ปฐมเทศนา
ครั้นเมื่อผ่านไป 7 วัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จจากควงไม้ราชายตนะเข้าไปยังต้นอชปาลนิโครธนั้นอีก ทรงปริวิตกว่า
“ ธรรมที่พระองค์บรรลุนั้นสุขุมลุ่มลึกเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เพราะเป็นธรรมที่สงบ ประณีต ละเอียด เป็นวิสัยของบัณฑิตเท่านั้นที่จะพึงรู้แจ้ง ก็ถ้าเราจะแสดงธรรม สัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา”
พระองค์จึงทรงมีพระทัยน้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรม5) ได้แสดงประเด็นนี้ไว้ว่า
“ ความจริงแล้วความท้อพระทัยไม่มีในพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์มีกำลังใจเต็มเปี่ยมในการโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพียงแต่เวลานั้นพระองค์กำลังอยู่ในดำริ เมื่อตรวจตราดูธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ก็พบว่าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ยากที่สอนใครให้เข้าใจได้ เพราะสัตวโลกมีความอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น คุ้นกับความอยาก ไม่มีการหยุด พูดเรื่องการหยุดให้กับคนที่มีความอยาก จึงยากที่จะเข้าใจได้ ซึ่งทั้งหมดนี้พระองค์กำลังอยู่ในชั้นรำพึงเท่านั้น ไม่ได้ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมจนพรหมต้องมากราบอาราธนา แต่ที่พรหมลงมาอาราธนานั้น เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พรหมจะต้องมาอาราธนา พรหมก็ปฏิบัติตามธรรมเนียม และไม่ว่าพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ลงมาตรัสรู้ก็ตาม พระองค์ก็จะดำริอย่างนี้ แล้วพรหมก็มาตามธรรมเนียมอย่างนี้ อุปมาเหมือนกับพิธีถวายสังฆทาน ที่ต้องมีพิธีกรมาทำหน้าที่ดำเนินพิธีกรรม แล้วเจ้าภาพจึงค่อยกล่าวคำถวายสังฆทานแด่คณะสงฆ์ หากไม่มีพิธีกรก็คงถวายสังฆทานได้ แต่นี้เป็นธรรมเนียมที่พิธีกรจะต้องมาทำหน้าที่ พรหมก็เปรียบเหมือนพิธีกรนั้นเอง”
ทำให้ท้าวสหัมบดีพรหมซึ่งความปริวิตกนี้ จึงต้องลงมาทูลอาราธนาให้พระองค์แสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์ พระองค์จึงรับอาราธนาและอาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ จึงตรวจดูสัตวโลกด้วยพระญาณของพระองค์แล้ว ทรงพบว่าเหล่ามนุษย์ทั้งหลายย่อมมีอุปนิสัยต่างๆ กัน เป็น 4 ประเภท ซึ่งเปรียบเหมือนดอกบัว 4 เหล่า คือ
1. อุคฆฏิตัญญู ได้แก่ ผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลม เพียงแค่ยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง ก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในทันที เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่เหนือน้ำรอคอยแสงอาทิตย์ พอพระอาทิตย์ฉายแสง ก็เบ่งบานได้ทันที
2. วิปจิตัญญู ได้แก่ ผู้ที่มีปัญญาอยู่ในระดับปานกลาง ต่อเมื่อท่านอธิบายขยายความหัวข้อธรรมนั้นแล้ว จึงจะสามารถรู้และเข้าใจได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่เสมอผิวน้ำจะบานในวันพรุ่งนี้
3. เนยยะ ได้แก่ ผู้ที่พอจะแนะนำได้ คือ พอจะฝึกสอนอบรมให้รู้และเข้าใจได้อยู่ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังโผล่ไม่พ้นน้ำ ซึ่งจักบานในวันต่อๆ ไป
4. ปทปรมะ ได้แก่ ผู้ด้อยปัญญา สอนให้รู้ได้แต่เพียงบทคือพยัญชนะหรือถ้อยคำ แต่ไม่อาจเข้าใจอรรถคือความหมายได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำโคลมตม ซึ่งย่อมเป็นอาหารของปลาและเต่า
ครั้นเมื่อพระองค์ทรงอธิษฐานจิต เพื่อที่จะแสดงพระธรรมเทศนาเช่นนั้นแล้ว จึงทรงดำริหาผู้ที่สมควรจะได้รับพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระองค์ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร ผู้เป็นบัณฑิตที่จะรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็วพลัน เมื่อตรวจดูอีก ทรงทราบว่าอาฬารดาบสนั้นได้เสียชีวิตได้ 7 วันแล้ว จึงทรงระลึก (รูปภาพ)ถึงอุททกดาบสรามบุตร ก็ทรงทราบว่า แม้อุททกดาบสก็ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อพลบค่ำเย็นวานนี้ จึงทรงระลึกถึงพวกปัญจวัคคีย์และได้ตกลงพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภที่จะแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ในรุ่งเช้า พระองค์ก็ทรงเสด็จดำเนินไปยังป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นสถานที่อาศัยอยู่ของพวกปัญจวัคคีย์ โดยในระหว่างทางพระองค์ก็ได้พบอุปกาชีวก ผู้ไม่เชื่อความที่พระองค์ตรัสรู้เอง และหลังจากนั้นพระองค์ก็เดินทางมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์แล้ว ไม่ได้ให้การต้อนรับ เนื่องจากยังผิดหวังกับพระองค์ที่เลิกการทำทุกกรกิริยา แต่ด้วยบุญบารมีที่เคยสร้างด้วยกันมากับพระพุทธเจ้า ประกอบกับบุญที่ตนได้ทำเอาไว้ในกาลก่อน จึงทำให้ปัญจวัคคีย์ทำการดูแลต้อนรับอย่างดี ยอมเชื่อฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกอย่าง
จากนั้นพระองค์จึงได้แสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ มีชื่อว่า “ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”6) ซึ่งตรงกับ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ(เดือนอาสาฬหะ) ซึ่งมีเนื้อความที่แสดงถึงทางสุดโต่ง 2 สายที่บุคคลไม่ควรเสพ แต่ให้ปฏิบัติตามทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ 8 ก็จะเห็นถึงความจริงของชีวิตทั้งหมดที่เรียกว่า อริยสัจ 4 ซึ่งการแสดงพระธรรมเทศนาในครั้งนี้ ทำให้โกณฑัญญะพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นโสดาปัตติมรรค เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า “ อญญาสิ วต โภ โกณฺฑญโญ” และประทานการบวช แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ด้วยการเปล่งพระวาจาว่า “ เธอจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติ พรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ต่อมาปัญจวัคคีย์ 4 คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน พระพุทธองค์ทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา เช่นกัน จากนั้นทรงแสดง “ อนัตตลักขณสูตร”7) ซึ่งมีเนื้อความที่แสดงถึงว่า ขันธ์ 5 เป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น ก็จะทำให้ใจพ้นจากอาสวะได้ ซึ่งการแสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องนี้ ทำให้ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเวลานั้นเอง
-------------------------------------------------------------------
5) ในประเด็นเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงท้อพระทัย มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรมนั้น ในหนังสือคุณานันทเถระ((มูลนิธิธรรมกาย. คุณนันทเถระ ผู้กอบกู้พระพุทธศาสนาในศรีลังกา. กรุงเทพฯ : หจก. เอส.พี.เค. เปเปอร์ แอนด์ ฟอร์ม, 2548. หน้า 114.
6) ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร, พระวินัยปิฎก มหาวรรค, มก.เล่ม 6 หน้า 44.
7) อนันตลักขณสูตร, พระวินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 6 หน้า 52.
GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต