ประเภทของพระโพธิสัตว์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ เมื่อครั้งที่ยังคงสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ได้คิดที่จะออกจากวัฏสงสารนี้ไปและจะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายออกไปด้วย จึงคิดสร้างบารมี แต่ด้วยการสร้างบารมีที่ใช้เวลายาวนานหลายกัปหลายอสงไขย ซึ่งไม่แน่ว่าบุคคลที่ตั้งความปรารถนาเช่นนี้จะมีกำลังใจและความอดทนในการสร้างบารมีจนกว่าจะสำเร็จได้หรือไม่ เนื่องจากเส้นทางในการสร้างบารมีเพื่อจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก มีอุปสรรคนานัปการ จะต้องใช้ความตั้งใจ อย่างแรงกล้า กับความเพียรพยายามและอดทนอย่างสูงสุด อย่างเช่น พระโพธิสัตว์บางองค์ที่ตอนแรกก็ได้ตั้งความปรารถนาอยากจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ภายหลังกลับถอนใจ คิดเลิกสร้างบารมีเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กลับมาตั้งความปรารถนาเป็นพระอรหันตสาวก แล้วสร้างบารมีเพื่อการเป็นอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เช่น พระมหากัจจายนะ พราหมณ์พาวรี เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ เส้นทางการสร้างบารมีจึงเป็นเหมือนการทดสอบ บุคคลที่ตั้งความปรารถนาเป็นที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าจะมีความเพียรพยายามและด้วยความอดทนอย่างสุดกำลังแบบเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณมากน้อยเพียงใด ซึ่งถ้าบุคคลที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า แล้วมุ่งมั่นตั้งใจด้วยความเพียรพยายามและด้วยความอดทน จนสามารถสร้างบารมีได้ครบถ้วนทุกประการ ก็จะได้รับการยืนยันหรือที่เรียกว่า ได้รับพุทธพยากรณ์ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตว่าจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมดังใจปรารถนา แต่ถ้าบุคคลที่ตั้งความปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ความตั้งใจที่ประกอบด้วยความเพียรพยายามและความอดทนยังไม่ถึงที่สุด ก็ยังต้องฝึกฝนตนเองให้มีความตั้งใจมุ่งมั่นมากกว่าเดิม และถ้ายังไม่ได้รับการยืนยันจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง บุคคลนั้นก็ยังไม่แน่นอนว่าจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต จึงต้องสร้างบารมีอย่างต่อเนื่องต่อไปจนกว่าจะสำเร็จผล ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์เมื่อครั้งที่ยังคงสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ จึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.อนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อน จึงยังไม่แน่ว่าจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเพียงแต่ตั้งใจจะสร้างบารมีเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ถึงแม้จะมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวปรารถนามาเป็นเวลาช้านานหลายอสงไขยแล้วก็ตาม
2.นิยตโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนแล้วย่อมเที่ยงแท้แน่นอนว่าได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บุคคลผู้มีความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สั่งสมบารมีมาอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแรงกล้า จึงได้เนมิตตกนามว่า พระโพธิสัตว์ แต่ยังมีความไม่แน่นอน บางชาติอาจพลาดพลั้งไปทำอกุศลกรรม ต้องไปรับผลกรรมในอบายภูมิ เสียเวลาในการสร้างบารมี แต่เมื่อมีสติปัญญานึกได้ก็เริ่มสร้างบารมีใหม่ กลับไปลองผิดลองถูกอยู่เป็นเวลานาน จึงทำให้พระโพธิสัตว์ประเภทนี้เรียกว่า อนิยตโพธิสัตว์ เพราะยังไม่มีความแน่นอนที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตหรือไม่ ยังคงต้องสร้างบารมี ฝึกฝนตนเองต่อไป
ส่วนพระโพธิสัตว์ประเภท นิยตโพธิสัตว์ จะมีใจที่มั่นคงตรงต่อการสร้างบารมี เนื่องจากได้รับ พุทธพยากรณ์แล้ว จึงมีความตั้งใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคทั้งปวง และยังทำให้มีความเพียรพยายามและความอดทนอย่างมากกว่าประเภทแรก เพราะการได้รับพุทธพยากรณ์เสมือนการได้รับกำลังใจจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตอย่างแน่นอน
การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ จึงต้องสร้างบารมีอย่างสุดกำลัง โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน อย่างที่ไม่มีสรรพสัตว์เหล่าใดจะเสมอเหมือน และไม่ว่าพระโพธิสัตว์จะถือกำเนิดใดก็ตาม พระองค์ก็ไม่เคยที่จะทิ้งการสร้างบารมีแม้สักชาติเดียว ยังคงมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างบารมีอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การเกิดของพระโพธิสัตว์ไม่สูญเปล่า มีจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิตที่มั่นคงว่า วันหนึ่งยังมีโอกาสจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต ส่วนสรรพสัตว์ที่ไม่รู้เลยว่าชีวิตควรทำอะไร ก็จะมีชีวิตอย่างยากลำบาก เกิดแล้วตายไปอย่างสูญเปล่า หรือเรียกว่า เกิดมาฟรีและตายฟรี ทำให้การเกิดมานับจำนวนชาติในการเวียนว่ายตายเกิดได้มากมายนับประมาณชาติไม่ได้ยิ่งกว่าพระโพธิสัตว์เสียอีก และกว่าจะมีบุญพอได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสทำตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นการยากมาก กว่าจะรู้ว่า เราเกิดมาสร้างบารมี ก็ต้องหมดเวลาไปมากมายทีเดียว ฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นเสมือนผู้หาทางออกจากที่คุมขัง คือ วัฏสงสาร จนพ้นออกไปได้ และยังได้มีน้ำใจเปิดกรงขังให้สรรพสัตว์ทั้งหลายภายในกรงได้มีโอกาสออกจากที่คุมขังได้ด้วยเช่นกัน
-------------------------------------------------------------------
GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต