เทวดาทูลเชิญพระโพธิสัตว์ให้จุติจากภพดุสิต

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2558

 

เทวดาทูลเชิญพระโพธิสัตว์ให้จุติจากภพดุสิต


สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นที่ 4 ในกามวจรภูมิ เทพบุตรผู้เป็นใหญ่มีชื่อเรียกตามสวรรค์ชั้นนี้ว่า สันดุสิตเทวราช เทวดาในชั้นนี้มีอายุขัย 4,000 ปีทิพย์ เมื่อเทียบกับปีมนุษย์เท่ากับ 57 โกฏิ 6 ล้านปี กล่าวกันว่า สวรรค์ชั้นนี้อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของธรรมะ เป็นที่อยู่ของผู้หนักแน่นในการบำเพ็ญสมณธรรม เทพบุตรพระบรมโพธิสัตว์ผู้รอวันลงมาจุติมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป ขณะที่สถิตอยู่ ณ ดุสิตสวรรค์ ได้ทำหน้าที่สอนธรรมแก่เหล่าเทวดาทั้งหลาย

พระเวสสันดรเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระบรมโพธิสัตว์บังเกิดมาสร้างบารมี เมื่อละจากอัตภาพมนุษย์ได้บังเกิดเป็นท้าวสันดุสิต ครองความเป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดุสิต และได้ทำหน้าที่สอนธรรมะเหมือนพระบรมโพธิสัตว์องค์ก่อนๆ พร้อมรอวันที่จะจุติลงมาปฏิสนธิเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในอนาคตเช่นกัน

 

ในคัมภีร์ลลิตวิสตระและปฐมสมโพธิกถา1) กล่าวตรงกันว่า ข่าวเทพบุตรสันดุสิตจะจุตินั้น เทวดาต่างรู้ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 แสนปี สันนิษฐานว่า เป็นช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า ได้มีการป่าวประกาศไปทั่วหมื่นจักรวาล โดยเหล่าพรหมชั้นสุทธาวาส เทวดาในหมื่นจักรวาลฟังการป่าวประกาศนั้นแล้ว ต่างมาประชุมพร้อมกัน เพื่อค้นหาผู้ที่จะจุติยังโลกมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะค้นหานั้นกาลเวลาก็ได้ล่วงมาเนินนาน ได้พบเทพบุตรสันดุสิตเกิดบุพนิมิต อันเป็นสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะจุติ

ครั้นเทพบุตรสันดุสิตเกิดบุพนิมิตแล้ว หมู่เทวดาก็ทราบทันทีว่า เทพบุตรองค์นี้แหละจะจุติมาถือปฏิสนธิเป็นมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นข่าวการจะจุติของเทพบุตรสันดุสิตก็กระจายสะพัดไปยังหมื่นจักรวาล หมู่เทวาดาทั้งหมื่นจักรวาลตั้งแต่มหาพรหมลงมา จนถึงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ต่างมาประชุมพร้อมกัน แล้วไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่ออัญเชิญเทพบุตรสันดุสิตให้จุติลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก เพื่อจะได้บรรลุสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อโปรดสั่งสอนสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก

 

ทรงพิจารณาปัญจมหาวิโลกนะ

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ฟังคำกล่าวอันเชิญแล้ว ยังมิได้รับคำในทันที จะต้องทรงต้องพิจารณา ปัญจมหาวิโลกนะ คือ การตรวจดูอย่างละเอียดในเรื่องสำคัญ 5 ประการ คือ

ตรวจดูกาล โดยตรวจดูอย่างละเอียดว่า ถึงเวลาที่จะจุติเกิดเป็นมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หรือยัง เงื่อนไขสำคัญ คือ อายุของคนในยุคนั้นๆ ถ้าเจริญขึ้นเกินแสนปีไม่ใช่กาลอันสมควร ด้วยเหตุว่า ในกาลที่มนุษย์มีอายุเกินแสนปี ชาติ ชรา มรณะ จักไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่เข้าใจในพระดำรัสนั้น ฉะนั้นการบรรลุมรรคผลก็จะไม่มีเมื่อไม่มีการบรรลุมรรคผล ศาสนาจะไม่ดำรงอยู่ได้ แม้ในกาลที่อายุต่ำกว่าร้อยปี ก็ยังมิใช่กาลอันสมควร เพราะในกาลนั้น สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาแน่น โอวาทที่จะทรงสั่งสอนแก่สัตว์ผู้มีกิเลสหนาก็จักไม่เป็นผล เหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำ จึงเป็นกาลที่ไม่สมควร ในกาลแห่งอายุตั้งแต่แสนปีลงมา และตั้งแต่ร้อยปีขึ้นไป ชื่อว่าเป็นกาลอันสมควร ก็ในกาลนั้นเป็นเวลาร้อยปี พระบรมโพธิสัตว์จึงทรงเห็นว่าเป็นกาลที่ควรบังเกิด

 

ตรวจดูทวีป ในบรรดาทวีปทั้ง 4 คือ อุตตรกุรุทวีป อปรโคยานทวีป ปุพพวิเทหทวีป และชมพูทวีป ทรงเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่เกิดในทวีปทั้ง 3 แต่เกิดในชมพูทวีปเท่านั้น เพราะชาวชมพูทวีปมีคุณสมบัติพร้อมที่จะรองรับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธได้ และพระชนก พระชนนีนี้ก็เกิดในชมพูทวีป จึงทรงพิจารณาว่า จักเกิดในชมพูทวีป

ตรวจดูประเทศ ตรวจดูประเทศหรือดินแดนส่วนใดในชมพูทวีปสมควรจะเป็นถิ่นกำเนิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็พบว่าดินแดนชมพูทวีป แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปัจจันตประเทศ ได้แก่ดินแดนรอบนอกหรือชายแดน และมัชฌิมประเทศ ได้แก่ดินแดนส่วนกลางที่ประกอบด้วยรัฐใหญ่ 16 รัฐ มีความเจริญทางด้าน การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม จึงเลือกมัชฌิมประเทศ ณ กรุงกบิลพัสดุ์

 

ตรวจดูตระกูล ในชมพูทวีปมีกลุ่มคนต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร วรรณะกษัตริย์และวรรณะพราหมณ์เป็นกลุ่มคนชั้นสูง ธรรมดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่บังเกิดในตระกูลต่ำ อย่างตระกูลแพศย์หรือตระกูลศูทร แต่จะบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ และตระกูลพราหมณ์ สองตระกูลนี้เท่านั้น สุดแต่ว่าในกาลนั้นโลกสมมติว่าตระกูลใดประเสริฐ ก็จะบังเกิดในตระกูลนั้น ก็ในกาลนั้น ตระกูลกษัตริย์ประเสริฐจึงทรงพิจารณาว่า เราจักบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ พระเจ้าสุทโทธนมหาราชจักทรงเป็นพระราชบิดา

ตรวจดูพระชนนี ธรรมดาพระพุทธมารดา ย่อมเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัป ได้ทรงเห็นว่าพระเทวี ทรงพระนามว่า พระนางมหามายา จำเดิมแต่เกิด จะมีศีล 5 ไม่ขาดเลย ทรงพิจารณาว่า พระนางมหามายาจักเป็นพระราชมารดา เมื่อตรงตรวจพระชนมายุของพระราชมารดาทราบว่า 10 เดือนไปแล้ว หลังจากมีประสูติกาล จะมีพระชนมายุได้อีก 7 วัน จึงเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะจุติ

 

พระโพธิสัตว์ทรงรับคำเชิญของเทวดา

พระโพธิสัตว์ เมื่อได้พิจารณามหาวิโลกนะ 5 อย่างนี้แล้ว จึงทรงรับปฏิญญาของเทวดาทั้งหลาย ว่าเป็นกาลอันสมควร ที่จักเป็นพระพุทธเจ้าของเราแล้ว ส่งเทวดาเหล่านั้นกลับไปแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังสวนนันทวัน อันเทวดาชั้นดุสิตห้อมล้อม คอยเตือนพระโพธิสัตว์ให้รำลึกถึงกุศลกรรม ที่ได้กระทำไว้ในกาลก่อน เที่ยวไปอยู่ในสวนนันทวันนั้นนั่นแล ได้จุติแล้วถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมหามายาเทวี

เพื่อที่จะให้เรื่องการถือปฏิสนธินั้นชัดแจ้ง ในวิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกายอปทาน กล่าวว่า ในกาลนั้นนครกบิลพัสดุ์ได้มีงานนักขัตฤกษ์ เดือน 8 อย่างเอิกเกริก มหาชนต่างพากันเล่นงานนักขัตฤกษ์นั้น ฝ่ายพระนางมหามายาเทวี ตั้งแต่วันที่ 7 ก่อนจะถึงวันบุรณมี ได้ทรงร่วมเล่นงานนักขัตฤกษ์ที่เพียบพร้อมด้วยดอกไม้และของหอม ครั้นในวันที่ 7 ทรงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทรงสละพระราชทรัพย์สี่แสนถวายมหาทาน ทรงประดับด้วยเครื่องราชอลังการทั้งปวง ทรงอธิษฐานองค์อุโบสถ

 

ในราตรีนั้น ได้ทรงพระสุบินว่า ท้าวมหาราชทั้งสี่ได้ยกพระนางขึ้นพร้อมกับพระที่ไสยาสน์ นำไปยังป่าหิมพานต์ วางพระนางลงบนพื้นมโนศิลามีประมาณ 60 โยชน์ ภายใต้ต้นสาละใหญ่มีขนาด 7 โยชน์ แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนสุดข้างหนึ่ง ลำดับนั้น เหล่าพระเทวีของท้าวมหาราชทั้งสี่ ต่างพากันมานำพระเทวีไปยังสระอโนดาต ให้สรงสนานเพื่อที่จะชำระล้างมลทินของมนุษย์ออก แล้วให้ทรงนุ่งห่มผ้าทิพย์ ทรงลูบไล้ด้วยของหอม ให้ทรงประดับด้วยดอกไม้ทิพย์

ในที่ไม่ไกลจากที่นั้น มีภูเขาเงินอยู่ลูกหนึ่ง ภายในภูเขานั้นมีวิมานทอง พวกเขาให้ตั้งพระที่ไสยาสน์อันเป็นทิพย์ มีเบื้องเศียรอยู่ทางทิศตะวันออก ทูลให้พระนางบรรทมในวิมานทองนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพญาช้างตัวประเสริฐสีขาวผ่อง ท่องเที่ยวไปในภูเขาทองลูกหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในที่ไม่ไกลจากที่นั้น ได้ลงจากภูเขาทองนั้นแล้ว ขึ้นไปยังภูเขาเงิน เดินมาทางทิศเหนือได้เอางวงอันมีสีราวกะว่าพวงเงินจับดอกปทุมสีขาว เปล่งโกญจนาท (บันลือเสียงกึกก้อง) เข้าไปยังวิมานทองนั้น พญาช้างได้กระทำประทักษิณพระที่ไสยาสน์ของพระมารดา 3 รอบแล้ว ได้เป็นเสมือนกับผ่าพระปรัศว์เบื้องขวาเข้าสู่พระครรภ์ของพระนาง

-------------------------------------------------------------------

1) ลลิต. หน้า 20, ปฐมสมโพธิ. หน้า 37.

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.041209801038106 Mins