สรุปสาระสำคัญจากการศึกษาศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันที่ 15 กย. พ.ศ.2558

 

สรุปสาระสำคัญจากการศึกษาศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลังจากที่เราได้ศึกษาเรื่องราวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตามลำดับ ตั้งแต่บทที่ 1 จนถึงบทที่ 7 ซึ่งในบทสรุปนี้จะขอกล่าวถึงเนื้อหาทั้งหมดในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างบทแบบสรุปย่ออีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาโดยภาพรวมทั้งหมดยิ่งขึ้น เริ่มต้นในบทที่ 1 ได้กล่าวถึงโลก อันเป็นที่อยู่อาศัยของเราใน กามภพนี้ ว่าเป็นเสมือนคุกที่คุมขังสรรพสัตว์ให้ได้รับความทุกข์ทรมาน และวนเวียนตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน และโลกนี้ยังไม่เที่ยงแท้ ยังแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามวัฏจักรของไตรลักษณ์ หากมีบุคคลหนึ่งที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ที่จะนำพาตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากคุกไปนี้ไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน บุคคลผู้นี้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์สละชีวิตเป็นเดิมพันสร้างบารมีจนได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงรู้เห็นชีวิตตามความเป็นจริงว่าโลกนี้คือคุก และได้นำความรู้เหล่านั้นมาสั่งสอน สรรพสัตว์ให้ได้รู้และปฏิบัติตามจนสามารถพ้นจากคุกได้

 

ในเมื่อโลกนี้ คือ คุก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นที่ออกจากคุกไปได้และนำความรู้เหล่านั้นไปแนะนำสั่งสอนให้กับชาวโลกได้รู้จักวิธีการออกจากคุกตามพระองค์ไป ดังนั้นเราจึงความ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของบุคคลผู้มีพระคุณสุดประมาณนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ออกจากคุกไปให้ได้ และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติเพื่อให้เราออกคุกนี้ไปให้ได้ โดยในบทที่ 2-7 จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด โดยในบทที่ 2-3 มีเนื้อหา ที่กล่าว ถึงความรู้ พื้นฐานเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์โดยรวม ตั้งแต่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร ความยากในการเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน ประเภทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกี่ประเภท และคุณธรรมต่างๆ ที่จะทำให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีบารมี 10 ทัศ ธรรมสโมธาน พุทธภูมิธรรม เป็นต้น

 

เมื่อศึกษาความรู้พื้นฐานทั่วไปแล้ว จำเป็นจะต้องศึกษาตัวอย่างการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ที่ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์จารึกอยู่ในพระไตรปิฎกที่จะทำให้เรา ได้เห็นภาพการสร้างบารมี และการทำหน้าที่ของพระองค์ที่ทรงอุทิศให้กับโลกโดยมิเห็นแก่ความเหนื่อยยาก เริ่มด้วยบทที่ 4 จะกล่าวถึงอดีตชาติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันตั้งแต่พระชาติแรกที่ตั้งความ ปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนถึงพระชาติสุดท้ายที่เป็นพระเวสสันดรได้บริจาคสุดยอดมหาทาน ก่อนที่จะจุติมาเกิดในปัจจุบัน ส่วนในบท 5-7 เป็นพุทธประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์ปัจจุบัน ซึ่งแบ่งออกเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ปฐมกาล มัชฌิมกาล ปัจฉิมกาล โดยนำเสนอเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ ตั้งแต่พระโพธิสัตว์ เป็นเทพบุตรจุติลงมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสวยสุขในพระราชวัง ได้ออกผนวช ได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เผยแผ่ธรรม จนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน การศึกษาพุทธประวัตินี้ เพื่อให้แบบอย่างในการพฤติปฏิบัติแก่พวกเราทั้งหลาย อีกทั้งจะยังความเลื่อมใสในพุทธจริยาและยังศรัทธาให้เกิดขึ้นในใจของเรา และจะได้ตระหนักถึงพระคุณอันไม่มีประมาณของพระองค์ที่มีต่อสัตว์โลกอีกด้วย

ส่วนในบทสุดท้ายนี้ เป็นเสมือนบทสรุปวิชาศาสตร์แห่งความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้กล่าวถึงการปฏิบัติตามแนวทางแห่งความหลุดพ้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำมาสั่งสอนชาวโลกทั้งหลาย เพื่อให้เราได้มีแนวทางในการนำไปปฏิบัติเพื่อความเป็นพุทธะ หรือเข้าถึงพุทธภายในสืบไป หากประสบผล ในชาตินี้ก็จะได้ชื่อว่า เป็นสาวกพุทธะคือผู้ตรัสรู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

ในบทที่ 8 นี้ หลังจากที่นักศึกษาได้ทำความเข้าใจเรื่องการดำเนินสู่ความเป็นพุทธะตามลำดับแล้ว ตั้งแต่ความหมายของพุทธะ มัชฌิมาปฏิปทาสู่ความเป็นพุทธะ และการปฏิบัติมุ่งสู่ความเป็นพุทธะตามลำดับ โดยสาระสำคัญแล้ว เนื้อหาธรรมะที่นำมาใช้ในการประกอบการอธิบายอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งมีประเด็นที่ชัดเจนในเรื่องของการปฏิบัติสู่ความเป็นพุทธะ เพราะเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นผู้ปฏิบัติตาม จนรู้เห็นตาม เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจความสำคัญของพระสูตรอยู่ที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะให้พระภิกษุเว้นทางสุดโต่ง 2 สาย คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค และทรงแนะนำข้อปฏิบัติอันเป็นกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง มัชฌิมปฏิปทานี้เองที่เป็นเส้นทางเดินสู่ความเป็นพุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้หมดกิเลสแล้วนั่นเอง การดำเนินตามเส้นทางสายกลางนั้น ในทางทฤษฏีให้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 อันประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด หากอธิบายขยายความตามพระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี คำว่า ทางสายกลางหมายถึงการปฏิบัติสมาธิที่ดำเนินจิตไปให้หยุดนิ่งอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ได้นั่นแหละชื่อมัชฌิมาและก็เข้ากลางดวง กลางกายไปตามลำดับ จนสามารถละกิเลสได้ในที่สุด

 

อันที่จริงแล้วเนื้อหาทางด้านปริยัตินั้น ไม่ได้มีการขยายความไว้มากนัก หรือแม้จะมีการขยายความบ้าง แต่ก็ยังไม่ละเอียดชัดเจน แต่นับว่าเป็นความโชคดีของเราที่มีโอกาสได้พบคำสอนของพระมงคลเทพมุนี ผู้ทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการฝึกปฏิบัติสมาธิ จนประสบความสำเร็จ และได้เผยแผ่วิธีการปฏิบัตินั้นกว้างขวางออกไป จนเป็นที่รู้จักของคนในสมัยก่อนกระทั่งถึงปัจจุบัน คำเทศนาของพระมงคลเทพมุนี นอกจะมีพระบาลีอ้างอิงเพื่อยืนยันความถูกต้องตามพระพุทธวจนะแล้ว ยังลงรายละเอียดลึกซึ้งนำไปสู่การปฏิบัติอีกด้วย ดังนั้นพระธรรมเทศนาของพระมงคลเทพมุนีที่นำมาประกอบการอธิบายในเรื่องการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่ความเป็นพุทธะนั้น จึงทำให้เกิดความเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แต่อาจจะเกิดข้อสงสัยในบางประเด็น หรือศัพท์บางคำที่ไม่คุ้นเคย และหากไม่เคยปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมกายมาก่อนก็ย่อมต้องใช้เวลาในการศึกษามากขึ้นอีกนิดจึงจะเข้าใจ หรือทางที่ดีอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือมรดกธรรม หลวงพ่อวัดปากน้ำ (รวมเทศน์ 63 กัณฑ์) ของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อความเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น

 

เมื่อเราได้ศึกษาความรู้วิชาศาสตร์แห่งการป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนกระทั่งจบทุกบทแล้ว ก็หวังว่า นักศึกษาทุกคนคงจะเข้าใจเรื่องการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าใจกระจ่างชัดยิ่งขึ้น แต่ประการสำคัญ คือ เมื่อศึกษาแล้วขอให้นำไปเป็นแนวทางในการฝึกฝนตนเอง ตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหากเกิดกุศลจิตศรัทธา ปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตยิ่งเป็นการดีที่สุด

-------------------------------------------------------------------

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013996934890747 Mins