เรื่องธรรมดาของพระโพธิสัตว์

วันที่ 10 กย. พ.ศ.2558

 

เรื่องธรรมดาของพระโพธิสัตว์

            ธรรมดาของพระโพธิสัตว์ คือ ความปกติของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ที่สร้างบารมี เพื่อเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทุกพระองค์จะต้องทำอย่างนี้ทั้งหมด ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเหล่าพระโพธิสัตว์ ทั้งหลายที่จะต้องทำอย่างนี้ มีทั้งหมด 16 ประการ คือ5)

1. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ลงสู่พระครรภ์พระมารดา

2. เมื่อพระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์พระมาดา จะมีแสงสว่างอันโอฬารปรากฏในโลก หมื่นโลกธาตุสะเทือนสะท้านหวั่นไหว

3. มีเทพบุตร 4 ตนมาอารักขาทั้งสี่ทิศ เพื่อป้องกันมนุษย์และอมนุษย์มิให้เบียดเบียนพระ โพธิสัตว์และพระมารดา

4. พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงตั้งอยู่ในศีล 5 โดยปกติ

5. พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่ทรงมีความรู้สึกทางกามในบุรุษทั้งหลาย และจะเป็นผู้อันบุรุษ ใดๆ ผู้มีจิตกำหนัดก้าวล่วงไม่ได้

6. พระมารดาของพระโพธิสัตว์มีลาภมาก บริบูรณ์ด้วยกามคุณ 5 (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ)

7. พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่มีโรค มองเห็นพระโพธิสัตว์ในพระครรภ์เหมือนเห็นเส้นด้ายในแก้วไพฑูรย์ (ตั้งแต่ข้อ 3 ถึง 7 หมายถึง ระหว่างทรงพระครรภ์)

8. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ 7 วันแล้ว พระมารดาย่อมสวรรคต เข้าสู่สวรรค์ชั้นดุสิต

9. สตรีอื่นบริหารครรภ์ 9 เดือนบ้าง 10 เดือนบ้างจึงคลอด ส่วนมารดาพระโพธิสัตว์บริหาร พระครรภ์ 10 เดือนพอดีจึงคลอด

10. สตรีอื่นนั่งหรือนอนคลอด ส่วนพระมารดายืนคลอด

11. เมื่อประสูติ เทวดารับก่อน มนุษย์รับภายหลัง

12. เมื่อประสูติจากพระครรภ์ ยังไม่ทันถึงพื้น เทพบุตร 4 ตนจะรับวางไว้เบื้องหน้าพระมารดาและบอกให้ทราบว่า พระโอรสที่เกิดมีศักดิ์ใหญ่

13. เมื่อประสูติ พระโพธิสัตว์เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินครรถ์

14. เมื่อประสูติ จะมีธารน้ำร้อนน้ำเย็นตกลงมาสนานพระวรกายของพระโพธิสัตว์และพระมารดา

15. ทันทีที่ประสูติ พระโพธิสัตว์จะผินพระพักตร์ทางทิศเหนือ ดำเนินด้วยพระบาท 7 ก้าว เปล่งพระวาจาประกาศว่า “    เราเป็นเลิศในโลก และชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

16. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติ จะมีแสงสว่างอันโอฬารปรากฏในโลก และหมื่นโลกธาตุสะเทือนสะท้าน

 

           นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องปกติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะต้องกระทำอย่างนี้ จะว่าไปแล้วก็คือธรรมชาติของพระโพธิสัตว์ผู้เป็นเลิศที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องกระทำสิ่งเหล่านี้ เสมือนเป็นแบบแผนปฏิบัติที่จะต้องกระทำตลอดพระชนมายุของทุกพระองค์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 30 ประการ6) คือ

1. พระโพธิสัตว์ผู้มีภพสุดท้าย มีสัมปชัญญะรู้ตัว ลงสู่พระครรภ์ของพระชนนี

2. พระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิในพระครรภ์ของพระชนนี หันพระพักตร์ออกไปภายนอก

3. พระชนนีของพระโพธิสัตว์ยืนประสูติ

4. พระโพธิสัตว์ออกจากพระครรภ์พระชนนีในป่าเท่านั้น

5. พระโพธิสัตว์วางพระบาทลงบนแผ่นทอง หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาท 7 ก้าว เสด็จไปตรวจดู 4 ทิศแล้วเปล่งสีหนาท

6. พระมหาสัตว์ พอพระโอรสสมภพ ก็ทรงเห็นนิมิต 4 แล้วออกมหาภิเนษกรมณ์

7. พระมหาสัตว์ ทรงถือผ้าธงชัยแห่งพระอรหันต์ ทรงผนวช ทรงบำเพ็ญเพียรกำหนดอย่างต่ำที่สุด 7 วัน

8. เสวยข้าวมธุปายาส ในวันที่ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ

9. ประทับนั่งเหนือสันถัตหญ้าบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ

10. ทรงบริกรรมอานาปานสติกัมมัฏฐาน

11. ทรงกำจัดกองกำลังของมาร

12. ณ โพธิบัลลังก์นั่นเอง ทรงได้คุณมีอสาธารณญาณ ตั้งแต่วิชชา 3 เป็นต้นไป

13. ทรงยับยั้งใกล้โพธิพฤกษ์ 7 สัปดาห์

14. ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาเพื่อให้ทรงแสดงธรรม

15. ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

16. ในวันมาฆบูรณมี ทรงยกปาฏิโมกข์ขึ้นแสดงในที่ประชุมสาวกประกอบด้วยองค์ 4

17. ประทับอยู่ประจำ ณ ที่พระวิหารเชตวัน

18. ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี

19. ทรงแสดงพระอภิธรรม ณ ภพดาวดึงส์

20. เสด็จลงจากเทวโลก ใกล้ประตูสังกัสสนคร

21. ทรงเข้าผลสมาบัติต่อเนื่องกัน

22. ทรงตรวจดูเวไนยชน 2 วาระ

23. เมื่อเรื่องเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบท

24. เมื่อเหตุต้นเรื่องเกิดขึ้น จึงตรัสชาดก

25. ตรัสพุทธวงศ์ในสมาคมพระประยูรญาติ

26. ทรงทำปฏิสันถารกับภิกษุอาคันตุกะ

27. พวกภิกษุจำพรรษาแล้วถูกนิมนต์ ไม่ทูลบอกลาก่อน ไปไม่ได้

28. ทรงทำกิจก่อนและหลังเสวย ยามต้น ยามกลางและยามสุดท้ายทุกๆ วัน

29. เสวยรสมังสะในวันปรินิพพาน

30. ทรงเข้าสมาบัติยี่สิบสี่แสนโกฏิสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน

            สิ่งเหล่านี้ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเสมือนแบบแผนหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ที่ยังสร้างบารมีอยู่ หรือในภพชาติสุดท้ายที่บารมีเต็มเปี่ยมแล้ว พร้อมที่จะมาตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็จะทรงปฏิบัติอย่างนี้เช่นกัน ไม่มีพระองค์ใดเลยที่จะปฏิบัตินอกจากนี้ไปได้ ฉะนั้นจึงได้กล่าวว่า เสมือนเป็นแบบแผนที่ทรงปฏิบัติสืบๆ กันต่อมา

-------------------------------------------------------------------

5) มหาปทานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่ม 13 หน้า 12.
6) เรื่องธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ขุททกนิกาย พุทธวงศ์, มก. เล่ม 73 หน้า 748.

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.05314093430837 Mins