ประวัติศาสตร์เมืองกุสินารา

วันที่ 14 กย. พ.ศ.2558

 

 ประวัติศาสตร์เมืองกุสินารา

หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานโอวาท เพื่อให้พระอานนท์หายจากความเศร้าโศกแล้ว พระ-อานนท์ได้กราบทูลให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปปรินิพพานที่เมืองอื่น เช่น เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เป็นต้น เพราะเป็นเมืองใหญ่ที่มีขัตติยมหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล เป็นต้น คนเหล่านี้ยังมีความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธองค์อยู่มาก และยังดูสมพระเกียรติของพระองค์อีกด้วย ไม่ควรเสด็จปรินิพพานใน เมืองนี้ เพราะเป็นเมืองเล็กน้อย เป็นเมืองรอง เป็นเมืองสาขาอย่างกุสินารานี้

 

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสดับอย่างนั้น จึงตรัสห้ามไม่ให้พระอานนท์กล่าวอย่างนั้น ในอดีตเมืองกุสินารานี้ เป็นเมืองใหญ่ มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ ผู้ทรงธรรมเป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร 4 เป็นขอบเขต สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ เป็นกษัตริย์ปกครองมีชื่อว่า กุสาวดีราชธานี อาณาเขตยาว 12 โยชน์ กว้าง 7 โยชน์ เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มีธัญญาผลาผลบริบูรณ์ทุกสิ่งสรรพอาหารมีมากมาย กระจัดกระจายโกลาหลไปด้วยสรรพเสียงสำเนียงต่างๆ 10 ประการ10) ทั้งกลางวันและกลางคืน

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสถึงเมืองกุสินาราแล้ว ก็รับสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวแก่มัลลกษัตริย์ หลังจากที่พวกมัลลกษัตริย์ทราบข่าวแล้ว ก็เศร้าโศกรำพึงรำพันกันไปต่างๆ แล้วพร้อมกันมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สาลวโนทยาน พระอานนท์ก็ได้จัดให้เข้าเฝ้า เป็นสกุล เป็นคณะตามลำดับเสร็จภายในเวลาปฐมยามนั้น

นี้จัดเป็นความสามารถของพระอานนท์ที่แสดงถึงความฉลาดรอบรู้ รู้จักกาลเทศะของพระอานนท์ สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญเอาไว้ เพราะมัลลกษัตริย์มีหลายพระองค์ด้วยกัน หากจัดให้เพียงพระองค์เดียวเข้าเฝ้ากันแล้ว ก็จะทำให้ใช้เวลาในการเข้าเฝ้านานเสียเวลาไปเปล่าประโยชน์ และยังเป็นการรบกวนเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ทรงพักผ่อนจากการประชวรอีกด้วย

 

ก่อนที่จะได้ผ่านไปยังเหตุการณ์ต่อไป จะได้ชี้แจงในสาเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินารา ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่สงสัยกันอย่างมาก ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชวรอย่างหนักขนาดนั้น ทำไมจึงต้องเดินทางมาไกล เพื่อมาปรินิพพานที่เมืองนี้ ทั้งที่เมืองอื่นมีอยู่มากมายหลากหลาย และยังอยู่ใกล้กว่าเมืองกุสินาราอีกด้วย จึงเป็นประเด็นที่จะได้ชี้แจง เพื่อความกระจ่างชัดให้ยิ่งขึ้นไป โดยสาเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาปรินิพพานที่เมืองกุสินารานี้ มีอยู่ 3 ประการ11) คือ

1. พระพุทธองค์ จะได้แสดงมหาสุทัสสนสูตร ที่แสดงถึงพระเจ้าจักรพรรดิสุทัสสนะ ผู้ปกครอง กุสาวดีราชธานี อันเป็นเมืองกุสินาราในอดีต เมื่อมหาชนฟังแล้วก็จะเกิดกุศล แล้วทำตามที่พระพุทธองค์ตรัส ซึ่งถ้าพระพุทธองค์เสด็จไปปรินิพพานในเมืองอื่นก็จะไม่ได้ทรงแสดงพระสูตรนี้

2. พระพุทธองค์ทรงหวังจะได้โปรดสุภัททปริพาชก ซึ่งเป็นพุทธเวไนย คือ เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่โปรดได้ สาวกอื่นโปรดไม่ได้ สุภัททปริพาชกนี้จะเข้ามาสู่สำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถามปัญหา แล้วขอบรรพชาอุปสมบท แล้วเรียนกรรมฐานจากพระตถาคต แล้วจะได้บรรลุพระอรหันต์ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ เป็นปัจฉิมสาวกโดยแท้ ดังบุญที่ตนเองได้ทำไว้ในอดีต โดยในอดีต ได้คิดทำบุญช้ากว่าพี่ชาย รอให้ทำนาเสร็จเสียก่อนจึงค่อยถวายทาน แต่พี่ชายคิดทำบุญก่อน แม้น้องชายจะห้ามและไม่ยอมทำด้วยก็ตาม แต่ตนเองก็ได้ทำตามที่ปรารถนาไว้ โดยพี่ชายในชาตินั้น ได้มาเกิดเป็นพระโกณฑัญญะ และด้วยบุญที่คิดทำก่อน จึงทำให้เป็นสาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา ส่วนน้องชายในชาตินั้น ได้มาเกิดเป็นสุภัททปริพาชก และด้วยบุญที่คิดทำทีหลัง จึงทำให้เป็นสาวกองค์สุดท้าย ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนมชีพอยู่12)

3. การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลือกที่จะเสด็จปรินิพพานที่เมืองเล็กๆ อย่างกุสินารานี้ ก็เป็นผลดีต่อบ้านเมืองที่จะทำให้ไม่เกิดสงครามระหว่างเมืองขึ้น เพื่อแย่งพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีโทณพราหมณ์เป็นผู้ระงับการวิวาท แล้วแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานที่เมืองใหญ่ๆ ก็คงเกิดสงครามระหว่างเมืองแน่นอน เพราะด้วยความที่ตนเป็นเมืองใหญ่ ก็คงจะใช้อำนาจในการที่จะเก็บพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองของตน

-------------------------------------------------------------------

10) เสียงทั้ง 10 ประการ ได้แก่เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงกังกดาล เสียงขับร้อง เสียงประโคม และเสียงผู้คนร้องเรียกค้าขายกัน
11) อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่ม 13 หน้า 416.
12) อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่ม 13 หน้า 434.

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.009162433942159 Mins