ประกาศศาสนา ณ อุรุเวลาเสนานิคม
ระหว่างทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จสู่อุรุเวลาเสนานิคม ทรงหยุดพักที่ต้นไม้ใหญ่ ภัททวัคคีย์ 30 คน ได้มากราบทูลถามพระองค์ว่า “ เห็นหญิงโสเภณี ผ่านมาทางนี้ไหม”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสถามภัททวัคคีย์ทั้ง 30 คนว่า “ พวกเธอต้องการจะแสวงหาหญิงขโมย หรือแสวงหาตนเองดี”
ภัททวัคคีย์ตอบพร้อมกันว่า
“ ข้าพระองค์แสวงหาตนเองดีกว่าพระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาและ อริยสัจ 4 จนบรรลุธรรม ขั้นต้น และพระองค์ทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา และได้แสดงธรรมสั่งสอนต่อ จนกระทั่ง ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง 30 คน และในครั้งนี้มีพระอรหันต์บังเกิดขึ้น 90 พระองค์
หลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จดำเนินมาจนถึงอุรุเวลาเสนานิคม ได้เข้าไปโปรดชฎิล 3 พี่น้อง คือ ชฎิลผู้เป็นพี่คนโต ชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร 500 คน ชฎิลคนรอง ชื่อว่า นทีกัสสปะ มีบริวาร 300 คน ชฎิลคนเล็ก ชื่อว่า คยากัสสปะ มีบริวาร 200 คน ถือลัทธิบูชาไฟ พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ถึง 16 ครั้ง กว่าที่จะทำให้ชฎิลทั้ง 3 พี่น้อง พร้อมด้วยบริวาร 1000 คนให้เลื่อมใสในคำสอนและขอออกบวชด้วย เอหิภิกขุอุปสัมปทา จากนั้นทรงแสดง “ อาทิตตปริยายสูตร”10) ซึ่งเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงอายตนะภายใน 6 อายตนะภายนอก 6 ว่าเป็นของร้อน เพื่อให้เหมาะกับอัธยาศัยของชฎิล 3 พี่น้อง เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว ชฎิล 3 พี่น้องและบริวารก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
เมื่อพระพุทธเจ้าได้โปรดชฎิลทั้ง 3 พี่น้องแล้ว ก็ได้เสด็จไปเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยชฎิลทั้ง 3 พี่น้อง และบริวาร เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสารและเหล่าพราหมณ์คหบดี ชาวเมืองมคธ ซึ่งต่าง ก็มีความสงสัยว่า ระหว่างอุรุเวลกัสสปะกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใครเป็นอาจารย์ของใครกันแน่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์คหบดีเหล่านั้น ด้วยพระประสงค์จะโปรดให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องจึงได้ตรัส ถาม อุรุเวลกัสสปะว่า
“ ดูก่อน ท่านอุรุเวลกัสสปะ ท่านเคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฎิล ท่านเห็นอย่างไรจึงได้ละการบูชาไฟ”
พระอุรุเวลกัสสปได้กล่าวตอบไปว่า
“ ยัญทั้งหลายกล่าวยกย่อง รูป เสียง กลิ่น และรสที่น่าปรารถนา และสตรีทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าได้รู้ว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นมลทินในอุปธิทั้งหลายแล้ว เพราะเหตุนี้ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงในการบูชา”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามอีกว่า
“ ดูก่อนกัสสปะ ใจของท่านไม่ยินดีแล้วในอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น และรสเหล่านั้น ดูก่อนกัสสปะ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจของท่านยินดีในสิ่งไรเล่า ท่านยินดีในเทวโลกหรือมนุษยโลก”
พระอุรุเวลกัสสปตอบว่า
“ ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นทางอันสงบ ไม่มีอุปธิ ไม่มีกังวล ไม่ติดอยู่ในกามภพ ไม่มีภาวะเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ธรรมที่ผู้อื่นแนะให้บรรลุ เพราะฉะนั้นจึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงในการบูชาและในทันใดนั้นเอง”
พระอุรุเวลกัสสปลุกจากอาสนะ ซบเศียรลงที่พระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นศาสดา ของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้พระเจ้าพิมพิสารและคหบดีทราบว่า บัดนี้ผู้เป็นอาจารย์ของตนได้ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ พระพุทธองค์จึงเริ่มแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ 4 ทำให้พระเจ้าพิมพิสาร และบริวารจำนวน 11 นหุต มีดวงตาเห็นธรรม ส่วนบริวารอีก 1 นหุตนั้น ตั้งมั่นอยู่ในไตรสรณคมน์ หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารและบริวารเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้บำรุงพระพุทธองค์และ พระสาวกด้วยการถวายมหาทานครั้งยิ่งใหญ่เลี้ยงพระจำนวนหนึ่งพันรูป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน และด้วยความปรารถนาที่จะให้พระพุทธศาสนาไปสู่ใจของมหาชน นอกจากนี้ยังเป็นห่วงถึงที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าพิมพิสารจึงได้ถวายป่าไผ่เวฬุวันให้เป็นอาราม ซึ่งถือว่าเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา
การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จมายังอุรุเวลาเสนานิคมนี้ ก็ด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ เพื่อจะทรงเปลื้องปฏิญญา ที่ได้ทรงให้ไว้กับพระเจ้าพิมพิสารตั้งแต่เมื่อครั้งที่เสด็จออกทรงผนวช11) และเพื่อจะปดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรในเมืองราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ทั้งยังเป็นที่รวมอยู่ของนักบวชเจ้าลัทธิ มากมายในยุคนั้น แต่การที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรอยู่ในราชคฤห์ซึ่งมีศาสนาอื่นอยู่ก่อน นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประชาชนในเมืองล้วนนับถือเจ้าลัทธิต่างๆ กันมาก ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเทศนา สั่งสอนพวกเจ้าลัทธิเหล่านั้นให้เกิดความเลื่อมใสพระพุทธองค์ก่อน โดยเฉพาะอุรุเวลกัสสปะซึ่งถือว่า เป็นอาจารย์ใหญ่ที่สุด แม้กระทั่งพระเจ้าพิมพิสารยังให้ความเคารพนับถือ
ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปโปรดอุรุเวลกัสสปะให้เลื่อมใสก่อน ก็จะทำให้พระพุทธศาสนา สามารถประดิษฐานในเมืองราชคฤห์ได้สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น เพราะเมื่ออุรุเวลกัสสปะให้ความเคารพ เลื่อมใสนับถือพระองค์แล้ว เหล่าศิษยานุศิษย์ของอุรุเวลกัสสปะซึ่งรวมถึงพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นกษัตริย์ แห่งเมืองราชคฤห์ ก็ย่อมที่จะมานับถือพระองค์ตามอุรุเวลกัสสปะอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระพุทธศาสนาสามารถที่จะเผยแผ่ยังเมืองราชคฤห์ได้ และยังทำให้การประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ทำได้ง่ายขึ้นและยังรวดเร็วไปทั่วแผ่นดินได้ง่าย เนื่องจากราชคฤห์เป็นศูนย์กลางการค้าขายและมีผู้คนเข้าออกเมืองมาก ก็ทำให้คนที่เข้ามาเมืองนี้ได้รู้ข่าวการบังเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะพากันไปบอกกล่าวกันต่อ เมื่อผู้ที่ทราบข่าวก็จะมาหาพระพุทธองค์และมาศึกษาพระพุทธศาสนาต่อไป
-------------------------------------------------------------------
10) อาทิตตปริยายสูตร, พระวินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 6 หน้า 105.
11) ปัพพชาสูตรที่ 1, ขุททกนิกาย สุตตนิบาต, มก. เล่ม 47 หน้า 392.
GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต