ์ธรรมสภา, 2542, หน้า 13.
5) ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร, พระวินัยปิฎก มหาขันธกะ, มก. เล่ม 6 หน้า 46.
6) ป.หลงสมบุญ,พันตรี. พจนานุกรมมคร-ไทย, กรุงเทพฯ : อาทรการพิมพ์, หน้า 687.
7) พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538, หน้า 329.
8) เรื่องสัญชัย, ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 40 หน้า 126.
9) พระมหาสมปอง มุทิโต, คัมภีย์อภิธานวรรณนา, กรุงเทพ : โรงพิมพ์ธรรมสภา, 2542, หน้า 913.
10) อาหารแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ กวลิงการาหาร หมายถึง อาหารที่รับประทานเข้าไป, ผัสสาหาร คือ การสัมผัสหรือการกระทบ หมายถึง ถ้ามีอารมณ์มากระทบ ก็ทำให้รู้สึกเป็นสุข ถ้ามีอารมณ์ไม่ดีมากระทบ ก็ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ ถ้ากระทบกับอารมณ์ที่เป็นกลาง ก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย, มโนสัญเจตนาหาร คือ ความคิดความอ่านหรือเจตนาทางใจเป็นอาหารที่ทำให้เกิดความคิด การพูดและการกระทำ, วิญญาณาหาร คือ ความรู้แจ้งอารมณ์.
11) พรหมชาลสูตร, ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค, มก. เล่ม 11 หน้า 147.
12) พระวิสุทธาจารมหาเถระ, ธาตวตฺถสงฺคหปาฐนิสฺสย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535 ข้อ 259 หน้า 276.
13) หนังสือนักธรรมชั้นโท วิชาธรรมวิภาค หน้า 229 แปลความหมายว่า ทรงเป็นผู้มีโชค เมื่อพระองค์จะทรงทำการใดก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ.

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.06336331764857 Mins