น้ำใจของพระโพธิสัตว์

วันที่ 10 กย. พ.ศ.2558

 

น้ำใจของพระโพธิสัตว์

            พระโพธิสัตว์เป็นบุคคลผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่มหาศาลเกินเปรียบ เพราะพระองค์ทรงมีสติปัญญามากที่ได้มองเห็นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ที่เป็นเสมือนคุกใบใหญ่ที่กักขังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติ จึงทำให้มีความคิดที่จะทำลายวัฏสงสารนี้ออกไปให้ได้ จะออกไปให้พ้นจากทะเลทุกข์แห่งนี้ และถ้าวันใดที่ออกไปจากวัฏสงสารนี้แล้ว ก็จะไม่ไปเพียงคนเดียว แต่จะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ร่วมทุกข์ในวัฏสงสารนี้ออกไปด้วย เพราะว่าในขณะนั้นตัวเองก็ยังไม่รู้หนทางที่จะออกจากทุกข์ว่าเป็นเช่นใด รู้เพียงแต่ว่า วันใดวันหนึ่งจะต้องออกไปให้ได้ โดยมีอุปมาที่เปรียบเทียบมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ไว้ดังนี้

 

อุปมาที่ 1 หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดประมาณนี้ เป็นป่าไผ่อันแน่นหนาเต็มไปด้วยเรียวหนามอันแหลมคมวัดได้ไกลถึงหนึ่งล้านสองแสนสามหมื่นสี่ร้อยห้าสิบโยชน์ ท่านก็จะเดินลุยไปด้วยเท้าเปล่า จะเหยียบย่ำบุกฝ่าขวากหนามไปจนสุดปลายทาง

อุปมาที่ 2 หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดประมาณนี้ มีถ่านเพลิงร้อนระอุเต็มไปหมด ท่านก็จะเดินลุยไปด้วยเท้าเปล่า ไปจนสุดหมื่นจักรวาล

อุปมาที่ 3 หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดประมาณนี้ เต็มไปด้วยภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟโพลงอยู่ตลอดเวลา และพื้นดินระหว่างซอกภูเขาเหล่านั้น เต็มไปด้วยน้ำทองแดงอันเดือด พลุ่ง ร้อน ละลายอยู่เต็มไปทั่ว ท่านก็จะแหวกว่ายน้ำทองแดงอันร้อนแรงนั้นไปด้วยกำลังแขนของตน จนสุดหมื่นจักรวาล

 

           ด้วยมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว ที่ทำให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีมหากรุณาอันหาที่เปรียบมิได้ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ปรารถนาจะให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้พ้นทุกข์ เพราะผู้ที่ประพฤติผิดพลาดทำอกุศลกรรม ก็ทำให้พลัดไปเกิดในอบาย พระองค์ปรารถนาที่จะช่วยให้สรรพสัตว์เหล่านั้นได้พ้นจากทุกข์ อีกทั้งอยากให้ ผู้ที่กำลังเสวยผลบุญในเทวโลกและพรหมโลกทั้งหมด ได้พบความสุขอันเป็นอมตะ คือ พระนิพพานด้วย จะได้ไม่เสียเวลาวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอันยาวไกล ด้วยมหากรุณาอันหาไม่มีประมาณเช่นนี้ ทำให้พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมีด้วยความทุ่มเท เด็ดเดี่ยว ด้วยความเพียรพยายามและความอดทนอันยิ่งยวด จะต้องไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เจอในระหว่างแห่งหนทางการสร้างบารมี ไม่ว่าจะเกิดในกำเนิดใดก็ตาม เมื่อได้เกิดมาแล้วก็ได้สร้างบารมี ฝึกฝนตนเองอย่างยิ่งยวด โดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่หวาดหวั่นแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตเพื่อการได้มาซึ่งบารมีที่จะทำให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระองค์จะรักบุตรภรรยาหรือมารดาบิดา แต่ท่านรักพระสัมมาสัมโพธิญาณมากกว่า ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

 

“    ไม่ใช่ว่า ลูกทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเราก็หามิได้ มัทรีเทวีไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้ พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้บุตร ธิดาและเทวีผู้เป็นที่รักของเรา”2)

 

            ที่ตรัสเช่นนี้ เพราะตระหนักดีว่า หากภพชาติใดที่ท่านได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ย่อมสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับหมู่ญาติทั้งหลาย รวมทั้งสั่งสอนมนุษย์และเทวดาให้พบกับพระธรรมอันประเสริฐได้

การที่พระโพธิสัตว์มีน้ำพระทัยอันเต็มเปี่ยมกว้างขวาง มีมหากรุณาอันหาที่เปรียบมิได้นี้ ทำให้พระองค์มีคุณสมบัติที่พิเศษ 10 ประการ เป็นคุณสมบัติของเอกบุรุษที่ไม่มีบุคคลใดเสมอเหมือนได้ คุณสมบัติ 10 ประการของพระโพธิสัตว์ คือ3)

1. อะเคธะตา ความไม่ติดอยู่ในของรักของชอบของคนอื่น เป็นผู้ที่มีใจติดในการสร้างบารมีเพื่อมุ่งไปสู่อายตนนิพพานเพียงอย่างเดียว

2. นิราละยะตา ความไม่อาลัยเกี่ยวข้องในสิ่งของภายนอก เป็นผู้ยินดีที่จะมุ่งสู่ความบริสุทธิ์ หลุดพ้น

3. จาโค ความสละ คือ เป็นผู้ที่ยินดีในการให้มากกว่าการเป็นผู้รับจากคนอื่น พระองค์เป็นยอดนักเสียสละ นักสังคมสงเคราะห์ที่แท้จริง

4. ปะหานัง ความปล่อย คือ เป็นผู้ที่มีสามารถปล่อยวางได้ง่าย ไม่ผูกโกรธ ไม่ถือสาเอาความ ไม่เอาเรื่องใคร มีแต่จะเอาบุญอย่างเดียว

5. อะปุนะราวัตตินา ความไม่หวนคิดกลับกลอก คือ เป็นคนจริง ไม่มีความคิดกลับกลอก คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น

6. สุขุมัตตา ความละเอียด คือ เป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทเลินล่อ จนเสียการเสียงาน พระองค์จะทำงานทุกอย่าง ไม่ว่างานนั้นจะเป็นของพระองค์เองหรือทำให้คนอื่น จะทำอย่างพิถีพิถัน ไม่มีความลำเอียงในใจ

7. มะหันตัตตา ความเป็นของใหญ่ คือ เป็นผู้ที่มีความคิดใหญ่ ใจกว้าง เสมือนท้องมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล

8. ทุรานุโพธัตตา ความเป็นของรู้ตามได้ยาก คือ เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปรู้ตามได้ยาก เพราะพระองค์มีความคิดเหนือวิสัยของปุถุชนทั่วไป คือ มีจิตใจสูงส่ง คิดจะช่วยเหลือคนอื่นให้หลุดพ้นจากทุกข์ ส่วนคนทั่วไปคิดเพียงว่า ทำอย่างไรตัวเองจึงจะจะได้ประโยชน์มากที่สุด

9. ทุลละภัตตา ความเป็นของได้ยาก คือ เป็นผู้ทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก สามารถทำของยากให้ง่าย ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก เพราะเรื่องใหญ่มีเพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องขจัดกิเลส อาสวะให้หมดสิ้น และช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้

10. อะสะทิสะตา ความเป็นของไม่มีใครเสมอ คือ เป็นผู้ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้นำในการสร้างบารมี มีความคิด คำพูดและการกระทำที่ประเสริฐเหนือกว่าคนอื่น มักแสดงออกในลักษณะของความเป็นผู้นำตลอดเวลา ไม่ว่าพระองค์จะถือกำเนิดเป็นอะไร จะมีลักษณะของความเป็นผู้นำมาโดยตลอด จนได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ

 

            คุณสมบัติทั้ง 10 ประการ เป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีน้ำใจกว้างขวาง มีมหากรุณาใหญ่ เฉกเช่นพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต นอกจากจะทำให้ตนเองมีความสุขสบายแล้ว ยังมีน้ำใจอยากช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับความสุขสบายอย่างที่ตนเองได้รับมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้สั่งสมมาอย่างยาวนาน จนเป็นนิสัยที่ปรารถนาจะช่วยเหลือคนอื่น ไม่ว่าในชาติที่ถือกำเนิดเป็นอะไรก็ตาม ความมีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นก็ยังคงมีอยู่เสมอ ไม่มีเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นในชาติที่เกิดเป็นวานรโพธิสัตว์4) ถึงแม้จะเอาชีวิตแลกกับการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ก็ยอมตาย ฉะนั้นจึงทำให้พระองค์มีเมตตาจิตแก่ทุกคน อยากที่จะให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากวัฏสงสารไปด้วย

 

-------------------------------------------------------------------

2) เวสสันดรชาดก, ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 64 หน้า 765.
3) มิลินทปัญหา, หน้า 343.
4) มหากปิชาดก, ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 59 หน้า 332.

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0067129651705424 Mins